สหรัฐฯ เดินหน้ากดดันจีน : ไบเดนพร้อมส่งทหารช่วยไต้หวัน!

โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ แหย่หนวดมังกรอีกรอบ...ด้วยการบอกว่าสหรัฐฯ จะส่งทหารไปปกป้องไต้หวันหากจีนใช้กำลังทหารยึดเกาะ

ถือว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผู้นำสหรัฐฯ บอกชัดว่าวอชิงตันยังพร้อมจะปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีนแผ่นดินใหญ่

ทั้งๆ ที่จีนย้ำแล้วย้ำอีกว่า สหรัฐฯ ต้องเคารพนโยบายจีนเดียว และต้องไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีนในเรื่องไต้หวัน

ไบเดนตอบคำถามของพิธีกรในรายการ 60 Minutes ทาง CBS ที่ต้องการรู้ว่าจุดยืนของอเมริกาต่อสงครามยูเครนกับไต้หวันต่างกันอย่างไร

ในกรณียูเครน สหรัฐฯ ยืนยันจะไม่ส่งทหารไปร่วมรบกับยูเครนเพื่อสู้กับรัสเซีย

แล้วกรณีไต้หวันล่ะ ไบเดนจะส่งทหารไปรบจีนไหม?

ไบเดนตอบว่า “ใช่...เราจะส่งทหารไปปกป้องไต้หวันหากจีนตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือส่งทหารมายึดไต้หวัน”

ทำให้เกิดคำถามทันทีว่า ไบเดนกำลังปรับนโยบายของสหรัฐฯ อีกครั้งแล้วหรือ...เพราะกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับไต้หวันที่ออกปี 1979 นั้นไม่ได้ระบุชัดถึงขนาดจะส่งทหารไปร่วมรบกับไต้หวัน

หากแต่เขียนไว้อย่างคลุมเครือว่าจะช่วยไต้หวันสร้างเสริมศักยภาพในการป้องกันตัวเองจากการรุกรานเท่านั้น

เป็นวิธีเขียนด้วยภาษาที่เปิดกว้างเอาไว้เพื่อให้ตีความได้หลายๆ ทาง

นักข่าวถามไปที่ทำเนียบขาวว่า การที่ไบเดนพูดอย่างนี้เท่ากับเป็นการเปลี่ยนนโยบายต่อจีนหรือไม่

ทำเนียบขาวยืนยันว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” นโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีนแต่ประการใด

แต่ไม่ยอมบอกว่าไบเดนพูดอย่างนั้นมีความหมายที่ผิดแผกไปจากที่กฎหมายระบุหรือไม่

ไม่ต้องแปลกใจที่ปักกิ่งจะออกมาฟาดฟันสหรัฐฯ ทันทีอีกครั้ง

เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมาวอชิงตันก็ยังเดินหน้าสกัดกั้นจีนด้วยมาตรการต่างๆ ที่สร้างความร้าวฉานเพิ่มเติมระหว่าง 2 ประเทศยักษ์ใหญ่

เพราะข่าวหลายสายยืนยันว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรจีนเพิ่มอีก...ด้วยหวังจะขัดขวางไม่ให้ปักกิ่งวางแผนรุกรานไต้หวัน

อีกด้านหนึ่ง สหภาพยุโรปได้รับแรงกดดันด้านการทูตจากไต้หวันให้ช่วยหยุดยั้งการกระทำจีนที่มีผลทางลบต่อไต้หวันเช่นกัน

ข้อมูลล่าสุดบอกว่า มีการเคลื่อนไหวจากฝั่งรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลไทเปที่ต่างแยกกันวิ่งเต้นกับทางทูตอียู

เพื่อผลักดันให้อียูใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนให้มากกว่าเดิม ท่ามกลางความกังวลเรื่องการรุกรานไต้หวันของจีน

หลังจากการยกระดับซ้อมรบบริเวณช่องแคบไต้หวันของรัฐบาลปักกิ่ง

ส่วนรายละเอียดของมาตรการที่ว่านี้มีอะไรบ้างยังไม่ได้รับการเปิดเผย

ว่ากันว่าการหารือเรื่องมาตรการคว่ำบาตรจีนเพิ่มเติมนั้นได้เริ่มต้นตั้งแต่รัสเซียส่งทหารบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

แต่ต่อมากลายเป็นประเด็นเร่งด่วนหลังจากเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ส.ส.แนนซี เพโลซี เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ก่อนนี้สหรัฐอเมริกาก็ประกาศใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียเช่นกันเมื่อเดือนมกราคม

โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกนาโตเพื่อหวังจะสกัดไม่ให้รัสเซียบุกยูเครน

แต่ความพยายามใดๆ ที่จะทำให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซียเปลี่ยนใจในเรื่องนี้มีอันต้องล้มเหลวไป

มีความเป็นไปได้ว่าการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อจีนอาจจะต้องซับซ้อนมากกว่ามาตรการลงโทษต่อรัสเซีย

เหตุผลหลักก็เพราะสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรมีความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างมาก...มากกว่าที่มีปฏิสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับรัสเซียหลายเท่า

อีกทางหนึ่ง ด้านนิติบัญญัติของสหรัฐฯ ก็เดินหน้ากดดันจีนด้วยการเสนอกฎหมายฉบับใหม่เพื่อสนับสนุนไต้หวันเช่นกัน

คณะกรรมาธิการการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติผ่านร่างกฎหมายนโยบายไต้หวัน (Taiwan Policy Act) ด้วยคะแนน 17 ต่อ 5

จากนี้ขั้นต่อต่อไปก็คือ การเสนอให้มีการพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของวุฒิสภาสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์มองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีการแก้ไขนโยบายของอเมริกาต่อไต้หวันอย่างครอบคลุมมากที่สุดตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา 

ปี 1979 คือปีที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ออกกฎหมาย Taiwan Relations Act หรือกฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์กับไต้หวัน ซึ่งเปิดทางให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไต้หวันในการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารเพื่อป้องกันตัวเองจากการรุกรานของจีนแผ่นดินใหญ่

ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา Bob Menendez บอกว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำให้อเมริกาสามารถให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ไต้หวันเพิ่มเติมและต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ไต้หวันสามารถสกัดการรุกรานจากจีน

โดยสหรัฐฯ ไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับไต้หวันแต่อย่างใด

ร่างกฎหมายนโยบายไต้หวันที่ว่านี้มีเนื้อหาถึง 107 หน้า

เป็นการผนวกและรวบรวมประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับไต้หวันในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าสนใจที่นักวิเคราะห์จับตาเป็นพิเศษก็คือ การเสนอให้เปลี่ยนชื่อสำนักงานตัวแทนไต้หวันในสหรัฐฯ เพื่อฟังดูให้ขึงขังและเข้มข้นมากขึ้น

และยังวางแผนเสนอความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไต้หวันเป็นมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 166,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 4 ปี

รวมถึงยกสถานะไต้หวันให้เป็น  "พันธมิตรนอกนาโต" (Major non- NATO ally)

ซึ่งเท่ากับเป็นการสุมไฟอีกครั้งหนึ่งให้ความตึงเครียดที่ช่องแคบไต้หวันถูกยกระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างน่ากังวล

ปักกิ่งย่อมจะต้องมองว่าฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐฯ จงใจที่จะเดินหน้าในหลายๆ ด้านพร้อมๆ กันเพื่อกดดันจีนกรณีไต้หวัน

จะอ้างไม่ได้ว่าฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติของสหรัฐฯ เป็นอิสระต่อกัน และไม่มีการสมรู้ร่วมคิดเพื่อจะบ่อนทำลายจีน

เพราะกรรมย่อมส่อเจตนา

และหากวอชิงตันเล่นเกมอย่างนี้ จีนก็คงจะต้องหาทางตอบโต้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน

โลกเครียดขึ้นอีกหลายดีกรีเลยครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน