อะไรคืออาวุธนิวเคลียร์แบบ ‘ยุทธวิธี’ และ ‘กลยุทธ์’?

อยู่ดีๆ ก็มีการพูดถึง “อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี” ที่แตกต่างไปจาก “อาวุธนิวเคลียร์เชิงกลยุทธ์”

เพราะตะวันตกอ้างว่ารัสเซียอาจจะกำลังคิดใช้อาวุธร้ายแรงอย่างแรกในสนามรบยูเครน

ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ต้องออกมาบอกว่าขอเตือนไปยังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ว่าถ้ากำลังคิดเรื่องนี้อยู่ ขอเตือนว่า

“อย่า, อย่า, อย่า!” (Don’t, Don’t, Don’t)

เพราะมันอันตรายมากสำหรับทั้งผู้ใช้อาวุธร้ายแรงเช่นนี้ และผู้ที่จะต้องตอบโต้อย่างทันควัน

อะไรคือความแตกต่างระหว่างอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical Nuclear Weapons) กับอาวุธนิวเคลียร์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Nuclear Weapons)?

คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้คือ

นิวเคลียร์ทางยุทธวิธีมีขนาดเล็ก เกิดผลระเบิดไม่กี่กิโลตัน มักใช้กับระบบอาวุธทั่วไป เช่น ปืนใหญ่หรือเครื่องบินจู่โจมในระยะสั้น

เป้าหมายการใช้แบบนี้คือการสลายกองกำลังศัตรูในสนามรบนี้

เป็นได้ทั้งเพื่อการโจมตีในการรุก (offensive)

และเป็นได้ทั้งเป็นการตั้งรับ (defensive)

อาวุธนิวเคลียร์ใช้เป็นอาวุธในการตั้งรับ (defensive) ด้วยหรือ?

คำตอบคือได้

เช่น เมื่อฝ่ายหนึ่งเห็นกองกำลังของศัตรูเตรียมโจมตีคุณ ก็อาจจะทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีลงไปเพื่อสลายกองกำลังของฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อสกัดกั้นการโจมตีก่อน

อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ใกล้กับกองกำลังที่เป็นมิตรหรือแม้กระทั่งในเขตแดนที่เป็นมิตร

ด้วยเหตุนี้ อาวุธเหล่านี้จึงให้พลังทำลายค่อนข้างต่ำและผลกระทบน้อย

แต่ก็ต้องการจะข่มขู่ฝ่ายตรงกันข้ามให้กลัวด้วยเช่นกัน

ส่วน “นิวเคลียร์เชิงกลยุทธ์” นั้นเป็นเรื่องใหญ่ มีพลังการทำลายล้างสูง

นั่นคือขีปนาวุธพิสัยไกลขนาดใหญ่ยิงใส่เป้าหมายที่มีมูลค่าสูงในดินแดนของศัตรู

เช่น ท่าเรือ ฐานทัพทหาร ศูนย์บัญชาการและควบคุม ขีปนาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายตรงกันข้าม

การตัดสินใจใช้ Strategic Nuclear Weapons คือการพุ่งเป้าทำลายความสามารถของศัตรูในการทำสงคราม

ซึ่งบางครั้งก็รวมถึงเป้าหมายพลเรือน เพราะไม่อาจจะควบคุมรัศมีการทำลายล้างของระเบิดที่มีอำนาจการทำลายล้างสูงได้เสมอไป

หากเราเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ ที่ถูกทิ้งลงเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่มีกว่าหลายแสนคน อาวุธนิวเคลียร์วันนี้สามารถทำลายล้างได้มากกว่านั้นถึง 500 เท่า!

ปูตินปฏิเสธข้อกล่าวหาจากสหรัฐฯ ที่ว่ามอสโกกำลังวางแผนจะใช้อาวุธนิวเคลียร์แบบยุทธวิธีในยูเครน

แม้ว่าจะเคยสั่งให้หน่วยรบเกี่ยวกับนิวเคลียร์ของรัสเซียให้ “เตรียมพร้อม” ตอนที่เริ่มสงครามใหม่ๆ

แต่เมื่อสัปดาห์ก่อน ปูตินยืนยันเป็นครั้งแรกในประเด็นการบุกตอบโต้ของยูเครนว่าไม่ได้ทำให้รัสเซียต้องเปลี่ยนแผน

ยูเครนอ้างว่าการบุกโจมตีตอบโต้ของกองทัพของตนทำให้สามารถยึดพื้นที่คืนมาได้กว่า 8,000 ตร.กม. ในช่วงเวลาแค่ 6 วัน ในภูมิภาคคาร์คิฟทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน

แต่ปูตินย้ำว่ารัสเซียไม่ได้เร่งรีบอะไร ยังทำตามขั้นตอนที่วางเอาไว้เดิม

และปฏิบัติการในภูมิภาคดอนบาสยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ปูตินยังเกทับว่า ถึงตอนนี้รัสเซียยังไม่ได้ใช้กำลังทหารอย่างเต็มที่เท่าที่มีเลย

"ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในภูมิภาคดอนบาสไม่ได้หยุดยั้งลง แต่ยังเดินหน้าต่อ ไม่ได้เร่งรัดอะไร ค่อยๆ ยึดพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ"

นั่นคือถ้อยแถลงของปูตินหลังการประชุมสุดยอดที่อุซเบกิสถานของ Shanghai Cooperation Organization

ปูตินสำทับด้วยว่าจะมีการตอบโต้ที่ "รุนแรงมากขึ้น" หากยูเครนยังโจมตีต่อเนื่อง

ต่อมาในวันเดียวกัน ไบเดนแห่งสหรัฐฯ ออกโรงเตือนรัสเซียว่าอย่าใช้อาวุธเคมีหรืออาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีเพื่อทำสงครามในยูเครน

ไบเดนบอกรายการ 60 Minutes ของ CBX News ว่าถ้ารัสเซียใช้อาวุธร้ายแรงก็จะเท่ากับเป็นการ "พลิกโฉมการเผชิญหน้ากันในสงคราม ในแบบที่ไม่เคยพบเจอมาก่อนตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2"

แต่ไบเดนไม่ได้บอกว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้อย่างไรหากมีการใช้อาวุธดังกล่าวขึ้นมาจริงๆ

ประเทศมหาอำนาจในโลกที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในคลังแสงคือ รัสเซีย, สหรัฐฯ, จีน

เชื่อกันว่ารัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 5,977 ชุด

ทั้งนี้ เป็นไปตามรายงานของสหพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists--FAS)

ในรายการนั้น พิธีกรถามไบเดนว่าจะบอกอะไรกับปูติน ถ้าเขากำลังพิจารณาใช้อาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูงในยูเครน

"อย่า อย่า อย่า" คือคำเตือนจากไบเดน

แล้วถ้าปูติน “ล้ำเส้น” ล่ะ?

ไบเดนสวนทันทีว่า

"คุณคิดว่าผมจะบอกคุณถ้าผมรู้ว่ามันคืออะไรหรือ แน่นอนผมจะไม่บอกคุณ แต่มันจะมีผลกระทบตามมาแน่นอน" และย้ำว่า

"พวกเขา (รัสเซีย) จะกลายเป็นคนนอกคอกของโลกใบนี้มากกว่าที่เคยเป็นมา และขึ้นอยู่กับขอบเขตของสิ่งที่พวกเขาทำ จะเป็นตัวกำหนดว่าการตอบสนองจะเกิดขึ้นอย่างไร"

เอาเข้าจริงๆ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ ก็คงหนีไม่พ้นต้องเจอกับการตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์

นั่นหมายถึงหายนะของมนุษยชาติที่ทุกฝ่ายพยายามจะหลีกเลี่ยง

แต่จะอันตรายอยู่ที่การ “ประเมินผิดพลาด” หรือ miscalculation อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง

และนั่นอาจจะนำไปสู่การใช้อาวุธร้ายแรงที่อยู่เหนือการควบคุมของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เช่นที่ ดมิทรี เมดเวเดฟ, รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย, คนสนิทของปูตินที่เพิ่งออกมาบอกว่า ถ้ารัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครน ประเทศนาโตและสหภาพยุโรปก็อาจจะไม่มาช่วยยูเครน เพราะย่อมจะต้องกังวลความมั่นคงปลอดภัยของตนมากกว่า

นี่เป็นตัวอย่างของการ “ประเมินผิดพลาด” หรือเปล่า เป็นประเด็นที่ต้องมีการวิเคราะห์กันอย่างรอบด้านจริงๆ

เพราะหากประเมินผิด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด จุดล่มสลายของมนุษยชาติไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่เราคิด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้