เมื่อสี จิ้นผิง-โมดีขอให้ปูติน เคลียร์‘ความกังวล’เรื่องยูเครน

สี จิ้นผิง ของจีน กับนเรนทรา โมดี ของอินเดีย มี “ความกังวล” ที่บอกกล่าวกับวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเหมือนกัน...ว่าด้วยสงครามยูเครน

เป็นครั้งแรกที่เราได้ยินจากปูตินเองว่า “เพื่อนรัก” ทั้งสองมีคำถามที่เขาจะต้องชี้แจงและอรรถาธิบายให้เกิดความกระจ่าง

“ความกังวล” ของสีและโมดีคืออะไร,   ปูตินไม่ได้ให้รายละเอียด

แต่หากอ่านถ้อยแถลงของทั้งสามท่านในการพบปะนอกรอบที่การประชุมสุดยอด Shanghai Cooperation Organization (SCO) ที่อุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 15-16 กันยายน ที่ผ่านมา ก็พอจะเห็นภาพที่ชัดเจนได้

โมดีบอกปูตินว่า “นี่ไม่ใช่ยุคสมัยที่จะทำสงคราม”

สี จิ้นผิง ก็ไม่ระบุความกังวลออกมาชัดเจน แต่เมื่อปูตินชมว่าจีน “วางตัวเป็นกลาง” (balanced position) ในกรณียูเครนได้อย่างดี, ก็น่าจะตีความได้ว่าปูตินมีประเด็นที่ต้องอธิบายกับเพื่อนรักคนนี้มากพอสมควร

เพราะคำว่า “วางตัวเป็นกลาง” หรือ “จุดยืนที่มีดุลยภาพ” ของจีนในกรณีนี้ เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่าปักกิ่งไม่ได้กระโจนเต็มตัวในการสนับสนุนการส่งทหารรัสเซียเข้ายูเครน

จุดยืนของจีนมีความระมัดระวังมากมาตั้งแต่ต้น

ส่วนโมดีดูเหมือนจะพูดอะไรตรงไปตรงมามากกว่า นั่นคือเตือนปูตินว่าจะต้องหาทางยุติการสู้รบในยูเครนให้ได้

ปูตินปลอบใจโมดีด้วยการบอกว่าเขาเข้าใจ “ความกังวล” ของอินเดียในเรื่องนี้

อินเดียไม่ประณามรัสเซียในเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสั่งบุกยูเครนของปูติน

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการเห็นสงครามยืดเยื้อจนมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโลก

ปูตินรับปากโมดีว่าจะ “พยายามยุติความขัดแย้ง” ในยูเครนให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่ก็อ้างว่าอุปสรรคคือประธานาธิบดีเซเลนสกียังไม่ยอมเจรจา เพราะจุดยืนของกรุงเคียฟคือจะต้องได้ชัยชนะผ่านการสู้รบเท่านั้น

แต่ปูตินก็ย้อนแย้งตัวเองด้วยการบอกในการแถลงข่าวหลังจากนั้นว่า รัสเซียจะคงไม่ปรับเปลี่ยนเป้าหมายในการดำเนินการ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครน

นั่นคือจะต้อง “ปลดปล่อยภูมิภาคดอนบาส” ทางตะวันออกของยูเครนให้จงได้

เมื่อถูกถามว่ากองทัพยูเครนสามารถตีโต้ทหารรัสเซียในหลายเมืองในภูมิภาคคาร์คีฟทางตะวันออกเฉียงเหนือและทหารรัสเซียกำลังถอยร่นจริงหรือไม่ ปูตินยิ้มเยาะๆ และตอบว่า

“ก็คอยดูต่อไปว่าจะจบอย่างไร”

โดยย้ำว่ากองทัพรัสเซียจะเพิ่มการโจมตีขึ้นไปอีก อีกทั้งเตือนยูเครนว่าการสู้รบจะ “ร้ายแรง” ขึ้น

สะท้อนว่าปูตินยังจะเดินหน้าทำสงครามต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

จึงไม่ตรงกับที่รับปากกับโมดีว่าจะพยายามยุติความขัดแย้งในยูเครนในเร็วที่สุด

นี่คือสถานการณ์ล่าสุดของสงครามยูเครนที่ทำให้เราเห็นภาพของความยุ่งเหยิงและสลับซับซ้อนที่ทำท่าว่าจะลากยาวต่อไปอย่างน่ากังวล

ว่าด้วย “ความกังวล” ของสี จิ้นผิง    และโมดีต่อปูตินนั้น ผมคาดว่าผู้นำจีนกับอินเดียคงจะต้องการให้ปูตินตอบคำถามพื้นฐาน เช่น

สงครามยูเครนจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

จะจบอย่างไร

โอกาสที่จะเจรจาเพื่อยุติสงครามมีเพียงใด

และเงื่อนไขของฝั่งรัสเซียกับของยูเครนเป็นเช่นไร

จะสามารถประกาศหยุดยิงเพื่อปูทางสู่การหาทางออกทางการทูตและการเมืองอย่างไรหรือไม่

เพราะทั้งจีนและอินเดียก็คงไม่ปรารถนาที่จะเห็นสงครามนี้บานปลายกลายเป็นสงครามระดับทวีปหรือเป็นสงครามโลก

เพราะความสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่สงครามที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์นั้นจะมีสูงขึ้นทุกวันหากไม่มีการยอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา

การพบกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกระหว่างปูตินกับสี จิ้นผิง ที่เมืองซามาร์คานด์ของอุซเบกิสถานเปิดฉากด้วยความชื่นชมยินดีต่อกัน

ผู้นำจีนบอกว่ายินดีที่ได้พบกับ “เพื่อนเก่า” อีกครั้ง 

และปูตินเรียกสี จิ้นผิง ว่าเป็น “สหายสี...ที่รัก”

ทั้งสองผู้นำตอกย้ำถึงความร่วมมือที่จะร่วมมือกันเพื่อจะทำให้ “โลกแบบขั้วเดียว” สลายหายไป

แทนที่โดยโลกที่มีอำนาจหลายขั้ว

อีกทั้งยังมีการชักชวนสมาชิกของ SCO และพันธมิตรในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน

โดยจะเน้นทำการค้าขายระหว่างกันด้วยการใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้น...ซึ่งหมายความว่าจะพยายามไม่พึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐฯ อีกต่อไป

แม้ว่าสี จิ้นผิง จะแสดง “ความกังวล” ต่อปูตินเรื่องสงครามยูเครน แต่ในภาพรวมแล้วปักกิ่งก็ยืนข้างมอสโกอย่างไม่ต้องสงสัย

ที่ผ่านมา จีนเอาตัวออกห่างจากการประณามปฏิบัติการพิเศษทางการทหารของรัสเซียต่อยูเครน 

จีนไม่ใช้คำว่า “รุกราน” ซึ่งเป็นท่าทีสอดประสานกันกับรัฐบาลเครมลินที่เรียกสงครามนี้ว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร”

ครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองได้พบกันแบบตัวต่อตัว คือ ช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนรัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 

ในโอกาสนั้น สี จิ้นผิง กับปูตินได้ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ “แบบไม่มีข้อจำกัด” ระหว่างกัน 

ต้องถือว่าจีนก้าวย่างในเรื่องยูเครนอย่างระมัดระวังยิ่ง

จะเห็นได้ว่าจีนไม่เคยแสดงท่าทีว่าพร้อมจะส่งอาวุธไปช่วยรัสเซียทำสงครามในยูเครน

รัสเซียขอความร่วมมือด้านอาวุธจากอิหร่าน, ตุรกี และแม้แต่เกาหลีเหนือ แต่เราไม่เคยเห็นข่าวว่ามอสโกขอความช่วยเหลือหรือสนับสนุนด้านอาวุธจากจีน

เพราะจีนคงจะต้องระมัดระวังที่จะไม่ถูกมองว่าเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงคราม

แม้ทั้งสองผู้นำจะแสดงความสนิทสนมกับอย่างยิ่ง แต่สังเกตได้ว่าตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น จีนก็วางตัวอย่างระแวดระวังมากขึ้น

เพราะจีนมีแผนการที่จะนำพาประเทศไปเป็นมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจขยายโตต่อเนื่อง และพร้อมจะเอาชนะสหรัฐฯ ได้ในอีกสิบปีข้างหน้า 

สี จิ้นผิง บอกกับปูตินตอนหนึ่งว่า

“ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งในยุคของเราและในประวัติศาสตร์ของเรา จีนยินดีที่จะทำงานร่วมกับรัสเซียในการแสดงบทบาทของผู้นำ ที่มีความรับผิดชอบในฐานะประเทศมหาอำนาจ และสร้างความมีเสถียรภาพและพลังเชิงบวกให้กับโลกอันวุ่นวายนี้”

นั่นเป็นส่วนที่จีนต้องการตอกย้ำถึงเป้าหมายใหญ่ร่วมกันของสองประเทศ

แต่พอลงรายละเอียดของสงครามยูเครน ปักกิ่งก็มีคำถามหลายข้อที่ยังรอคำตอบจากมอสโก

ขณะที่จีนแสดงท่าทีสนับสนุนในภาพกว้างต่อปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน ปูตินต้องตอบสนองด้วยการแสดงท่าทียืนอยู่ข้างจีนอย่างชัดเจนในประเด็นไต้หวัน 

ปูตินประกาศว่า “เรามีความตั้งใจในการยึดหลักการจีนเดียวอย่างแน่วแน่ เราขอประณามการยั่วยุจากสหรัฐฯ และฝ่ายสนับสนุนสหรัฐฯ บริเวณช่องแคบไต้หวันด้วย”

ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันในเรื่องใหญ่

แต่พอโยงถึงสงครามยูเครน สี จิ้นผิง ก็ต้องขอแสดง “ความกังวล” พร้อมๆ กับนเรนทรา โมดี

แปลว่าปูตินยังต้อง “เคลียร์” กับ “เพื่อนรัก” สองคนนี้อีกหลายประเด็นทีเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน