วงการทูตการทหารปั่นป่วน : จรวดลงโปแลนด์มาจากไหน?

กลายเป็นเรื่องร้อนแรงเมื่อระเบิดไปลงในเขตโปแลนด์ ห่างจากชายแดนยูเครนเพียง 10 กิโลเมตร

คำถามที่เกิดขึ้นทันทีคือ ขีปนาวุธนั้นมาจากไหน?

ตอนเกิดข่าวใหม่ๆ ยูเครนชี้นิ้วไปที่รัสเซีย มอสโกปฏิเสธ ต่อมาอีกไม่กี่ชั่วโมง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งประชุม G-20 อยู่ที่บาหลีบอกว่า ขีปนาวุธนั้นไม่น่าจะมาจากรัสเซีย

ต่อมาเลขาธิการนาโตบอกว่า “การสอบสวนเบื้องต้น” ชี้ไปว่าอาจจะมาจากระบบต่อต้านอากาศยานของยูเครนที่กำลังสกัดขีปนาวุธของรัสเซีย

กลายเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครมีเจตนาจะให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝั่งรัสเซียหรือยูเครน

แต่นาโตก็ยังยืนยันว่า เรื่องอย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าหากรัสเซียไม่รุกรานยูเครน

ทันทีทันใดนั้นแวดวงการทูตระหว่างประเทศก็ตกอยู่ในภาวะสับสนวุ่นวาย

เกิดวิวาทะว่าใครเป็นผู้ต้องรับผิดชอบกันแน่

เพราะขีปนาวุธที่ตกลงในหมู่บ้านที่ชื่อ Przewodow ในโปแลนด์ที่ใกล้กับพรมแดนยูเครนนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน 

และเกิดขึ้นหลังจากรัสเซียระดมยิงขีปนาวุธโจมตียูเครนระลอกใหม่ทั่วประเทศเพียงวันเดียว

ไม่กี่วันหลังจากถอนทหารออกจากเมืองแคร์ซอนทางใต้ของยูเครน ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะโปแลนด์เป็นสมาชิกนาโต

เลขาธิการนาโตบอกว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาจากระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานของยูเครน

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตย้ำว่า รัสเซียเป็นฝ่ายต้องรับผิดชอบต่อการรุกรานยูเครนที่ทำให้เกิดเรื่องอย่างนี้

รัฐบาลยูเครนย้ำว่า ขีปนาวุธที่ก่อเรื่องนี้เป็นของกองทัพรัสเซีย

ประธานาธิบดีเซเลนสกียืนยันว่า “ผมเชื่อมั่นว่า นั่นไม่ใช่ขีปนาวุธของเรา”

และเรียกร้องให้ตัวแทนของยูเครนได้เข้าร่วมในการสอบสวนกรณีนี้ด้วย

กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า ข้อกล่าวหาจากยูเครนเป็น “การจงใจยั่วยุให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น”

ตอนเกิดเรื่องใหม่ๆ ประธานาธิบดีอันเดรจ ดูดา ของโปแลนด์ บอกว่า ทีมสืบสวนกำลังเร่งประเมินความเป็นไปได้ทั้งหมด   

เขาบอกว่ายังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าใครคือผู้ยิงขีปนาวุธลูกนี้

ตอนแรกก็เชื่อว่ามาจากรัสเซีย แต่อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเขาบอกว่า “มีความเป็นไปได้สูง” ที่ขีปนาวุธดังกล่าวมาจากระบบป้องกันภัยทางอากาศของยูเครน

และมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นอุบัติเหตุ ไม่มีฝ่ายใดเจตนาจะโจมตีโปแลนด์แต่อย่างใด

เหตุระเบิดเกิดระหว่างที่ผู้นำโลกกำลังร่วมการประชุมจี 20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย จึงทำให้เกิดความโกลาหลในแวดวงการทูตทันที

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาบอกว่า “ไม่น่าเป็นไปได้” ที่รัสเซียจะยิงขีปนาวุธลูกนี้

และบอกว่าได้ยกหูพูดคุยกับประธานาธิบดีโปแลนด์แล้ว

ผู้นำชาติตะวันตกที่ไปร่วมประชุมจี 20 ออกแถลงการณ์ประณาม “การโจมตีด้วยขีปนาวุธที่ป่าเถื่อน” ของรัสเซียต่อเมืองต่างๆ ทั่วยูเครน

จีนวางตัวเป็นผู้ใหญ่ ขอให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบและใช้ความอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่อยากเห็นสถานการณ์บานปลาย

เพราะโปแลนด์เป็นสมาชิกนาโต เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นร้อน

เพราะหากโปแลนด์ถูกโจมตีจริง ก็อาจเข้าข่ายที่โปแลนด์จะขอความช่วยเหลือด้านการทหารจากนาโตได้

โดยมีการอ้างถึงการที่อาจจะขอใช้มาตรา 4 ของสนธิสัญญานาโต

นั่นหมายความว่าโปแลนด์มีสิทธิ์ขอ “หารือ” ต่อที่ประชุมนาโตถึงข้อกังวลว่ากรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นภัยคุกคามต่อบูรณภาพแห่งดินแดน เอกราชทางการเมือง หรือความมั่นคงของชาติหรือไม่

หากที่ประชุมเห็นว่าเป็นภัยคุกคามจริงก็อาจจะนำไปสู่การใช้มาตรา 5 ซึ่งหมายความว่าชาติสมาชิกนาโตทั้งหมดต้องเข้าร่วมกันปกป้องชาติสมาชิกที่ถูกโจมตี

ตามหลัก One for All and All for One   หมายความว่า สมาชิกทั้งหมด 30 ประเทศ ถือว่าสมาชิกใดถูกโจมตีหรือคุกคามก็เท่ากับคุกคามสมาชิกทั้งหมด

โปแลนด์ระบุว่า ขีปนาวุธที่ตกลงมาในดินแดนของตนอาจเป็นจรวดรุ่น S-300

ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธยุคสหภาพโซเวียตที่มีใช้ทั้งในยูเครนและรัสเซีย

S-300 เป็นชื่อรุ่นของขีปนาวุธพื้นสู่อากาศที่พัฒนาโดยสหภาพโซเวียต ถูกใช้งานครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 หลังใช้เวลาพัฒนา 10 ปี

แต่ S-300 มีหลายรุ่น ซึ่งมีศักยภาพทางเทคนิคและพิสัยการยิงต่างกันไป

รุ่นมาตรฐานจะมีพิสัยการยิงไกลที่สุด 150 กิโลเมตร และมีหัวรบหนัก 133-143 กิโลกรัม

แต่ไม่อาจจะระบุชัดเจนว่าขีปนาวุธที่ลงไปในหมู่บ้านโปแลนด์นั้นเป็นประเภทใด

ประเทศที่ใช้งานขีปนาวุธประเภทนี้ มีทั้งรัสเซีย ยูเครน และอีก 18 ประเทศ รวมทั้งประเทศสมาชิกนาโต เช่น กรีซ สโลวัก และบัลแกเรีย

รัสเซียเคยขายขีปนาวุธ S-300 ให้แก่หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวเนซุเอลา จีน อิหร่าน อียิปต์

รัสเซียใช้ขีปนาวุธ S-300 ในซีเรีย และติดตั้งขีปนาวุธนี้ในคาบสมุทรไครเมียเช่นกัน

พอเกิดเรื่องนี้ ยูเครนก็ร้องขอให้นาโตช่วย “ปิดน่านฟ้า” ของตนไม่ให้รัสเซียถล่มโจมตีทางอากาศอย่างหนักอย่างที่ทำมาหลายรอบ

แต่นาโตก็ยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องนี้ เพราะกลัวว่าหากทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการเปิดหน้าชกตรงกับรัสเซียบนน่านฟ้าของยูเครน

เท่ากับทำให้สงครามบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโต

ซึ่งจะกลายเป็นสถานการณ์ที่อาจจะอยู่เหนือการควบคุมของทุกฝ่าย  และอาจจะนำไปสู่สงครามทั่วทวีปยุโรป

อันเป็นฉากทัศน์ที่ไม่พึงปรารถนาอย่างยิ่งสำหรับคนทั้งโลก!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

บทเรียนสีหนุวิลล์สำหรับไทย

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของจีนกับกัมพูชามาในหลายรูปแบบ...และหนึ่งในนั้นคือการสร้างสีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางด้านความบันเทิง หรือที่เรียกว่า Entertainment Complex

อิหร่าน-อิสราเอล: ทุกฉากทัศน์ล้วนเสี่ยงสูง

คณะรัฐมนตรีสงครามหรือ War Cabinet ของอิสราเอลประชุมกันเคร่งเครียดมาหลายรอบ...สรุปได้เพียงว่าจะต้องตอบโต้อิหร่านแน่...แต่ไม่ระบุว่าเมื่อไหร่และด้วยยุทธการแบบใด