ฟังชัดๆ จากปากคำของทูตจีน ว่าด้วยจุดยืนปักกิ่งประเด็นไต้หวัน

จุดยืนของจีนเรื่อง “ไต้หวัน” และท่าทีต่อสหรัฐฯ ในประเด็นเรื่อง “จีนเดียว” เป็นอย่างไรคือหัวข้อที่ผมนั่งลงซักถามเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย “หาน จื้อเฉียง” เมื่อสัปดาห์ก่อน

ผมเคยสัมภาษณ์ท่านทูตผ่านออนไลน์เมื่อตอนที่มารับตำแหน่งใหม่ๆ

ครั้งนี้มีโอกาสนั่งซักถามกันต่อหน้า จึงได้คำตอบที่ชัดเจนเต็มๆ

ในเพจของสถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้บันทึกบทสนทนาวันนั้นอย่างนี้

ขอนำมาถ่ายทอดต่อแบบคำต่อคำเพื่อความกระจ่างชัดครับ

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม เอกอัครราชทูตหาน จื้อเฉียง ได้เข้าร่วมรายการ "กาแฟดำ" ของสถานีโทรทัศน์ PPTV และให้สัมภาษณ์พิเศษกับคุณสุทธิชัย หยุ่น ดังต่อไปนี้

คุณสุทธิชัย : กรณีไต้หวันที่ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรแนนซี เพโลซี มาเยือนไต้หวันจนกระทั่งมีความตึงเครียดมากขึ้น ทางจีนก็มีการซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน และก็บอกว่าถ้าหากต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน ก็อาจจะต้องเจอกับการต่อต้านจากฝ่ายจีน ท่านทูตมองสถานการณ์จากไต้หวันจากนี้ไปจะคลี่คลายยังไง

 เอกอัครราชทูตหาน : ไต้หวันเป็นดินแดนของจีนแต่โบราณ และเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อนชาวไทยหลายคนอาจไม่เข้าใจในรายละเอียด ตามประวัติศาสตร์แล้วจีนได้ใช้อำนาจเหนือไต้หวันและตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นเมื่อกว่า 1,000 ปีที่แล้ว แม้ชาวดัตช์ได้ยึดครองส่วนหนึ่งของไต้หวันมานานกว่า 30 ปี และญี่ปุ่นได้ครอบครองไต้หวันมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษ แต่ความจริงที่ว่าไต้หวันเป็นดินแดนของจีนไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

 ในมิติกฎหมาย มติของสหประชาชาติกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงผู้เดียวที่เป็นตัวแทนของประเทศจีน และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ชื่อเรียกมาตรฐานที่สหประชาชาติใช้กับไต้หวันคือ ไต้หวัน มณฑลของจีน 

จากมุมมองเชิงปฏิบัติ 181 ประเทศทั่วโลกยอมรับและยึดมั่นในหลักการจีนเดียว ปัญหาของไต้หวันเกิดขึ้นจากสงครามกลางเมืองจีน เมื่อก๊กมินตั๋งซึ่งปกครองแผ่นดินใหญ่ในสมัยนั้นถูกโค่นล้มและหนีไปและเข้าควบคุมไต้หวัน 

                    เนื่องจากสถานการณ์พิเศษนี้และการแทรกแซงของกองกำลังต่างชาติ ทำให้มีการเผชิญหน้าทางการเมืองระยะยาวในช่องแคบไต้หวัน แต่สิ่งนี้ไม่ได้ลบความจริงที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน 

แถลงการณ์การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่ลงนามโดยจีนและสหรัฐฯ ในปี 1978 ระบุอย่างเจาะจงว่า สหรัฐฯ ยอมรับรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลตามกฎหมายของจีนเพียงผู้เดียว สหรัฐฯ ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจและวัฒนธรรมที่ไม่เป็นทางการกับไต้หวัน และสหรัฐฯ ยอมรับว่ามีจีนเดียวเท่านั้น ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

                    คุณสุทธิชัย : แนนซี เพโลซี อ้างว่าที่ไปนี้ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนสถานะปัจจุบัน เพียงแต่ไปแสดงความเป็นมิตรกับไต้หวันเท่านั้น ทางจีนทำไมถึงต่อต้านรุนแรง

เอกอัครราชทูตหาน : เราคิดว่าขณะนี้สหรัฐฯ ได้ทรยศต่อหลักการจีนเดียวที่ยืนยันมาตลอด และละทิ้งคำมั่นสัญญาต่อจีน สหรัฐฯ สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน แม้ว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับด้วยวาจา 

แต่ในทางปฏิบัติแสดงให้เห็นเป็นเช่นนี้ แนนซี เพโลซี ในฐานะบุคคลเบอร์ 3 ของรัฐบาลสหรัฐฯ นำคณะผู้แทนรัฐสภาและนั่งเครื่องบินพิเศษของกองทัพสหรัฐฯ ไปเยือนไต้หวัน นี่ถือเป็นการเพิ่มระดับของการไปมาหาสู่อย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวัน และถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน 

สหรัฐฯ ระบุว่าความมั่นคงของไต้หวันจะปกป้องโดยสหรัฐฯ และเพโลซีก็กล่าวเช่นนี้ในไต้หวัน ทั้งที่รู้ว่าไต้หวันเป็นดินแดนของจีน แต่กลับบอกว่าตนจะเป็นผู้ปกป้องความมั่นคงของไต้หวัน โลกนี้จะมีเรื่องไร้สาระแบบนี้ได้อย่างไร?! 

สหรัฐอเมริกาดำเนินการไปมาหาสู่อย่างเป็นทางการกับไต้หวันในรูปแบบต่างๆ จัดหาอาวุธให้กับไต้หวัน และสนับสนุนไต้หวันสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอื่นๆ ในโลก         การกระทำทั้งหมดนี้เป็นการยุยง "เอกราชของไต้หวัน" และทำลายอธิปไตยของดินแดนของจีน ดังนั้นจีนจึงต้องคัดค้านและตอบโต้อย่างเด็ดขาด

คุณสุทธิชัย : จีนจะทำยังไงต่อไป ถ้าหากยังมีการมาเยือนไต้หวันโดยระดับผู้นำทางด้านรัฐสภา นักการเมือง หรือแม้กระทั่งล่าสุดก็จะมีผู้ว่าราชการของรัฐอินเดียนาที่มาเยือน จีนจะทำอย่างไรต่อไปถ้ายังมีการมาเยือนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

เอกอัครราชทูตหาน : เราจะตอบโต้อย่างแข็งขันตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เราต้องให้พวกเขารู้ว่าคนจีนมีความตั้งใจในการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตนอย่างแข็งแกร่ง และมีความสามารถที่ยิ่งใหญ่

คุณสุทธิชัย : จะรวมชาติ มีคำว่ารวมชาติใช่ไหมครับ ซึ่งทางการจีนก็พูดว่าการรวมชาติจะต้องเกิดขึ้นแน่ จะเกิดขึ้นอย่างสันติ แต่ถ้าจำเป็นก็อาจจะต้องใช้กำลังก็จะทำ ยังเป็นอย่างนั้นใช่ไหมครับนโยบาย

เอกอัครราชทูตหาน : จีนพยายามที่จะรวมชาติอย่างสันติมาโดยตลอด ประชาชน 23 ล้านคนในไต้หวันเป็นพี่น้องของเรา และเรามีความสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายของการรวมชาติอย่างสันติผ่านการพัฒนาอย่างสันติและการพัฒนาความสัมพันธ์แบบบูรณาการ ตราบใดที่ยังมีความหวัง เราจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการรวมชาติอย่างสันติ

คุณสุทธิชัย : นโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ยังจะใช้กับไต้หวันต่อไปไหม

เอกอัครราชทูตหาน : ไม่มีปัญหา เรายังคงยึดมั่นในนโยบายพื้นฐานการรวมชาติอย่างสันติ กับหนึ่งประเทศสองระบบ 

การรวมชาติด้วยวิธีการที่ไม่สงบสุขเป็นทางเลือกสุดท้าย 

เราขอสงวนทางเลือกตัวนี้ไว้ไม่ใช่สำหรับชาวไต้หวัน 

แต่สำหรับกลุ่มอิทธิพล "เอกราชของไต้หวัน" และกลุ่มต่างประเทศที่สนับสนุน "เอกราชของไต้หวัน" แท้จริงแล้ว ขอเพียงแต่กลุ่มอิทธิพลภายนอกไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ยุยง หรือสนับสนุน "เอกราชของไต้หวัน" 

ประชาชนทั้งสองฟากฝั่งของช่องแคบก็มีความสามารถและภูมิปัญญาที่จะรวมชาติโดยสันติวิธี และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อความผาสุกของประชาชนทั้งสองฝั่งช่องแคบ 

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การขจัดการแทรกแซงและบ่อนทำลายจากอิทธิพลภายนอก

คุณสุทธิชัย : ท่านทูตพอใจไหมครับ กับคำตอบหรือนโยบายของรัฐบาลไทยต่อกรณีไต้หวัน

เอกอัครราชทูตหาน : รัฐบาลไทยยึดมั่นในหลักการจีนเดียวอย่างชัดเจนมาตลอด 

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทยได้แถลงชัดเจนว่ารัฐบาลไทยจะยึดมั่นในหลักการจีนเดียว 

ในขณะเดียวกัน ตอบรับว่าจะต้องเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่นๆ 

เราชื่นชมจุดยืนของรัฐบาลไทย และหวังว่ามิตรประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยควรระมัดระวังการกระทำของสหรัฐฯ นโยบายของสหรัฐฯ ในการยุยงเอกราชของไต้หวัน และการใช้ไต้หวันเป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นจีน ไม่เพียงแต่จะทำลายอธิปไตยแห่งดินแดนของจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด