ว่าด้วยการขยายตัวของกองเรืออินเดีย กับยุทธศาสตร์ ‘สร้อยไข่มุก’ ของจีน

แนวทางการเมือง, ความมั่นคงและการทูตของอินเดียมีความละเมียดละไมและคล่องแคล่วอย่างน่าสนใจยิ่ง

ขณะที่เป็นสมาชิกของ Quad (จตุภาคี) ร่วมกับสหรัฐฯ, ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย อินเดีย ก็ไปร่วมซ้อมรบกับรัสเซียและจีนในภาวะที่สงครามยูเครนยังคุกรุ่น

ขณะที่ร่วมซ้อมรบกับจีน แต่ก็เปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง (ลำแรกที่สร้างเอง) ซึ่งส่งสัญญาณว่าอินเดียก็ยังมองจีนเป็นคู่แข่งที่สำคัญในน่านน้ำแถบนี้

นายกฯ นเรนทรา โมดี ไปเป็นประธานในการเปิดตัว INS Vikrant เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ของอินเดียเอง และตอกย้ำว่า

 “INS Vikrant มิใช่เป็นเพียงเรือรบเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสะท้อนถึงความมุ่งมั่น, ความชาญฉลาด, อิทธิพลและข้อผูกมัดของอินเดียในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย”

แม้ทางการอินเดียจะไม่พูดถึงจีนอย่างเปิดเผยในฐานะเป็นคู่แข่งในย่านนี้ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องต้องกันว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทะเลเพื่อคานอิทธิพลของจีนอย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะ INS Vikrant ถือว่าเป็นเรือรบลำใหญ่ที่สุดที่อินเดียเคยสร้าง

เสริมส่งความภาคภูมิใจว่าทุกส่วนของเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้เป็นฝีมือของกว่าร้อยบริษัทในอุตสาหกรรมทางทหารของอินเดียเองทั้งสิ้น

ก่อนหน้านี้ อินเดียมีเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก INS Vikromdit ซึ่งซื้อมาจากรัสเซียในปี 2004 และนำมาปรับปรุงเสริมแต่งให้เหมาะกับยุทธศาสตร์ทางทะเลของอินเดีย

ที่ต้องดูแลผลประโยชน์ของตนในมหาสมุทรอินเดียและอ่าวเบงกอล

เมื่อเร็วๆ นี้จีนเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สามชื่อ Fujian และกำลังเร่งสร้างอีก 2 ลำเพื่อสร้างแสนยานุภาพทางทะเลอย่างคึกคักในภาวะที่มีความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในย่านนี้

จีนกับอินเดียมีเรื่องบาดหมางกันเมื่อไม่นานมานี้ว่า การที่มีเรือของจีนมาปักหลักที่ท่าเรือ Hambantota ของศรีลังกาใกล้อินเดีย

อินเดียอ้างว่าเรือจีนลำนี้มีภารกิจ “จารกรรม”

ปักกิ่งแจ้งว่าเป็นเพียงการมาพักชั่วคราวเพียง 7 วัน

เมื่ออินเดียส่งเสียงประท้วง ศรีลังกาก็ทำท่าว่าจะขอให้จีนชะลอการมาเทียบท่าของเรือจีนลำนี้

แต่จีนก็ยืนยันกับศรีลังกาว่าไม่ควรจะฟังเสียงคัดค้านของอินเดีย เพราะปักกิ่งบอกว่าฟังไม่ขึ้น

ท้ายที่สุดศรีลังกาก็ยอมตามจีน

ทำให้อินเดียยิ่งมีความกังวลเรื่องความมั่นคงของตนที่มีเรือรบจีนแวะเวียนมาใกล้ๆ บ้านเป็นประจำเช่นนี้

จีนอ้างว่าที่จำเป็นต้องมีกองเรือที่ขยายบทบาทขึ้น ก็เพราะต้องการปกป้องเส้นทางขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาไปถึงช่องแคบฮอร์มุซในตะวันออกกลาง

ช่องแคบฮอร์มุซเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันของจีนถึง 40% และช่องแคบมะละกาเป็นทางผ่านของน้ำมันนำเข้าของจีนถึง 82%

นักยุทธศาสตร์บางสำนักเรียกเส้นทางนี้ว่า Hormuz-Malacca Dilemma เพราะเป็นจุดอ่อนไหวสำหรับจีน

นั่นคือเหตุผลที่จีนได้สร้างฐานทัพหลายๆ แห่งรอบๆ เพื่อนบ้านของอินเดียและหมู่เกาะต่างๆ ในน่านน้ำบริเวณนั้นเพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือของตน

เรียกจุดเชื่อมต่อทางด้านความมั่นคงนี้ว่าเป็น String of Pearls หรือ “สร้อยไข่มุก”

อันหมายถึงเครือข่ายของสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหารและการค้าของจีน ตลอดจนความสัมพันธ์ตลอดแนวการสื่อสารทางทะเล ซึ่งขยายจากแผ่นดินใหญ่ของจีนไปยังพอร์ตซูดานใน Horn of Africa

เป็นยุทธศาสตร์จีนล้อมอินเดียผ่านน่านน้ำตั้งแต่ช่องแคบมะละกา, ช่องแคบฮอร์มุซ, ช่องแคบ Mandeb ผ่านท่าเรือ Gwadar Port ในปากีสถานและท่าเรือ Hambantota ของศรีลังกา

จีนถือว่าการสร้างกองเรือใหญ่ขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปกป้องผลประโยชน์ทางความมั่นคงและการพาณิชย์ของตน

แต่เมื่ออินเดียประกาศเปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบิน INS Vikrant ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ย่อมจะหมายความว่าอินเดียก็ไม่ยอมให้จีนมาสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางทะเลที่ “ปิดล้อม” อินเดียได้

INS Vikrant ออกแบบโดยกองทัพเรืออินเดีย และสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือโคชิน ทางตอนใต้ของประเทศ มีความยาว 262 เมตร

มีความสามารถบรรทุกลูกเรือได้ 1,600 คน และเครื่องบิน 30 ลำ มีระวางขับ 47,400 ตัน

รัฐบาลประกาศจะเข้าประจำการอย่างเต็มรูปแบบปีหน้า

ใช้งบประมาณเกือบ 1 แสนล้านบาท

ก็ด้วยความระแวงต่อจีน เมื่อปีที่แล้วอินเดียส่งเรือรบ 4 ลำไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลจีนใต้ และอินโด-แปซิฟิก เพื่อร่วมซ้อมรบกับกลุ่ม Quad อย่างเปิดเผย

แต่ปีนี้อินเดียร่วมซ้อมรบกับจีนเพราะรัสเซียเชื้อเชิญ

นายกฯ โมดียอมรับว่าอินเดียต้องให้ความใส่ใจกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียมากขึ้นกว่าเดิม                 

เพราะพออินเดียหันมาทางทะเลอีกครั้งก็เห็นจีนสยายปีกออกไปอย่างคึกคัก

จีนเรียกกองทัพเรือของตนว่า PLAN (PLA Navy) ที่มียุทธศาสตร์ “blue water force” หรือยุทธศาสตร์น่านน้ำทะเลลึกมากว่า 10 ปีแล้ว

ตามข่าวกรองของอเมริกา PLAN มีเรือทั้งหมด 355 ลำ ซึ่งรวมถึงเรือดำน้ำ

คาดว่า กองเรือรบของจีนจะขยายไปถึง 420 ลำภายในปี 2025 และ 460 ลำ ภายในปี 2030

นี่คือภาพการแข่งขันทางทะเลระหว่างสองยักษ์ของเอเชียที่กำลังปรับยุทธศาสตร์ทางน่านน้ำอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย