นอกจากสงครามยูเครนยังมี ศึกอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน

นอกจากสงครามยูเครนที่ยังร้อนแรงอยู่ขณะนี้ ยังมีจุดความขัดแย้งที่ระเบิดขึ้นมาช่วงนี้อีกอย่างน้อย 2 แห่ง

จุดแรกระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานในเอเชียกลาง ซึ่งเคยอยู่ในสหภาพโซเวียตทั้งคู่

อีกจุดหนึ่งของความขัดแย้งที่คุกรุ่นขึ้นมาอีกคือ ระหว่างตุรกีกับกรีซ

ทั้งรัสเซียและตุรกีที่โยงกับความขัดแย้งรอบใหม่ก็มีส่วนพัวพันทั้งทางตรงและทางอ้อมกับสงครามยูเครนอีกด้วย

นี่ยังไม่กล่าวถึงจุดอันตรายที่อาจจะเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นที่อิหร่าน, เกาหลีเหนือ และไต้หวันอีกต่างหาก

ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทหารอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานยิงใส่กันอีกรอบ ปะทะกันอย่างดุเดือดตรงชายแดน

วันเดียว ยอดทหารที่ตายพุ่งไปเกือบ 100 นาย

ทั้ง 2 ประเทศล้วนเป็นอดีตรัฐสมาชิกของสหภาพโซเวียตมีเหตุขัดแย้งกันมาหลายสิบปีแล้ว

เริ่มด้วยความขัดแย้งในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบักห์แถบเทือกเขาคอเคซัส

รัสเซียเล่นบทเป็นคนไกล่เกลี่ยและรับรองความปลอดภัยของข้อตกลงสงบศึกชั่วคราว

แต่ก็ไร้ผล

ล่าสุด พอยิงใส่กันได้หลายชั่วโมง และต่างฝ่ายต่างสูญเสียพอสมควร ทางการอาร์เมเนียประกาศว่าการสู้รบสงบลง แต่ไม่ยืนยันว่ายุติแล้ว

เพราะยังมีการยิงใส่กันอีกประปรายในหลายจุด

ด้านอาเซอร์ไบจานอ้างว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการตอบโต้การ “ยั่วยุ” ของอาร์เมเนียแล้ว

หลังการปะทะกันเมื่อวันจันทร์ นายกรัฐมนตรีนิโคล ปาชินเนียน ของอาร์เมเนียยอมรับว่าทหารฝ่ายตนเสียชีวิต 49 นาย ขณะที่กระทรวงกลาโหมอาเซอร์ไบจานแจ้งว่าทหารฝ่ายตนก็ตายไป 50 นาย

การสู้รบรอบใหม่นี้ใช้อาวุธสารพัดประเภทที่ใช้ยิงข้ามชายแดน ไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ ปืนครก โดรน และปืนไรเฟิลลำกล้องใหญ่

ใครเริ่มก่อนใครระบุไม่ได้ ทั้งสองต่างชี้นิ้วกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนเริ่มเรื่องก่อน

ที่เป็นประเด็นน่าสนใจคือ รัสเซียอยู่ข้างอาร์เมเนีย และตุรกีสนับสนุนอาร์เซอร์ไบจาน

จึงกลายเป็นความขุ่นข้องหมองใจระหว่างรัสเซียกับตุรกีไปด้วย

ปมความขัดแย้งยืดเยื้อยาวนานมาหลายสิบปีแล้ว

สาเหตุคือภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งโดยกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน แต่ถูกควบคุมโดยคนเชื้อสายอาร์เมเนีย

สงครามระหว่าง 2 ประเทศบังคับให้กว่าล้านคนต้องพลัดพรากระเหเร่ร่อนออกจากบ้าน

แม้จะมีข้อตกลงหยุดยิง แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่อาจจะบรรลุสันติภาพถาวรได้

มีเรื่องขัดแย้งกันทีใดก็จะใช้อาวุธห้ำหั่นใส่กันทันที

ทั้งสองประเทศตั้งอยู่ในภูมิภาคคอเคซัส ซึ่งมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ของเอเชียกลาง

ดูแผนที่ก็จะเห็นว่าด้านตะวันตกอยู่ติดกับตุรกี อิหร่านอยู่ทางใต้ จอร์เจียไปทางทิศเหนือ รัสเซียอยู่ทางตอนเหนือฝั่งอาเซอร์ไบจาน

เรียกว่าเข้าสูตรความไร้เสถียรภาพ เพราะภูมิรัฐศาสตร์อย่างชัดเจน

คนในอาร์เมเนียเป็นชาวคริสต์ ส่วนอาเซอร์ไบจานเป็นมุสลิม และมีทรัพยากรสำคัญคือน้ำมันที่ทำให้มีฐานะร่ำรวยพอสมควร

ตอนที่ยังอยู่ในสหภาพโซเวียต ภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค มีชาวเชื้อสายอาร์เมเนียอาศัยอยู่ แต่กลับถูกปกครองโดยทางการอาเซอร์ไบจาน

ช่วงปลายทศวรรษที่ 80 สหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลาย รัฐสภาของภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค มีมติให้เป็นส่วนหนึ่งของอาร์เมเนีย

พอแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตในปี 1991 ความขัดแย้งที่คุกรุ่นมาตลอดก็กลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ

ผู้คนตายกันเป็นหมื่น ที่ต้องอพยพหนีตายก็เป็นล้าน

ถึงขั้นที่จะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งกันและกันเลยทีเดียว

รบกันไปมา ต่างฝ่ายต่างสลับกันแพ้ชนะ แต่พอถึง 1994 ก็มีการประกาศหยุดยิง

โดยมีรัสเซียเข้ามาไกล่เกลี่ย

แต่เรื่องไม่จบ เพราะในข้อตกลงนั้นภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัคจะยังเป็นของอาเซอร์ไบจานอยู่ ทั้งๆ ที่ถูกปกครองโดยคนเชื้อสายอาร์เมเนีย ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาร์เมเนีย

การเจรจาสันติภาพเริ่มด้วยการจัดขึ้นโดยกลุ่ม OSCE Minsk Group) ในปี 1992

ประเทศใหญ่ๆ อย่างฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐฯ ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมที่กรุงมินสค์, เมืองหลวงของเบลารุส

ถึงวันนี้ก็ยังตกลงเงื่อนไขสันติภาพไม่ได้

การปะทะก็ยังดำเนินตลอดมาเป็นระยะๆ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

ความสลับซับซ้อนของภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เรื่องที่ควรจบก็จบไม่ได้

เพราะตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกนาโตประกาศตนเป็นประเทศแรกที่รับรองความเป็นประเทศเอกราชของอาเซอร์ไบจานในปี 1991

ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของอาเซอร์ไบจาน เฮจแดร์ แอริเยฟ ประกาศว่า 2 ประเทศนี้ความจริงเป็น "หนึ่งชาติที่ประกอบไปด้วยสองรัฐ"

มีหรือที่อาร์เมเนียจะยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของอาเซอร์ไบจาน

ส่วนอาร์เมเนียนั้นสนิทชิดเชื้อกับรัสเซีย เพราะมอสโกเห็นเป็นพันธมิตรทางด้านความมั่นคง

รัสเซียตั้งฐานทัพในอาร์เมเนีย

และต่างก็เป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรทางการทหารร่วมกัน

จะเรียกเป็น “สงครามตัวแทน” ก็พูดไม่ได้เต็มปาก

เพราะสงครามเริ่มจาก 2 ประเทศเพื่อนบ้านที่มีเพื่อนบ้านของเพื่อนบ้านในแต่ละข้างมาเป็นกองเชียร์

จนเกิดภาวะสงครามรอบใหม่ที่มาเกิดขึ้นในช่วงสงครามยูเครน

ที่รัสเซียเป็นผู้ก่อขึ้นด้วยการส่งทหารเข้าไป

วันนี้รัสเซียต้องหันมาดูแลอาร์เมเนียอีกประเทศหนึ่ง...นอกจากสงครามยูเครนอีกด้วย

ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมประธานาธิบดีปูตินจึงเกิดอาการเครียดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน

ปูติน-คิม: ยิ่งโลกยุ่ง สองสหายยิ่งแน่นแฟ้น

ยิ่งนับวันเกาหลีเหนือก็ยิ่งขยับใกล้รัสเซียมากขึ้น...หลักฐานอาวุธจากเปียงยางไปปรากฏในสมรภูมิยูเครนตอกย้ำว่า “คิม จองอึน” กับ “วลาดิมีร์ ปูติน” กำลังสานสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้นทุกวัน

เมื่อบริษัทมะกันถอนตัวจาก แหล่งก๊าซ‘ยาดานา’พม่า

ผลข้างเคียงจากสงครามกลางเมืองพม่าต่อไทยคือการบริหารแหล่งก๊าซยาดานา (Yadana) ที่ผู้ถือหุ้นสหรัฐฯ คือเชฟรอน เพิ่งประกาศถอนหุ้นออกไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา