เมื่อเบอร์หนึ่งสี จิ้นผิงได้คะแนน 100% นายกฯใหม่หลี่ เฉียงก็ต้องได้ 99.99%

สัปดาห์ที่ผ่านมา สายตาทั่วโลกมองไปที่ปักกิ่งจริง ๆ...เพราะความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระดับผู้นำของจีนจะมีผลกระทบต่อการเมือง, เศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เริ่มด้วยการรับรองโดยสภาประชาชนแห่งชาติให้สี จิ้นผิงเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศสมัยที่ 3

ถือเป็นประวัติศาสตร์การเมืองของจีนเลยทีเดียว เพราะหลังจากประธานเหมา เจ๋อตุงแล้วก็ไม่มีผู้นำจีนคนไหนได้นั่งตำแหน่งสูงสุดของประเทศเกินสองสมัย

สี จิ้นผิงเป็นทั้งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ (คุมพรรค)

เป็นทั้งประธานประเทศ (หรือ “ประธานาธิบดี” ในภาษาเรียกของประเทศอื่น) มีอำนาจคุมรัฐบาลผ่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

และเป็นทั้งประธานคณะกรรมาธิการกลางทหาร (คุมกองทัพ)

เรียกว่ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในทุกภาคส่วนของประเทศ

การลงมติในสภาฯเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สี จิ้นผิงได้คะแนนทุกคะแนนจากสมาชิก 2,952 อย่างเป็นเอกฉันท์

ช่อง “คัดค้าน” เป็นศูนย์

และช่อง “งดออกเสียง” ก็เป็นศูนย์เช่นกัน

ไม่มีใครหือใครอือแต่อย่างใด

นี่แหละที่เขาเรียกว่า “ประชาธิปไตยที่มีอัตลักษณ์จีน”

จีนอ้างว่าประชาธิปไตยภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์นั้นให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงผ่านกระบวนการคัดเลือกในระดับท้องถิ่นแล้ว

ในคำปฏิญาณตนรับตำแหน่งของสี จิ้นผิงนั้นนอกจากจะยืนยันจะปกปักรักษารัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังจะยอมให้ “ประชาชนตรวจสอบ” ในการทำหน้าที่อีกด้วย

วันต่อมา สภาฯจีนก็รับรองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่ คือนาย “หลี่ เฉียง”

คนคุ้นเคย มองตาก็รู้ใจของสี จิ้นผิง

หลี่ เฉียงในวัย 63 วันนี้เคยเป็นเบอร์หนึ่งของเซี่ยงไฮ้

และเคยรับหน้าที่เป็นเลขาฯของสี จิ้นผิงที่เจ้อเจียง เรียกว่ารู้ฝีมือกันอยู่แล้ว

ที่น่าสนใจคือการนับคะแนนให้การรับรองหลี่ เฉียงไม่ได้เป็นเอกฉันท์เบ็ดเสร็จเหมือนของสี จิ้นผิง

เขาได้ทั้งหมด 2,936 เสียง โดยมีเสียงคัดค้าน 3 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง

นี่ก็อาจจะเป็นการแสดงออกถึงความเป็น “ประชาธิปไตย” ของรัฐสภาจีนตรงที่ว่าไม่ใช่ว่าผู้นำทุกคนจะได้ความไว้วางใจจาก “ผู้แทนประชาชน” ทั่วประเทศเท่ากัน

เบอร์หนึ่งอย่างสี จิ้นผิงต้องได้ 100%

เบอร์สองอย่างหลี่ เฉียงก็ได้สัก 99.99% จะได้เห็นความแตกต่าง

ทุกความเคลื่อนไหวของจีนล้วนต้องตีความตามสัญลักษณ์ที่ปรากฏให้เห็น

หลี่ เฉียงมีความพิเศษตรงที่ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารรัฐบาลกลางมาก่อน

เขาไม่เคยเป็นรองนายกฯ เหมือนนายกฯคนก่อน ๆ ที่ต้องผ่านการทดสอบในหน้าที่งานการในรัฐบาลกลางเสียก่อนจึงจะสามารถก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งได้

แต่กรณีหลี่ เฉียงได้รับการยกเว้น

เป็นไปได้ว่าสี จิ้นผิงต้องการจะ “แหกประเพณี” เพราะต้องการเบอร์สองที่เขาสามารถวางใจได้เต็มที่ ไม่ต้องเหลียวหลังแลหน้าด้วยความไม่แน่ใจหากต้องลุยงานหนักที่รออยู่

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในกรณีหลี่ เฉียงคือการที่เขาเคยถูกวิจารณ์เรื่องโควิดล็อกดาวน์ไวรัสตอนบริหารเซี่ยงไฮ้

จนทำให้เกิดการประท้วงกลางถนน จนลามไปถึงการเรียกร้องทางการเมือง ตามมาด้วยการตัดสินใจของรัฐบาลจีนที่ให้ยกเลิกมาตรการเข้มข้นเกือบจะชั่วข้ามคืน

นั่นไม่เป็นรอยด่างสำหรับหลี่ เฉียงแต่อย่างไร

แต่เขาก็เคยได้รับคำชมที่สามารถดึงเอา Tesla มาสร้างโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าที่เซี่ยงไฮ้ เป็นการตอกย้ำถึงความล้ำสมัยของจีนในการต้อนรับการลงทุนยุคใหม่จากต่างประเทศ

รัศมีของหลี่ เฉียงเริ่มจะแผ่แสงแรงกล้าเมื่อเขาได้เข้าร่วมคณะกรรมการประจำโปลิตบูโรอันทรงอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ก้าวขึ้นมาในฐานะมือใหม่ในการบริหารราชการส่วนกลางที่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อนของจีน

เพราะรัฐบาลกลางของจีนต้องดูแลทั้งหมด 31 มณฑล เทศบาล และเขตปกครองตนเอง

หลี่ เฉียงเริ่มงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในมณฑลเจ้อเจียงบ้านเกิดของเขาเองและอยู่ที่นั้นกว่าสิบปี

ก่อนที่จะรับตำแหน่งเป็นเลขานุการของสี จิ้นผิงเป็นเวลาหลายปีตอนที่สีก้าวขึ้นในตำแหน่งระดับสูงในเขตอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของจีน

ต่อมา หลี่ เฉียงได้เลื่อนตำแหน่งให้เป็นเลขาธิการพรรคของมณฑลเจียงซู

และในปี 2017 เขากระโดดขึ้นไปเป็นเลขาธิการพรรคของเซี่ยงไฮ้

ในฐานะนายกรัฐมนตรี ภารกิจหลักของหลี่ เฉียงคือการกำกับควบคุมและบริหารเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทางการตั้งเป้าว่าจะต้องโตประมาณ 5% สำหรับปีนี้...จากที่ร่วงลงไปที่ 3% เมื่อปีที่แล้วโดยมีสาเหตุสำคัญคือการระบาดของโควิดและการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

การที่จีดีพีของจีนโตเพียง 3% เมื่อปีที่ผ่านมาถือเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบหลายทศวรรษและต่ำกว่าเป้าหมายอย่างเป็นทางการที่ 5.5%

หลี่ เฉียงได้รับปริญญาบริหารธุรกิจบริหารจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกงในปี 2005 หลังจากที่เขาสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรเจ้อเจียงในปี 1982

ประวัติการทำงานของหลี่ เฉียงสะท้อนว่าเขาเชื่อในการเป็นนักปฏิรูปด้านธุรกิจและที่ค่อนข้างจะเข้าใจความสำคัญของเอกชนในการหนุนเนื่องให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อปี 2003 ระหว่างมีตำแหน่งระดับสูงที่เวินโจว หลี่ เฉียงเคยให้ความเห็นว่า

"หากไม่มีเศรษฐกิจภาคเอกชน การพัฒนาเมืองของเวินโจวจะถอยหลังไปอีกอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษ"

และในปี 2014 เขาบอกว่าประเทศจีน "ควรมีอาลีบาบาและแจ็ค มามากมากกว่านี้"

ถึงวันนี้ เมื่อสี จิ้นผิงพยายามจะกำกับควบคุมไม่ให้เหล่าบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีดัง ๆ ของจีนให้ลดบทบาทที่โดดเด่นเกินไป หลี่ เฉียงในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างไรจึงเป็นประเด็นที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

เมื่อปี 2015 หลี่ เฉียงย้ำว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นเรื่อง "ความเป็นความตาย” ต่อประเทศ

และยังย้ำว่า "รัฐบาลไม่สามารถเป็นรัฐบาลที่ไร้ขีดจำกัดได้ตลอดไป

นั่นแปลว่าบทบาทของรัฐจะต้องมีการจำกัดวงให้เหมาะสม ไม่ใช่จะทำได้ทุกเรื่องอย่างไม่มีข้อจำกัด

เขาเคยบอกว่า "ในการสร้างรัฐบาลสมัยใหม่ที่จำกัดแต่มีประสิทธิภาพ คุณต้องถ่ายโอนอำนาจการจัดการจำนวนมากไปยังองค์กรทางสังคม"

เคยมีรายงานข่าวว่าหลี่ เฉียงได้เคยเสนอแนะให้รัฐบาลผ่อนปรนการดำเนินการด้านกฎระเบียบต่อธุรกิจต่างๆ และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างธุรกิจกับรัฐบาลในช่วงที่รัฐบาลกำลังจัดการบริหารกำหนดขอบเขตของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ ๆ ทั้งหลาย

แต่นั่นคือแนวทางเดิมบนเส้นทางเติบใหญ่ของเขา

วันนี้ ในฐานะนายกฯและเบอร์สองรองจากสี จิ้นผิง หลี่ เฉียงจะปรับท่าทีและนำพาจีนไปในทิศทางไหนจึงเป็นหัวข้อที่ทั้งโลกกำลังจับตามองอยู่ขณะนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พม่าจะเดินตามรอยเกาหลีเหนือ? ทำไมจึงมีนักวิเคราะห์บางสายตั้งคำถามนี้?

เพราะมีข่าวหลายกระแสที่บ่งบอกไปในทิศทางที่ว่า ผู้นำทหารพม่ากำลังมองคิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็น “แม่แบบ” ของการสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศที่พยายามจะกดดันให้ต้องยอมเสียงเรียกร้องให้กลับไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สงครามพม่า: ไทยอาจมีสภาพเหมือน ‘โปแลนด์’ ของสงครามยูเครน?

ข้อสังเกตของอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ว่าไทยอาจกลายเป็น “โปแลนด์” ในกรณีสงครามกลางเมืองพม่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการวางยุทธศาสตร์ของไทยต่อสถานการณ์รอบบ้านเรา

ทำไม IMF กับ Apple ของจีนกันคนละมุม?

สองคนมองสองมุม ผู้อำนวยการ IMF เตือนว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงมาถึง “ทางสองแพร่ง” ต้องเลือกระหว่างนโยบายในอดีตหรือ “การปฏิรูปตลาด” เพื่อปลดล็อกการเติบโต

ปูติน-เซเลนสกีแลกหมัด กรณีเหตุก่อการร้ายมอสโก

ตกลงใครอยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายต่อโรงคอนเสิร์ตชานเมืองมอสโกที่มีคนตายกว่า 130 คนเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเหตุการณ์ระดับโลก?

คำเตือนก่อเหตุร้ายมอสโก มาจากตะวันตกก่อน 2 สัปดาห์

สองสัปดาห์ก่อนเกิดเรื่องใหญ่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯเตือนคนของตนในรัสเซียให้หลีกเลี่ยงที่ชุมนุมชนในกรุงมอสโกเพราะอาจจะมีการโจมตีของผู้ก่อการร้าย