สัญญาณเตือนจากบันทึก ภายในของเบอร์หนึ่ง ‘หัวเว่ย’

เสียงเตือนเกี่ยวกับ “ภัยเศรษฐกิจที่ถูกปัดเข้าใต้พรม” ของจีนนั้นมีมาเป็นระยะๆ

แต่ก็มักจะได้รับการปฏิเสธจากทางการจีนที่ยืนยันว่า “ทุกอย่างยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล” ของทางการจีน

คำว่า “ฟองสบู่อสังหาฯ” ของจีนยังปรากฏให้เห็นแนวทางวิเคราะห์ของบางสำนักในซีกตะวันตก

คนที่ติดตามเรื่องราวของชาวบ้านคนจีนบางมณฑลที่ออกมาประท้วง เพราะโครงการอสังหาฯ บางแห่งเกิดเจ๊งต่อหน้าต่อตา แต่ไม่ยอมคืนเงินที่ลูกค้าผ่อนส่งไปแล้ว

ทำให้ทางการจีนต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยและเยียวยาเพื่อไม่ให้ความตระหนกของประชาชนคนจีนแพร่กระจายไป

ในภาวะที่รัฐบาลจีนก็ยังกังวลถึงอัตราโตทางเศรษฐกิจปีนี้ที่ถูกกระทบโดยการล็อกดาวน์เพราะโควิดในหลายช่วงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

มาถึงจุดที่ทางการจีนบอกว่าจะไม่ประกาศ “เป้า” ของอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปีนี้

ความหมายคือได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น เพื่อไม่ให้มีการวิพากษ์ว่าอัตราโตของจีน “ต่ำกว่าเป้า”

เมื่อไม่มี “เป้าหมายทางการ” ก็ไม่มีคำว่า “ต่ำกว่า” หรือ “สูงกว่า” เป้า

เป็นวิธี “บริหารความคาดหวัง” ทั้งของคนจีนเองและของประชาคมโลกที่จับตาความเคลื่อนไหวของจีนทุกฝีก้าวอย่างใกล้ชิด

แต่จะว่าไปแล้วแม้ว่าอัตราโตของจีดีพีของจีนปีนี้จะหดตัวลงบ้างก็ยังสูงกว่าประเทศยักษ์ๆ อื่นๆ อีกหลายภูมิภาคอยู่ดี

ที่ผู้คนสนใจอีกด้านหนึ่งคือ คำเตือนจากผู้บริหารสูงสุดหรือ “ซีอีโอ” ของบริษัทยักษ์อย่าง Huawei ที่เพิ่งส่งสัญญาณน่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจจีน

จดหมายเวียนภายในบริษัทที่เขียนโดย “เหริน เจิ้งเฟย” ซีอีโอของหัวเว่ยนั้นหลุดออกมาจนกลายเป็นเรื่องฮือฮา

 “บันทึกภายใน” ฉบับนั้นสะท้อนถึงการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนและของโลกที่ทำให้หัวเว่ยต้องมีการปรับตัวอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

ประโยคที่ทำให้พนักงานทุกคนที่ได้อ่านแล้วคงหนาวคือ ตรงที่บอกว่า

 “ความหนาวเย็นจะกระจายมากระทบทุกคน...”

ใครได้อ่านบันทึกนี้แล้วก็พอจะเข้าใจได้ว่าในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กร เหริน เจิ้งเฟย ต้องสื่อสารกับทีมงานอย่างตรงไปตรงมา

เพราะหากไม่วิเคราะห์สถานการณ์ด้วยฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดแล้วก็จะไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวและลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินไป

ตอนหนึ่งของเอกสารที่ฝรั่งมักจะเรียกว่า Internal Memo นั้นบอกว่า ถ้าจะให้หัวเว่ยยังอยู่รอดปลอดภัยไปอีก 3 ปีข้างหน้า ทุกคนต้องเข้าใจว่าจะต้องเน้นไปที่เรื่อง “กำไร” และ “กระแสเงินสด”

ไม่ใช่มุ่งในการขยายกิจการหรือการเติบโต

เพราะภายใต้สถานการณ์ที่เห็นๆ อยู่นั้น การขยายธุรกิจมิได้เป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของบริษัทอีกต่อไป

หนีไม่พ้นว่าเขากำลังส่งสัญญาณว่าการลดพนักงานและรัดเข็มขัดในทุกๆ ด้านกำลังจะกลายเป็นนโยบายหลักเพื่อความอยู่รอด

ความจริงเสียงเตือนของเหริน เจิ้งเฟย มีความละม้ายกับนักบริหารทางตะวันตกที่ต้อง “เอาความจริงมาพูดกัน” ก่อนที่จะสายเกินไป

อีกตอนหนึ่งของบันทึกนั้นบอกว่า

“ทศวรรษต่อไปนี้จะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เพราะเศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง”

ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตเช่นว่านี้ก็หนีไม่พ้นโควิด, สงครามยูเครน และนโยบายของอเมริกาที่ยังขัดขวางและปิดล้อมธุรกิจบางอย่างของจีนอยู่อย่างต่อเนื่อง

สะท้อนว่าบริษัทยักษ์อย่างหัวเว่ยกลายเป็นเหยื่อของการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทั้งที่ผ่านมาและต่อไปในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากย่อความเป็นประโยคเดียว สาระสำคัญของเขาสำหรับพนักงานทั้งหมดคือ

 “เอาตัวให้รอด”

อย่ามองโลกสวยเพียงเพราะแนวโน้มธุรกิจบริษัทยังดูดีอยู่วันนี้

เพราะพายุร้ายแห่งเศรษฐกิจโลกกำลังถาโถมมาจากทุกทิศทุกทางอย่างแน่นอน

และต้องมองไปปีหน้าคือ 2023 และต่อไปอีก 3 ปีเป็นอย่างน้อย

เพราะวิกฤตโลกจะไม่หายไปง่ายๆ ในเมื่อปัจจัยทางลบมีอยู่กลาดเกลื่อนไปทั่ว

อีกประเด็นหนึ่งในคำเตือนของเขาคือ ปรับตัวให้เข้ากับอนาคต       

ทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทำได้และอะไรที่ควรจะยอมทำใจตัดทิ้งไป

ไม่ต่างอะไรกับที่นักบริหารที่เคยเผชิญวิกฤตแล้วต้องตัดแขนตัดขาเพื่อรักษาอวัยวะที่สำคัญไว้

อะไรที่ทำอยู่เพียงเพราะมัน “เท่” ต้องทบทวนใหม่หมด

แน่นอนว่าน้ำเสียงที่ขึงขังของซีอีโอหัวเว่ยนั้นมาจากตัวเลขรายได้และกำไรที่หดหาย

รายได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงถึง 14%

ขณะที่กำไรสุทธิลดลงเหลือเพียง 4.3%

ทั้งๆ ที่เคยทำได้ 11.1% เมื่อปีก่อนหน้านั้น

เศรษฐกิจจีนในภาพรวมก็มีตัวเลขที่น่ากังวลในหลายด้าน

เช่น อัตราว่างงานในกลุ่มเยาวชนจีนในเดือนกรกฎาคมกระโดดไปที่ 19.9% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์

อัตราว่างงานทั่วไปในเขตเมืองก็ยังสูงกว่าระดับที่น่าพอใจของทางการ เพราะอยู่ที่ 5.4% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับรัฐบาลจีนแล้วเสถียรภาพทางการเมืองจะรักษาไว้ได้ต้องมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นหลัก

จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจของรัฐบาลจีนที่เพิ่งประกาศอัดฉีดเงินอีก 146,000 ล้านดอลลาร์ (5.2 ล้านล้านบาท) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการ 19 ด้านอย่างคึกคัก

ยิ่งปีนี้เป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะประชุม (กำหนดเริ่ม 16 ตุลาคมนี้) เพื่อมีมติต่ออายุการเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศของสี จิ้นผิง ไปอีก 5 ปี ก็ยิ่งเห็นความสำคัญที่ให้ความมั่นใจกับประชาชนคนจีนทั้ง 1.4 พันล้านคน ว่า

ท่ามกลางความท้าทายรอบด้านที่กระทบจีนนั้น ท่านผู้นำต้อง “เอาอยู่” ให้ได้ ไม่ว่าต้องเผชิญกับอุปสรรคใดๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศก็ตาม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน