Oxfam: ทางรอดของอภิมหาเศรษฐี

     องค์การอ็อกแฟม (Oxfam International) เป็นองค์กรภาคประชาสังคม ทำงานด้านเศรษฐกิจ เน้นการกระจายรายได้ มกราคม 2023 นำเสนอรายงานความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและทางแก้ ฉบับนี้ตั้งชื่อว่า ‘Survival of the Richest’ หรือ ‘ทางรอดของอภิมหาเศรษฐี’ มีสาระสำคัญดังนี้

ต้องเก็บภาษีพวกที่เหลือกินเหลือใช้:

     ในขณะที่เราพูดว่าโลกกำลังเผชิญวิกฤตหลายด้านพร้อมกัน มีผู้อดยากหิวโหยเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบล้านคน ความจริงที่น่าเศร้าคือ โลกไม่ได้ขาดอาหาร โลกผลิตอาหารมากพอสำหรับทุกคน แต่ที่ทุกวันนี้ 811 ล้านคนอดอยากเพราะยากจนหรืออยู่ในสถานการณ์ที่อาหารหายาก (เช่น ภัยสงคราม) ยากจะเข้าถึงแหล่งอาหาร ดังนั้นในขณะที่หลายคนกินมื้อละหลายร้อยหลายพันหรือแพงกว่านั้น อีกหลายคนไม่มีกิน

ภาพ: เก็บภาษีเศรษฐีพันล้าน ไม่ใช่จากกรรมกร
เครดิตภาพ: https://oi-files-d8-prod.s3.eu-west-2.amazonaws.com/s3fs-public/2023-01/Survival%20of%20the%20richest-Full%20Report.pdf

ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในยามนี้ยิ่งทำให้ 811 ล้านคนทุกข์ยากกว่าเดิม หลายคนพึ่งพาอาหารที่ได้รับบริจาค บัดนี้เงินบริจาคเท่าเดิมแต่อาหารแพงขึ้นมาก จากที่ไม่ค่อยมีกินอยู่แล้วต้องอดหนักกว่าเดิมอีก

     มองไปที่ใดมีแต่คนบ่นว่าของแพง ค่าครองชีพพุ่ง จำนวนคนยากจนสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี แต่ในโลกใบเดียวกันนี้มีอภิมหาเศรษฐีกลุ่มเล็กๆ จำนวนหนึ่งรวยขึ้นและรวยขึ้นมาก บริษัทของพวกเขาทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ไม่แปลกที่ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างออกไป

    ทางออกคือ ต้องเก็บภาษีพวกที่เหลือกินเหลือใช้เหล่านี้ อันจะก่อประโยชน์ต่อระบบการเมืองเศรษฐกิจสังคม ลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ ช่วยให้โลกยั่งยืน ปลดปล่อยจากทาสความจน

     ข้อสรุปสำคัญคือ นับจากปี 2020 เป็นต้นมา คน 1% ของโลกกวาดเก็บความมั่งคั่ง 2 ใน 3 ของโลก ความมั่งคั่งที่เหลืออีก 1 ใน 3 เป็นของประชากรโลก 99% ถ้าคิดเป็นตัวเลขจากประชากรโลก 8,000 ล้านคน จะเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคน 80 ล้านคน กับ 7,920 ล้านคนที่เหลือ

     รู้หรือไม่ว่ากลุ่มมหาเศรษฐีมีฐานะดีขึ้น 2,700 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ในขณะที่ 1,700 ล้านคนเจอปัญหาค่าจ้างสู้เงินเฟ้อไม่ไหว รายได้ไม่พอรายจ่าย

     ปี 2022 กลุ่มธุรกิจอาหารกับพลังงานทำกำไรมากกว่าปกติกว่า 2 เท่า จ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้น 257,000 ล้านดอลลาร์ ท่ามกลางสินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน กว่า 800 ล้านคนทั่วโลกอยู่อย่างอดอยากหิวโหย

     มีข้อสรุปว่าเศรษฐีเสียภาษี 4 เซ็นต์ต่อทุกดอลลาร์ที่เขามี เศรษฐีพันล้านครึ่งหนึ่งของโลกไม่ต้องเสียภาษีมรดก หากเก็บภาษีคนรวย 5% จะได้เงิน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เงินก้อนนี้ช่วยให้ 2,000 ล้านคนพ้นความยากจน ไม่มีใครในโลกที่อดอยากหิวโหยอีก

วิกฤตกาล สารพัดความทุกข์ยาก:

     เมื่อกวาดตาสถานการณ์โลกตอนนี้จะพบว่า มีวิกฤตหลายอย่างที่รุนแรงเป็นอันตรายอยู่เสมอ กระทบชีวิตความเป็นอยู่คนส่วนใหญ่ ปี 2022 ธนาคารโลกประกาศยอมรับพลาดเป้าลดความยากจนข้นแค้น (extreme poverty) แน่ล่ะหมายถึงความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นด้วย

     ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า ปี 2023 เศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดจะถดถอย ส่วนสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) รายงานว่าตัวเลขดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index) 9 ใน 10 ประเทศลดน้อยลง ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตตกต่ำลง มนุษย์ได้รับการพัฒนาน้อยลง

     เหล่านี้เป็นข้อมูลจากสถาบันสำคัญๆ ของโลกที่บ่งชี้ว่ามนุษย์โลกตอนนี้อยู่กันอย่างไร กำลังจะไปสู่ทิศทางใด นอกเหนือจากข้อมูลของอ็อกแฟมที่สรุปว่าประชากรโลก 1,700 ล้านคนที่ตอนนี้รายได้ค่าจ้างสู้เงินเฟ้อไม่ไหว

     หลายประเทศกำลังจะถังแตก หนี้สาธารณะมีแต่จะเพิ่มชนิดยั้งไม่อยู่ คนยากจนมีชีวิตอยู่กับหนี้สิน ในประเทศที่ยากจนที่สุดงบประมาณที่นำไปใช้หนี้สูงกว่างบสาธารณสุขกว่า 4 เท่าตัว คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า 3 ใน 4 ประเทศจะตัดลดการใช้จ่าย

     ตลกร้ายคือ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยากจนลง ทุกข์ยากมากขึ้น กลับมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ร่ำรวยขึ้นมหาศาล ร่ำรวยเร็วขึ้นกว่าเดิม 10 ปีก่อนคน 1% ของโลกเก็บเกี่ยวความมั่งคั่งกว่าครึ่งของโลก ทิศทางที่คนรวยรวยขึ้นนับวันจะรุนแรง นับจากปี 2020 เป็นต้นมา คน 1% ของโลกกวาดเก็บความมั่งคั่ง 2 ใน 3 ของโลก เห็นชัดว่าโลกเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงและกำลังเหลื่อมล้ำมากขึ้น ถ้านำความมั่งคั่งทั้งหมดมาคำนวณตามสัดส่วน 1% กับ 90% จะพบว่าในขณะที่ 90% ของประชากรโลกมีรายได้เฉลี่ย 1 ดอลลาร์ต่อวันต่อคน 1% ที่อยู่ในกลุ่มมหาเศรษฐีนั้นมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มวันละ 1.7 ล้านดอลลาร์ต่อคน

     ช่วงโควิด-19 ระบาด หลายคนตกงาน หลายคนไม่สามารถออกไปหาเงินนอกบ้าน แต่กิจการของเศรษฐีพันล้านกลับเฟื่องฟู ณ ตอนนี้ที่เงินเฟ้อพุ่ง สินค้าขึ้นราคา โดยเฉพาะหมวดอาหารกับพลังงาน กระทบคนจำนวนมาก แต่กิจการของบรรษัทยักษ์ใหญ่กลับมีกำไรเพิ่ม ผู้ถือหุ้นรับทรัพย์ก้อนโตถ้วนหน้า

     ตลกร้ายอีกเรื่องคือ ในขณะที่เศรษฐีมั่งคั่งขึ้น พวกเขากลับเสียภาษีน้อยลง ภาษีรายได้ของอภิมหาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ OECD จาก 58% ในปี 1980 ลดลงเหลือ 42% ปัจจุบันค่าเฉลี่ยภาษีนี้ใน 100 ประเทศอยู่ที่ 31% ในบางกรณี เช่น Elon Musk เสียภาษีจริงๆ (true tax rate) แค่ 3.2% Jeff Bezos เสียภาษีไม่ถึง 1%

     หากจะแก้วิกฤตที่รุมเร้าจำต้องแก้ด้วยการเก็บภาษีคนรวยและบรรษัทต่างๆ อันจะช่วยลดมาตรการรัดเข็มขัดของภาครัฐ ลดเงินเฟ้อ ลดราคาสินค้า ลดความอดอยาก ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณลงทุน เพิ่มงบสาธารณสุข เพิ่มงบกระทรวงศึกษา สร้างเศรษฐกิจสีเขียว

     ความยากจนเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาหนึ่ง แต่ปัญหามีมากกว่านั้น ผลของความยากจนจะบั่นทอนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชัน บั่นทอนประชาธิปไตย เกิดการเมืองเลือกข้าง พวกมหาเศรษฐีนี่แหละที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าคนทั่วไป

     ด้วยการเก็บภาษีคนรวย (wealth tax) 2% จากเศรษฐีเงินล้าน (world’s millionaires) 3% จากพวกที่มีมากกว่า 50 ล้าน และ 5% จากพวกเศรษฐีพันล้าน จะสามารถระดมเงินได้ถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี มากพอที่จะทำให้ 2,000 ล้านคนหายจน โลกเท่าเทียมมากขึ้นทันที ลดการกดขี่ได้มากมาย ลดการใช้อำนาจในทางที่มิชอบ

     ผลโพลหลายสำนักจากหลายประเทศให้ข้อสรุปตรงกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเก็บภาษีคนรวย

     ถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนเศรษฐกิจแนวใหม่ สร้างโลกที่เสมอภาคมากขึ้น คนยากจนมีการศึกษาดีขึ้น สุขภาพได้รับการดูแลมากขึ้น ที่สุดแล้วการกระจายความมั่งคั่งจะช่วยให้เศรษฐีรวยขึ้นกว่าเดิมเพราะเศรษฐกิจเติบโตขยายตัวอย่างยั่งยืน เรื่องเหล่านี้ขึ้นกับนโยบายรัฐบาลโดยแท้ ขึ้นกับว่ารัฐบาลประเทศนั้นๆ จะทำหรือไม่

อภิมหาเศรษฐีควรเสียภาษีเท่าไหร่:

     มีคำถามว่ากลุ่มคนร่ำรวยที่สุดของโลก 1% แรกควรเสียภาษีเท่าไหร่ องค์การอ็อกแฟมเห็นว่าคนกลุ่มนี้ควรเสียภาษี 60% ของรายได้รวมทุกช่องทาง ทั้งจากกิจการและจากการลงทุน ตัวเลข 60% นี้คิดเป็น 2 เท่าของอัตราภาษีเฉลี่ยที่ตอนนี้เศรษฐีต้องจ่ายตามกฎหมาย ต้องเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดกซึ่งจะลดการสะสมความมั่งคั่ง ลดการสะสมอำนาจผ่านเงินตรา

     และควรเก็บภาษีอันเนื่องจากการลงทุนให้หนักกว่าการเก็บภาษีรายได้ที่มาจากการทำงาน ซึ่งทุกวันนี้ภาษีรายได้จากการทำงานมักสูงกว่า

     การเก็บภาษีคนรวยควรทำพร้อมกันทุกประเทศ หยุดระบบเศรษฐกิจที่เอื้อเกิดมหาเศรษฐีพันล้านซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าระบบเศรษฐกิจผิดพลาด เป้าหมายสุดท้ายคือ ลดความเหลื่อมล้ำ การเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเป็นเครื่องมือที่ถูกต้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาตินิยมกับคลั่งชาติต่างกันอย่างไร

ชาตินิยมเป็นรากฐานการอยู่ร่วมกัน ประเทศไม่ได้ให้ทุกอย่างดังหวัง แต่ดีกว่าคนสิ้นชาติ ไม่เหลือประเทศกับคนรักให้ปกป้อง พวกคลั่งชาติจะรุกรานผู้อื่น

America First ในอีกมุมมอง (2)

แต่แล้วการเป็นสมาชิกนาโต พันธมิตรใกล้ชิดกลับไม่ปลอดภัยอีกต่อไป เมื่อสหรัฐต้องการครอบครองกรีนแลนด์ หวังให้แคนาดาสิ้นชาติ

America First ในอีกมุมมอง (1)

ถ้าสหรัฐไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ นโยบายใดๆ จะเป็นเพียงแค่บรรเทาอาการ โรคร้ายกระจายทั่วร่าง กัดกินจนถึงกระดูก ทำลายแม้กระทั่งจิตวิญญาณรากฐานอเมริกันชน ต่อให้รีเซตระเบียบโลกก็ช่วยไม่ได้

สหรัฐกระชับอำนาจโลกด้วยกำแพงภาษี

ฉากใหญ่ที่สำคัญกว่าคือ รัฐบาลสหรัฐกำลังจัดระเบียบโลกใหม่ โดยใช้การค้าระหว่างประเทศเป็นตัวเปิดหน้า เงื่อนไขของสหรัฐกับจีนกำลังสู้กัน นานาชาติกำลังปรับตัว

อาเซียน+3ผนึกกำลังต้านลัทธิคุ้มครองทางการค้า

อาเซียนไม่โดดเดี่ยว มีจีนกับญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่ม ช่วยให้สมาชิกผ่านพ้นมรสุมได้ดียิ่งขึ้น และน่าจะเห็นความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและเป็นรูปธรรมตามมา