อยากรู้ว่าปูตินกระซิบสี จิ้นผิง และโมดี ก่อนไหมว่าจะระดมพลเพิ่มเข้ายูเครน?

พอประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศระดมทหารสำรอง 3 แสนคน เข้าเสริมกองทัพรัสเซียในยูเครน ผมก็เฝ้ามองว่าปฏิกิริยาจากมหาอำนาจอื่นๆ ว่าอย่างไร

ที่อยากรู้เป็นพิเศษคือ ตอนที่ปูตินเจอกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และนายกฯ นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ที่อุซเบกิสถานเมื่อไม่กี่วันก่อนนั้น ได้คุยกันเรื่องรัสเซียเตรียมระดมพลใหม่เพื่อทำสงครามในยูเครนหรือไม่

เพราะในการพบปะนอกรอบการประชุมสุดยอด Shanghai Cooperation Organization (SCO) ที่นั่นปูตินได้คุยกันสองต่อสองกับผู้นำจีนและอินเดีย

ปูตินยอมรับกับนักข่าวว่า ทั้งสีและโมดีได้แสดง “ความกังวล” เกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครน

ผู้นำรัสเซียบอกว่าเข้าใจถึงความกังวลของทั้ง 2 ผู้นำที่ถือว่าเป็นมิตรในยามยาก

และจะพยายามอธิบายให้เข้าใจว่ารัสเซียประเมินสถานการณ์ในยูเครนอย่างไร

ในจังหวะนั้น นายกฯ โมดียังบอกปูตินว่า “นี่ไม่ใช่ยุคสมัยสำหรับสงคราม” ด้วยซ้ำ

ที่ผมสงสัยมากก็คือว่า ในการพบปะพูดจากับสี จิ้นผิง และโมดีที่อุซเบกิสถานนั้นได้กระซิบให้รู้ล่วงหน้าไหมว่าเขากลับจากที่ประชุมนี้ไปถึงบ้านก็จะประกาศระดมพลเพิ่มเพื่อยกระดับการสู้รบในยูเครน

ถ้าปูตินไม่ได้บอกสีและโมดีล่วงหน้า และผู้นำจีนกับอินเดียมารู้พร้อมๆ กับชาวโลก ก็คงจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดมากๆ

อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีของ 2 ผู้นำต่อปูติน

เพราะเท่ากับว่าปูตินตัดสินใจเสริมกำลังและทำประชามติในยูเครนโดยไม่ได้บอกกล่าวกับพันธมิตร

เรื่องระหว่างเพื่อนฝูงอย่างนี้ จะสร้างเซอร์ไพรส์กันไม่ได้

แต่หากปูตินได้กระซิบกระซาบบอกสีและโมดีล่วงหน้าว่าจะทำอะไรในยูเครนเช่นนี้ ผมก็อยากจะรู้ต่อว่าทั้งสีและโมดีมีปฏิกิริยาอย่างไร

มีการเตือนว่าอย่าทำหรือส่งเสริมหรือแสดงความเห็นไปในทางใดทางหนึ่งหรือไม่

เพราะหากสีและโมดีได้รับรู้จากปูตินว่าจะส่งทหารสำรองตั้ง 3 แสนคน เข้าไปในสนามรบที่ยูเครน ก็ย่อมแปลว่าทั้งจีนและอินเดียมีสิทธิ์ที่จะ “เพิ่มความกังวล” ต่อบทบาทของรัสเซียในยูเครนได้เช่นกัน

การตัดสินของปูตินในครั้งนี้จึงมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนและอินเดียไม่น้อยเลย

ส่วนถ้อยแถลงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ นั้นพอจะคาดการณ์ได้ว่าจะต้องซัดปูตินแน่นอน

และก็เป็นไปตามที่คาด เพราะไบเดนได้จังหวะที่ขึ้นปราศรัย ณ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์กพอดี

จึงออกมากล่าวหาว่าปูตินกำลังจะละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง และโลกตะวันตกจะไม่อยู่เฉยๆ แน่ๆ

ที่ทำให้นักวิเคราะห์ต้องคิดต่อคือปฏิกิริยาจากจีน

โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมายืนยันว่าจุดยืนของจีนในเรื่องนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

คือจีนต้องการเห็นคู่กรณีทุกฝ่ายในความขัดแย้งนี้หาทางออกด้วยการเจรจา มิใช่ทำสงคราม

และย้ำว่าจีนยึดมั่นในหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ, การเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ

สื่อทางการจีนคือ Global Times รายงานพร้อมกับอ้าง “ผู้เชี่ยวชาญชาวจีน” บอกว่า

การที่ปูตินประกาศส่งทหารเข้าในยูเครนอีก 3 แสนคน และเตรียมทำ “ประชามติ” ใน 4 ภูมิภาคของยูเครนเพื่อจะผนวกให้เป็นของรัสเซียนั้น                “เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของวิกฤตยูเครนที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มตะวันตกได้ยึดเวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ที่กำลังดำเนินอยู่ และเปลี่ยนให้เป็นเวทีต่อต้านรัสเซีย ยังคงจุดไฟเผาอย่างต่อเนื่อง และทำให้โอกาสของการเจรจาเพื่อความสงบสุขลดลง”

สื่อจีนรายงานต่อว่า ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนบางคนกล่าวว่า หากทั้ง 4 ภูมิภาคจัดให้มีการลงประชามติ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะซับซ้อนยิ่งขึ้น

และมีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็น "สงครามเต็มรูปแบบ" ระหว่างรัสเซียและยุโรป ซึ่งอาจลุกลามออกไป

ผู้เชี่ยวชาญจีนเสริมว่า นอกจากนี้ยังอาจหมายถึงการสูญเสียโอกาสในการเจรจาสันติภาพ เนื่องจากอาจมีความแตกแยกถาวรระหว่างรัสเซียและยูเครน

 “สถานการณ์ที่น่าเศร้าเช่นนี้ควรค่าแก่การไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งว่าใครเป็นผู้นำไปสู่วิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และพวกเขาตั้งข้อสังเกตอย่างไร”

สื่อจีนอ้างคำพูดของ Zhao Huirong ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของยุโรปตะวันออกจาก Chinese Academy of Social Sciences ว่า

 “ส่วนหนึ่งของคำสั่งระดมกำลังแสดงให้เห็นว่ารัสเซียได้ปรับยุทธวิธีในการปฏิบัติการในปัจจุบันและการตอบโต้ของยูเครน เป็นการแสดงว่าความขัดแย้งได้เข้าสู่ขั้นตอนใหม่แล้ว”

 “การเผชิญหน้าจะลากยาวและยืดเยื้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างกระตือรือร้นที่จะบรรลุความได้เปรียบอย่างแท้จริง และแม้กระทั่งชัยชนะในสนามรบครั้งสุดท้าย ความเป็นไปได้ของการเจรจาจึงมีโอกาสน้อยลง” จ้าวกล่าว

ในขณะที่ปูตินเตือนตะวันตกว่า เขาไม่ได้ "บลัฟ" เกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนบางคนเชื่อว่านี่เป็นกลวิธีที่จะเตือนตะวันตกไม่ให้จัดหาอาวุธให้กับยูเครนมากขึ้น

 “แต่ในขณะที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น ความเสี่ยงในการใช้อาวุธสังหารที่ใหญ่กว่า และแม้แต่อาวุธนิวเคลียร์ในสนามรบก็เพิ่มขึ้น และการลดความเสี่ยงนั้นจำเป็นต้องมีการเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะระหว่างรัสเซียและตะวันตก” ผู้เชี่ยวชาญจีนกล่าว

สื่อจีนแจ้งว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ รัสเซียเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากกองกำลังยูเครนได้ผลักดันอย่างหนักในการตอบโต้ด้วยการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากตะวันตก และรัสเซียก็ถูกบังคับให้ถอนตัวจากสถานที่สำคัญบางแห่งในยูเครน

ในปัจจุบัน สหรัฐฯ และพันธมิตรหลักกำลังเปลี่ยน UNGA ที่กำลังดำเนินอยู่ให้กลายเป็นสมรภูมิทางการทูต โดยประณามการปฏิบัติการทางทหารพิเศษของปูตินในยูเครน โดยเรียกการลงประชามติที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องหลอกลวง

ผู้เชี่ยวชาญจีนมองว่า การประชุม UNGA ที่กำลังดำเนินอยู่ ควรเป็นเวทีที่เน้นประเด็นปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตอาหาร และการฟื้นตัวหลังโควิด   

แต่ผู้นำจากประเทศตะวันตกจำนวนหนึ่งประณามการปฏิบัติการทางทหารพิเศษของปูตินในยูเครนอย่างรุนแรง

 “ประเทศที่ปฏิเสธที่จะเข้าข้างในสงครามของรัสเซียในยูเครนนั้นสมรู้ร่วมคิดกับจักรวรรดินิยมใหม่ของมอสโก” ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง บอกกับ UNGA เมื่อวันอังคาร ตามรายงานของสื่อ

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของเขากล่าวว่า      "สหรัฐฯ จะไม่มีวันยอมรับคำกล่าวอ้างของรัสเซียในส่วนที่แอบอ้างของยูเครน"

ไปๆ มาๆ ปฏิกิริยาจากโลกตะวันตกไม่มีอะไรผิดคาด

แต่ถ้อยแถลงทางการของจีนและการรายงานข่าวของจีนในเรื่องนี้น่าสนใจน่าวิเคราะห์ระหว่างบรรทัดอย่างยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย