นอกจากสงครามยูเครนยังมี ความขัดแย้งตุรกี-กรีซ

โลกกำลังตึงเครียดพร้อมๆ กันหลายจุด นอกจากสงครามยูเครนที่ยังร้อนแรงอยู่ขณะนี้ ยังมีจุดความขัดแย้งที่ระเบิดขึ้นมาช่วงนี้อีกอย่างน้อย 2 จุด เมื่อวานเขียนถึงการสู้รบระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานในเอเชียกลาง ซึ่งเคยอยู่ในสหภาพโซเวียตทั้งคู่

อีกจุดหนึ่งของความขัดแย้งที่คุกรุ่นขึ้นมาอีกคือ ระหว่างตุรกีกับกรีซ เป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังมายาวนานเช่นกัน

ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกขององค์การนาโต แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครไกล่เกลี่ยให้หยุดการเผชิญหน้ากันได้ เพราะความระหองระแหงนี้เป็นผลพวงจากประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกที่ยังลากยาวมาถึงทุกวันนี้

เป็นข้อพิพาทเรื่องดินแดน โดยเฉพาะเกาะแก่งต่างๆ ในทะเลอีเจียน ที่ระเบิดขึ้นมาล่าสุดเพราะตุรกีกล่าวหาหน่วยงานชายฝั่งของกรีซได้ยิงเรือสินค้าของตน

อุณหภูมิในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออกก็ร้อนระอุขึ้นทันที

สื่อต่างชาติรายงานว่า เรือของหน่วยลาดตระเวนชายฝั่งกรีซสองลำยิงใส่เรือขนส่งสินค้าของตุรกี ที่ฝ่ายถูกยิงอ้างว่ากำลังวิ่งอยู่บนน่านน้ำสากล จุดเกิดเหตุห่างจากเกาะบอซคาดาของตุรกีไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร

แม้จะไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ก็ไปปลุกชีพของความขัดแย้งที่ฝังลึกให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกหน

แม้แต่ประเด็นเล็กๆ ก็ถูกขยายความเป็นเรื่องใหญ่ได้ทั้งสิ้น

เมื่อมีการกล่าวหาจากตุรกี กรีซก็โต้ว่าหน่วยงานชายฝั่งต้องยิงเตือนเพราะมี “พฤติกรรมอันน่าสงสัย” ของเรือตุรกี

และยังยืนยันว่าเรือตุรกีแล่นอยู่ที่น่านน้ำของกรีซนอกเกาะเลสบอส โดยอ้างว่าได้มีการส่งสัญญาณวิทยุไปยังเรือลำดังกล่าวของตุรกีเพื่อขอตรวจค้น แต่กัปตันเรือปฏิเสธและแล่นหนีเข้าไปในน่านน้ำของตุรกี

กรีซบอกว่าหน่วยงานชายฝั่งของตนต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย...ช่วยไม่ได้ว่างั้นเถอะ

กรีซอ้างด้วยว่าที่ต้องตรวจค้นเรือต้องสงสัย เพราะในระยะหลังมีการลักลอบขนส่งผู้อพยพผิดกฎหมายจากตุรกีข้ามทะเลอีเจียนมายังชาติสมาชิกสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น

แต่นี่เป็นระลอกใหม่ของความตึงเครียดระหว่างสองประเทศที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ปลายเดือนก่อนตุรกีแจ้งว่า กรีซแสดงความเป็นศัตรูด้วยการใช้ระบบขีปนาวุธเอส-300 ของตนบนเกาะครีต ล็อกเป้าเครื่องบินเอฟ-16 ของตุรกีหลายลำในช่วงที่เครื่องบินรบเหล่านั้นกำลังบินอยู่เหนือน่านฟ้าสากล

เขาย้ำว่าอยู่เหนือ “น่านฟ้าสากล”

กรีซออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการล็อกเป้าเครื่องบินรบของตุรกี เป็นการใส่ร้ายป้ายสีกันมากกว่า

จากนั้นสงครามน้ำลายระหว่างผู้นำของสองประเทศก็ตามมาอย่างดุเดือดเลือดพล่าน

เรื่องไม่จบแค่นั้น เมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐบาลกรีซส่งจดหมายไปฟ้องนาโต, สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ เรียกร้องให้ประณามตุรกี

ลึกๆ แล้วความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ ก็คือการแย่งชิงทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทางทะเลของตน พื้นที่ทับซ้อนระหว่างสองประเทศ

ดูแผนที่จะเห็นว่า ทะเลอีเจียนตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างกรีซและตุรกี พื้นที่ตรงกลางนี้ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่จำนวนมากที่มีทั้งชาวกรีซและชาวเติร์กอาศัยอยู่

ความขัดแย้งส่วนหนึ่งเกิดจากอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลปี 1982 ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศแสวงหาทรัพยากรได้ไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล ที่เรียกกันว่าเป็น “เขตเศรษฐกิจจำเพาะ” หรือ Exclusive Economic Zones ตัวย่อคือ  EEZ

แต่เมื่อประเทศเพื่อนบ้านมีพื้นที่ทับซ้อนกัน ก็เกิดปัญหาว่าใครจะยอมถอยให้ใคร ถ้าพูดกันรู้เรื่องก็ทำงานร่วมกัน แบ่งปันทรัพยากรตามข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่ายุติธรรมต่อตน

แต่ถ้ามีเรื่องบาดหมาง พูดกันไม่รู้เรื่อง ก็จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งถึงขั้นลงมือลงไม้กันอย่างที่เห็น

ยิ่งหากแต่ละฝ่ายไปหาเพื่อนบ้านของตน เพื่อตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อจะเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเช่นกรณีของกรีซกับตุรกี ก็ยิ่งทำให้เกิดการยกระดับของความขัดแย้งจนกลายเป็นการยิงใส่กัน

หากย้อนกลับไปดูต้นสายปลายเหตุจริงๆ ก็จะพบว่าในท้ายที่สุดแล้วความตึงเครียดที่มาในรูปของการใช้อาวุธถล่มกันนั้น ล้วนมาจากผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการแย่งชิงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น

จึงมีความสลับซับซ้อนมากเกินกว่าที่จะอธิบายได้ง่ายๆ เพราะแม้ทั้งสองประเทศจะเป็นสมาชิกองค์กรนาโตด้วยกัน แต่พอพูดถึงผลประโยชน์แห่งตนก็กลายเป็นเรื่อง  “ตัวใครตัวมัน” อย่างปฏิเสธไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน