จับตามหาอำนาจใช้เวทีประชุม สุดยอด APEC เล่นเกมอะไรต่อกัน

การประชุมสุดยอดผู้นำโลกใน 3 เวทีของประเทศอาเซียนในเดือนหน้านี้ หนีไม่พ้นว่าจะต้องสะท้อนถึงความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างมหาอำนาจในขณะนี้

คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ บอกนักข่าววันก่อนว่า บางประเทศไม่อยากให้บอกว่าผู้นำของเขาจะมาร่วมประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงเทพฯ หรือไม่

เหตุเพราะกลัวความไม่ปลอดภัย และ “ไม่อยากให้รู้กันมากนัก”

นั่นอาจจะเกี่ยวกับความกังวลเรื่องมาตรการความปลอดภัยส่วนตัวของผู้นำ

หรืออาจจะเป็นเพราะยังกำลังประเมินว่าผู้นำของประเทศที่เป็นคู่กรณีจะมาร่วมประชุมหรือไม่อย่างไร

แต่ค่อนข้างจะแน่ชัดว่า แม้ในเวทีประชุมคู่ขนานของเอกชนว่าด้วย APEC  ก็เริ่มจะเห็นเค้าลางของความขัดแย้งพอสมควรแล้ว

เวทีนั้นคือ ABAC หรือ APEC Business Advisory Council  หรือสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก

ซึ่งเป็นการร่วมตัวของผู้นำฝ่ายเอกชนชั้นนำของ 21 เขตเศรษฐกิจ

โดยที่ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยของเราคือ คุณเกรียงไกร เธียรนุกูล เป็นประธาน เพราะความเป็นเจ้าภาพของไทยเรา

มีการประชุมมาแล้ว 3 ครั้ง ที่สิงคโปร์, แคนาดา และเวียดนาม

ก่อนที่จะประชุมครั้งสุดท้ายที่กรุงเทพฯ เพื่อสรุปประเด็นที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศว่าด้วยการแก้ไขวิกฤตของโลกด้านเศรษฐกิจ, ความยั่งยืน, ความเหลื่อมล้ำ, และการตั้งกลุ่มใหม่เพื่อการประสานงานด้านเขตการค้าเสรี

ชื่อกลุ่มใหม่ที่ถูกเสนอขึ้นคือ FTAAP (Free Trade Area, Asia Pacific) เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือเรื่องการค้าเสรีในมวลหมู่สมาชิกของเอเปกเป็นสำคัญ

ข้อเสนอของ ABAC มีรายละเอียดที่น่าสนใจทั้งที่เป็นปัญหาวิกฤตปัจจุบันอันเกิดจากสงครามยูเครน เช่น พลังงาน, logistics, ความมั่นคงทางอาหาร และความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนรวยรวยขึ้น แต่คนจนจะจนลงอย่างน่ากลัว

บรรยากาศในการประชุมที่ผ่านมานั้น  คนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เล่าให้ฟังว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจและพันธมิตรของตนเริ่มจะมีเค้าลางชัดขึ้น

ทั้งๆ ที่ในอดีตนั้น เวทีเอเปกจะหลีกเลี่ยงประเด็นความขัดแย้งเรื่องการเมืองและความมั่นคง

แต่การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มด้านตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ และกลุ่มที่นำโดยจีนและรัสเซีย ทำให้มีบรรยากาศความขัดแย้งที่ชัดเจนขึ้น

เช่น กลุ่มที่นำโดยตะวันตกจะกล่าวหารัสเซียที่ก่อสงครามยูเครนว่าเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อและวิกฤตเศรษฐกิจ

ทำให้ตัวแทนจากรัสเซียในที่ประชุมต้องแย้งว่า ขอให้แยกการเมืองออกจากเรื่องการเมืองและความมั่นคง

ส่วนตัวแทนจีนก็ยืนยันว่าจะต้องไม่ให้ตะวันตกมาก้าวก่ายแทรกแซงเรื่องของเอเชีย-แปซิฟิก

ตัวแทนจีนจะไม่ยอมให้ใช้คำว่า Indo-Pacific ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ริเริ่มใช้

โดยจีนเน้นว่าประเทศในภูมิภาคนี้ต้องยืนยันว่ากิจกรรมของ Asia-Pacific จะต้องไม่ถูกตะวันตกมาแทรกแซง

แม้แต่ถ้อยคำที่จะใช้ก็มีการถกแถลงกันอย่างกว้างขวาง

หลายประเทศไม่ต้องการให้ใช้คำว่า conflict หรือ tension

อันหมายถึง “ความขัดแย้ง” หรือ “ความตึงเครียด”

ยิ่งคำว่า Geopolitical conflict หรือ “ความขัดแย้งในแง่ภูมิรัฐศาสตร์” ยิ่งได้รับการคัดค้านจากฝ่ายจีน

อีกเวทีหนึ่งคือการประชุมสุดยอดผู้นำ ASEAN ที่จะจัดขึ้นระหว่าง 13-14 พฤศจิกายนที่กัมพูชา ในฐานะประธานหมุนเวียนนั้น ก็มีประเด็นการเมืองของพม่าเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว

กัมพูชา ในฐานะประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประจำปีนี้ เผยแพร่แถลงการณ์ระบุว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

เหตุผลเป็นเพราะไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามฉันทามติ 5 ข้อที่มีการตกลงไว้กับรัฐบาลทหารเมียนมา

แต่กัมพูชาบอกว่าจะยังคงเปิดกว้างให้รัฐบาลทหารเมียนมาเสนอชื่อ “ผู้แทนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง” เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนแทน

ชัดเจนว่านี้คือประเด็นการเมืองระหว่างประเทศที่มีผลต่อรูปแบบของการประชุมสุดยอด

นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลทหารเมียนมา ถูกปฏิเสธจากเวทีระดับนานาชาติหลังจากที่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

หากจำได้ ในเดือนตุลาคม ปีเดียวกันนั้น ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่บรูไน เจ้าภาพการประชุมไม่ยอมเชิญนายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วม

ต่อมาในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จัดขึ้นในกรุงพนมเปญเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม ก็แสดงการคว่ำบาตรด้วยการไม่เชิญรัฐมนตรีเมียนมาเข้าร่วมเช่นกัน

ดังนั้น การประชุมระดับผู้นำในทั้ง 3 เวที เจ้าภาพก็คงจะต้องเตรียมตัวบริหารความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการแสดงจุดยืนของกลุ่มก้อนที่กำลังมีปัญหาระหว่างกันอย่างโจ่งแจ้ง

ผมจะไม่แปลกใจหากมีการแสดงความไม่พอใจของตัวแทนบางประเทศที่จะ “เดินออกนอกห้องประชุม” หรือ Walk-out เพื่อประท้วงการแสดงออกของกลุ่มประเทศอีกด้านหนึ่งแน่นอน

น่าจับตาว่าตัวแทนของอินเดียจะแสดงท่าทีอย่างไรในการประชุมทั้ง 3 เวที

เพราะอินเดียได้แสดงออกถึงการทูตแบบ “ไม่เข้าข้างฝ่ายใด” และเรียกร้องให้คู่กรณีหันมายุติปัญหาด้วยการเจรจาเสีย

ล่าสุด ผู้นำอินเดียโทรศัพท์คุยผู้นำยูเครน โดย 'โมดี' ย้ำกำลังทหารแก้ปัญหาไม่ได้ และย้ำว่าอินเดียพร้อมเดินหน้าช่วยสร้างสันติภาพในยูเครน

และ 'เซเลนสกี' แสดงความขอบคุณอินเดียที่สนับสนุนอธิปไตยในยูเครน

และเชิญผู้นำอินเดียเยือนยูเครน

และต้องจับตาว่าในที่ประชุมแต่ละเวทีนั้น จะมีประเทศใดแสดงความเห็นต่อท่าทีของอินเดียที่ซื้อพลังงานราคาถูกจากรัสเซียหรือไม่

สำนักนายกรัฐมนตรีอินเดียออกแถลงการณ์ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ยกหูถึงโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าโมดีได้ย้ำว่าสงครามไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้

และย้ำว่าอินเดียพร้อมที่จะเดินหน้าเพื่อสันติภาพ

จึงน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า มหาอำนาจแต่ละค่ายจะใช้เวทีทั้งสามแห่งนี้เล่นเกมอะไรกันบ้าง

ห้ามกะพริบตากันเลยทีเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด

สิงคโปร์ผลัดใบการเมืองครั้งสำคัญ ‘หลี่’ (72) ส่งไม้ต่อ ‘หว่อง’ (52)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ Lawrence Wong ที่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ต้องถือว่ามาจากครอบครัวชนชั้นทำงานจริง ๆ

“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

ไบเดนควงคิชิดะ มาร์กอสประกาศสกัดการขยายอิทธิพลจีน!

ผมเห็นนายกฯฟูมิโอะ คิชิดะของญี่ปุ่นปราศรัยต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯเป็นภาษาอังกฤษปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากล่าวหาจีนว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อภูมิภาคนี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน” แล้วก็พอจะรู้ว่าความตึงเครียดจะต้องถูกยกระดับขึ้นมาอย่างแน่นอน