ความต่างของเรื่องเงินบาท ยุค ‘บิ๊กป้อม’ กับยุค “บิ๊กจิ๋ว”

ข่าวเรื่องรักษาการนายกฯ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ “บ่นดัง ๆ” ว่าเงินบาทที่ทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นแข็งเกินไป “อยากเห็นที่ 35 บาท” และขอให้รัฐมนตรีคลังไปปรึกษาหารือกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติว่าจะทำอย่างไรต่อไป...

กลายเป็นประเด็นร้อนที่สร้างความสนใจไปทั่ว

เพราะมีการพูดถึงว่าถ้าไม่ดูแลระดับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ประเทศไทยอาจจะเจอกับปัญหาวิกฤตแบบเดียวกับยุคพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกฯ เมื่อปี 2540

หรือเป็นแบบ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” กันเลยทีเดียว

บางคนบอกว่า “บิ๊กป้อม” แค่บ่นให้ฟัง

อีกบางคนสงสัยว่า “การเมืองเข้ามาแทรกแซงบทบาทของธนาคารกลาง” หรือไม่

บางคนสงสัยว่าใครเป็นคนให้ข้อมูล หรือเสนอความเห็นทำนองนี้กับรักษาการนายกฯ

อีกหลายคนสงสัยว่าคุณประวิตรเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด

ความจริง การปรึกษาหารือกันในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีก็ควรจะเป็นเรื่อง “ภายใน” เพราะเป็นการตั้งคำถามและหาคำตอบกันในวงผู้บริหารสูงสุดของประเทศ

ไม่ควรจะกลายเป็นข่าวที่อ้างคำพูดคำต่อคำกันจนเสมือนเป็นนโยบายของรัฐบาล

แต่เมื่อคำพูดของรักษาการนายกฯ หลุดออกมาจนเหมือนเป็นคำสั่งแล้ว ความเข้าใจไปต่างๆ นานา ​ก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้

เรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นประเด็นที่นายกฯ หรือรัฐมนตรีจะไม่แสดงความเห็นว่าควรจะอยู่ที่ระดับไหน

แม้แต่ผู้ว่าธนาคารกลางเองก็ไม่อาจจะมีจุดยืนว่าเงินบาทควรจะอยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยนเท่าไหร่ เพราะอาจจะนำไปสู่การเก็งกำไร (หรือขาดทุน) สำหรับตลาดซึ่งจะทำให้สถานการณ์ยิ่งจะผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

ในสถานการณ์ปัจจุบันเมื่อเงินดอลลาร์ของอเมริกาแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนไปกันอย่างกว้างขวาง

ระดับการอ่อนค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์เมื่อเทียบกับของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ก็อยู่ตรงกลางๆ

เช่นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เงินยูโรอ่อนค่าไป 20% เงินหยวนอ่อนไป 10% เงินเยนอ่อนไป 20% (จนธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าแทรกแซงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา) และเงินสกุลต่างๆ ของเพื่อนบ้านเราก็อ่อนตัวลงไปเช่นกัน

แต่ที่แน่ๆ คือสถานการณ์วันนี้ไม่อาจจะเปรียบเทียบกับยุคของนายกฯ “บิ๊กจิ๋ว” ซึ่งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งจนกลายเป็นบาดแผลบาดลึกสำหรับประเทศไทยจนถึงวันนี้

วันก่อนผมอ่านเจอข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์, อดีตรัฐมนตรีพลังงานและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ผมได้สัมผัสสนทนาและแลกเปลี่ยนความเห็นกันมายาวนาน

ท่านได้อธิบายเรื่องนี้ได้น่าสนใจ และควรจะเป็นความรู้และข้อมูลที่คนไทยที่กำลังกังวลกับการอ่อนค่าของเงินบาทและความเสี่ยงที่ไทยเราจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ

บางตอนที่ ดร.ณรงค์ชัยเขียนเอาไว้บอกว่า

ขอเรียนว่าเหตุการณ์เงินบาทอ่อนค่าวันนั้นกับวันนี้ไม่เหมือนกันครับ

ผมอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ตอนประกาศลดค่าเงินบาท เมื่อ 2 ก.ค. 2540 (1997) เหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤตค่าเงินบาทตอนนั้น เพราะเรามีนโยบายค่าเงินคงที่ คือดอลลาร์ละ 25 บาท

เราใช้นโยบายนี้มาก่อนหน้านั้นหลายปี ในขณะที่ดอกเบี้ยของเราสูงกว่าดอกเบี้ยต่างประเทศ จึงมีการกู้ยืมเงินมามาก นโยบายส่งเสริมให้เอกชนใช้เงินทุนจากต่างประเทศ สถาบันการเงินกู้เงินนอกดอกเบี้ยถูก ปล่อยต่อดอกแพง  

ค่าเงินบาทคงที่ ใครจะไม่ทำ

สมัยรัฐบาลนายกฯ บรรหาร ปี 1996 เจ้าหนี้ต่างชาติเริ่มกังวล ปลายปีเริ่มมีการโจมตีค่าเงินบาท เมื่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิตเข้ามารับหน้าที่เดือน พ.ย.1996 ดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นรองนายกฯ และ รมว.คลัง เราก็ไปคุยกับ ธปท.ในฐานะกรรมการกองทุนรักษาระดับ ว่าควรเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นลอยตัว แล้วแทรกแซงการซื้อขายเงินตราต่างประเทศไม่ให้ขึ้นเร็วลงเร็ว

ผู้บริหาร ธปท.บอกว่าเห็นด้วย แต่จะเลือกเวลาเปลี่ยนระบบเอง พ.ร.บ.เรื่องนี้ให้อำนาจ ธปท.ไว้ รัฐบาลเข้าไปสั่งการไม่ได้ ตอนนั้นคุณประจวบ ไชยสาส์น รมว.ต่างประเทศ ในฐานะ กก.กองทุนรักษาระดับ สงสัยว่าจริงหรือ ขอดู พ.ร.บ.ก็พบว่าจริง

ต่อมามีการโจมตีค่าเงินบาทเป็นระยะ ตั้งแต่ ก.พ.1997 ธปท.ก็ป้องกันตัวโดยใช้ระบบ Swop คือขายสั้น ซื้อยาว  

พอมาถึงเดือน พ.ค.1997 สัปดาห์ที่ 2 การโจมตีหนักสุด มีการทำ Swop สูงถึง 25,000 ล้านเหรียญฯ โดยเรามีเงินสำรองอยู่ประมาณ 32,000.- ล้านเหรียญฯ แปลว่าถ้าไม่นับเงินซื้อล่วงหน้า เงินสำรองเราเหลือ 7,000 ล้านเหรียญฯ 

ตอนนั้นเกิดปัญหาการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล คือพรรคชาติพัฒนา โดย พล.อ.ชาติชาย กับพรรคความหวังใหม่โดย พล.อ.ชวลิต มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเศรษฐกิจ มีข่าวเป็นระยะ ยิ่งสร้างโอกาสให้มีการโจมตีค่าเงินบาท ถึงขั้น ดร.อำนวย วีรวรรณ ตัดสินใจลาออกตอนกลางเดือน มิ.ย.1997 ได้ ดร.ทนง พิทยะ มาเป็น รมว.ก.คลังแทน

เมื่อการเมืองไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจ โดยที่การโจมตีค่าเงินบาทกำลังเข้มข้น เลยนำไปสู่การตัดสินใจที่รัฐบาลต้องประกาศเลิกระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่

ประกาศ 2 ก.ค.1997 เงินบาทก็เริ่มตก ตกเร็วมาก เป็น 30 บาท 40 บาท คลังขอความช่วยเหลือจาก IMF ได้วงเงินมา 17,200 ล้านเหรียญฯ 

พล.อ.ชวลิตปรับ ครม.เอาทีมเศรษฐกิจจากพรรคชาติพัฒนาเข้ามา เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2 สัปดาห์ พล.อ.ชวลิตลาออก คาดว่า พล.อ.ชาติชาย พรรคชาติพัฒนา จะมาเป็นแกนนำรัฐบาล

แต่พรรคประชาธิปัตย์เก่งกว่า ไปขอ ส.ส.จากพรรคประชากรไทยมาร่วมลงคะแนนให้คุณชวนเป็นนายกฯ ได้มา 8 คน โดยสัญญาจะให้ตำแหน่งทางการเมือง 6 ตำแหน่ง เกิดวลีเด็ดจากคุณสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย เรียก ส.ส. 8 คนนั้นว่า “ส.ส.งูเห่า”

คือคุณสมัครเหมือนเป็นชาวนา ดูแล ส.ส.เหล่านั้นอย่างดี ถึงเวลาตัวเองจะได้ประโยชน์ กลับทรยศต่อท่าน ส.ส.งูเห่า คือ ส.ส.แปรพรรค เป็นคำที่ใช้อยู่จนทุกวันนี้

พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายกฯ ชวน ได้จัดตั้งรัฐบาลปลายปี 1997 ค่าเงินบาทยังตกอยู่ ทะลุ 50 บาทไปเมื่อ ม.ค.1998 แล้วจึงค่อยๆ คืนค่ามาเป็น 40 บาท 30 กว่าบาทต่อดอลลาร์ เศรษฐกิจดีขึ้นเป็นลำดับ เพราะเงินบาทอ่อนช่วยการส่งออกและการท่องเที่ยว จนถึงรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ เศรษฐกิจดีพอ ไทยใช้เงินคืน IMF ได้หมด

ชัดเจนว่าค่าเงินบาทอ่อนวันนั้นไม่เหมือนวันนี้ 

วันนั้นเรามีระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ อัตราดอกเบี้ยสูงเพราะเงินออมไม่พอ ต้องพึ่งเงินกู้จากต่างประเทศมาก ค่าเงินบาทจึงต้องตก และตกมากเพราะ ธปท.เปลี่ยนระบบแลกเปลี่ยนเงินตราไม่ทัน

วันนี้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเราลอยตัว ขึ้นลงได้ แต่ไม่ให้เปลี่ยนเร็ว ที่อ่อนค่าเพราะ US ดอลลาร์ขึ้นเมื่อเทียบกับเงินทุกสกุลของโลก เพราะโลกวุ่นวาย ทรัพย์สินก็เลยไหลไปสู่ทรัพย์สินสกุลดอลลาร์ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายเราต่ำ ต่ำกว่าของ US ประมาณ 2-2.5% เทียบกับ Fed ที่ปรับขึ้นเป็น 3-3.25% เมื่อวานนี้ (เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา)

เราจะขึ้นดอกเบี้ยมากก็ไม่ได้ เพราะหนี้ครัวเรือนของเราสูงมาก จึงเห็นว่า ธปท.ค่อยๆ ขยับดอกเบี้ยนโยบายไปพร้อมกันกับใช้เงินสำรองส่วนหนึ่งมาพยุงค่าเงินไม่ให้ลงเร็วเกินไป 

โดยเปรียบเทียบเงินสำรองเราสูง มีอยู่กว่า 240 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศก็น้อย ถ้าดูตลาดเงิน ตลาดทุน การทำธุรกรรมต่างๆ เป็นปกติ มีทั้งเงินไหลเข้า ไหลออก ตลาดพันธบัตรก็แข็งแรง และ ธปท.คงปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกเร็วๆ นี้ 

ดร.ณรงค์ชัยเล่าเรื่องไว้ชัดเจน...คนในรัฐบาลปัจจุบันควรจะได้อ่านกันถ้วนหน้า

เพื่อว่าการแสดงความเห็นในเรื่องนี้จะได้ไม่สร้างความสับสนกับสาธารณชนอย่างที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex