เที่ยว‘นีกอมโบ’กับ‘มาร์ก แอนโทนี’

นีกอมโบเป็นเมืองที่อยู่ห่างจากกรุงโคลัมโบแค่ประมาณ 30 กิโลเมตร แต่ตั้งอยู่กันคนละเขต กรุงโคลัมโบอยู่เขตโคลัมโบ ส่วนนีกอมโบอยู่เขตกัมปาฮา ยังดีที่มีโอกาสได้อยู่ในจังหวัดเดียวกัน นั่นคือจังหวัดเวสเทิร์น โดยทั้งประเทศศรีลังกามีอยู่ด้วยกัน 9 จังหวัด

เช้าวันแรกของผมในเมืองนีกอมโบเริ่มต้นด้วยอาหารเช้าจากที่พักฝีมือของมาดามริตา ศรีภรรยาของมิสเตอร์มาร์คัส เจ้าของเกสต์เฮาส์ มาดามริตานำกาแฟมาให้ก่อนเป็นสิ่งแรก แต่ผมเก็บไว้ดื่มทีหลัง เป็นกาแฟในกาที่ดื่มได้มากกว่า 2 คน จากนั้นจึงเป็นอาหารเช้าแบบศรีลังกา

ชุดอาหารเช้าของมาดามริตามี “สตริงฮอปเปอร์” เหมือนกับปูตูมายัมของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นเส้นบะหมี่ทำจากแป้งข้าวเจ้าผสมน้ำกะทิ ลักษณะคล้ายขนมจีนแต่เส้นเล็กกว่า ม้วนเป็นขดก้อนกลมๆ หลายก้อน กินกับดาลซึ่งก็คือถั่วในซอสเครื่องเทศ และมะพร้าวคั่วคล้ายๆ ของปักษ์ใต้บ้านเรา แต่กลิ่นไม่หอมเท่าของเรา มาดามริตาบอกว่าคั่วกับน้ำมันมะพร้าวและหัวหอม แกยังทอดไข่ดาวในน้ำมันมะพร้าวมาให้ด้วยอีก 2 ฟอง และมะละกอปิดท้ายอีกหลายชิ้น ทั้งหมดนี้ราคาแค่ 4 เหรียญฯ คิดรวมในค่าห้องพัก ผมกินหมดแค่ไข่ดาวและมะละกอ อย่างอื่นเหลือเกินครึ่ง เพราะปริมาณที่เสิร์ฟมานั้นมากเหลือเกิน

ที่พักของผมอยู่ใกล้ชายหาดแค่ประมาณ 50 เมตร เดินไปดูเห็นหาดทรายสีน้ำตาล ถือว่าไม่ค่อยสวย บางช่วงเต็มไปด้วยผักบุ้งทะเล ริมหาดมีเศษซากของกิ่งไม้และขยะที่ทะเลซัดขึ้นมา ไม่มีใครมากวาดเก็บ ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินให้เห็นแม้แต่คนเดียว คนท้องถิ่นก็แทบไม่มี ผมกลับเข้าห้องพัก งีบต่อแล้วตื่นมาอาบน้ำ ขอเปลี่ยนห้องจากพัดลมเป็นห้องแอร์

ชายหาดสำหรับจอดเรือหาปลาในเมืองนีกอมโบ ด้านขวามือของภาพมีการตากปลาแห้งจำนวนมาก

เรื่องการจองที่พักในศรีลังกาหากไม่ใช่โรงแรมระดับ 4 และ 5 ดาว ต้องระวังให้ดี ถ้าไม่ดูให้ถ้วนถี่อาจจะถูกจัดห้องพัดลมไว้ให้ นักท่องเที่ยวจะรีบกดจองห้องที่ราคาถูกกว่าห้องอื่นๆ ในที่พักแห่งเดียวกัน ห้องราคาถูกนี้อาจซ่อนความหมายเอาไว้ นั่นคือ ไม่มีแอร์ หรือมีแอร์แต่ไม่มีรีโมตคอนโทรลสำหรับเปิด-ปิด อย่างห้องของผมเมื่อคืนมีทั้งแอร์และรีโมตคอลโทรล แต่รีโมตคอนโทรลไม่มีแบตเตอรี่ ผมโดนแบบนี้อีกครั้งในโคลัมโบ

ตอนบ่ายผมออกไปหน้าปากซอย มีร้านอาหารของเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม เข้าไปสั่งกาแฟ กินกับแพนเค้กกล้วยหอม ใช้เวลารอนานมาก แต่เป็นผลดีตามที่หวังไว้ นั่นคือได้เจอหนุ่มโย่งขับตุ๊กๆ เมื่อวานเขาเสนอแพ็กเกจทัวร์นีกอมโบ ผมมาคิดๆ ดู รู้สึกน่าสนใจอยู่เหมือนกัน

กาแฟเสิร์ฟก่อน เป็นกาแฟต้มกากเยอะ คล้ายๆ กาแฟตุรกี ดื่มได้แต่น้ำส่วนบนของถ้วย ไม่กล้าดื่มกากที่นอนก้น รสชาติกาแฟใช้ไม่ได้เลย และกาแฟศรีลังกาโดยรวมนั้นออกจืดๆ ไร้กลิ่น ไร้รส และไม่รู้ว่าผมรู้สึกไปเองหรือเปล่าว่ากาเฟอีนก็น้อย กาแฟที่อร่อยในศรีลังกาคือกาแฟที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะศรีลังกาไม่มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ แต่พวกเขาจะกลัวอะไร เพราะชาชั้นยอดของพวกเขาชดเชยไว้ได้ทั้งหมดแล้ว

กว่าแพนเค้กจะมาเสิร์ฟ ผมก็กวักมือเรียกหนุ่มโย่งมาจากหน้าปากซอยที่พักของผมฝั่งตรงข้าม อาณาบริเวณที่เขายึดเป็นหัวหาดรัศมีทำการ คุยกันก็ได้ทราบว่าเขาเป็นชาวคริสต์ มีชื่อคริสเตียนว่า “มาร์ก แอนโทนี” ความจริงคงมาร์กเฉยๆ แล้วใส่แอนโทนีเข้าไปเอง ทัวร์นีกอมโบของเขาเสนอมาที่ราคา 20 เหรียญฯ แล้วลดลงมาเหลือ 15 เหรียญฯ ผมขอให้ไปส่งที่สถานีรถไฟก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ ระยะทางแค่กิโลกว่าๆ แต่สามีของพระนางคลีโอพัตราคิดตั้ง 500 รูปี เทียบเป็นเงินไทยราวๆ 100 บาท ก่อนจะลดลงมาเหลือ 300 รูปี

รถไฟเข้ากรุงโคลัมโบมีวันละหลายเที่ยวและไม่จำเป็นต้องจอง ผมดูเที่ยวเวลาที่เหมาะสมสำหรับพรุ่งนี้แล้วเดินกลับไปหาพ่อมาร์ก แอนโทนี บอกเขาว่าถ้าจะไปทัวร์ด้วยกันขอจ่ายเป็นเงินรูปีเท่านั้น ถ้าไม่ลดลงมาจาก 15 เหรียญฯ ก็รับไป 3 พันรูปี ซึ่งมีค่าเท่ากัน เขาตกลง

นีกอมโบเป็นเมืองแห่งคริสต์ศาสนาในศรีลังกา มีผู้นับถืออยู่ถึงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเมือง แต่มาร์ก แอนโทนี พาผมไปเริ่มต้นที่วัดพุทธ ชื่อวัด Angurakaramulla ไม่ทราบจะเรียกภาษาไทยว่าอย่างไร อายุประมาณ 300 ปี จอดรถหน้าวัดแล้วพ่อมาร์กก็เดินนำเข้าไป แล้วบอกว่าเขาจะกลับไปรอที่ตุ๊กๆ ให้ผมเดินชมได้ตามสบาย

วัดมีพื้นที่ไม่กว้างขวางเท่าไหร่ มีพระพุทธรูปองค์โตอยู่ด้านหน้าวิหาร ผมยังไม่ทันจะเดินเข้าไปในวิหารก็ถูกท่านไวยาวัจกร หรืออาจเป็นแค่คนคุมวัดกวักมือเร่งให้เข้าไปในห้องพิเศษด้านในของวิหาร ชายผู้นี้ขอให้ผมเขียนข้อมูลส่วนบุคคลลงในสมุดเล่มหนึ่ง คล้ายสมุดเยี่ยม ช่องสุดท้ายให้ใส่เงินที่จะบริจาค

ผมเห็นรายชื่อก่อนหน้าบริจาคกันขั้นต่ำคนละ 1 พันรูปี ที่ให้ 2 พันก็มี ตัวเลขแบบถ้วนๆ และล้วนเป็นชาวต่างชาติ อย่างนี้คือการบังคับบริจาคแน่นอน ผมมั่นใจ บอกเขาไปว่าผมให้ 100 รูปีเท่านั้น เขาท่าทางไม่ค่อยพอใจ บอกว่าบริจาคขั้นต่ำ 1 พันจะได้รับหนังสือพุทธประวัติเล่มเล็กๆ ผมส่ายหน้า ตอบว่าไม่ต้องการหนังสือและขอกลับออกไปจากวัด แต่จะให้เปล่าๆ 100 รูปี หมอนี่ก็รับไป แล้วชี้ให้เดินเข้าไปในวิหาร

ไหนๆ ก็มาแล้วจึงเดินเข้าไป มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ภาพเขียนพุทธประวัติ ผมรีบเดินวนรอบหนึ่งแล้วเดินออก หมอนี่ก็มาดักหน้า ขอให้ไปดูห้องนรกก่อน ชี้ไปด้านหลัง อยู่ข้างๆ ห้องน้ำ มีเณรน้อยสามสี่รูปนั่งเล่นกันอยู่ ที่ให้มาดูห้องนรกนี่คงอยากจะเตือนว่ามาแล้วไม่บริจาคตามเกณฑ์ ท่านจะต้องเจอกับอะไร

มีเจดีย์อยู่ติดกับวิหาร ต้องเดินขึ้นบันไดวนราวครึ่งหนึ่งของความสูงทั้งหมดจึงจะถึงรอบฐานเจดีย์ เห็นคนนำดอกไม้มาบูชากัน แต่ผมไม่ขอเสียเวลา คนคุมวัดก็ชี้ว่าขึ้นได้ แต่คงชี้ไปแบบเสียไม่ได้มากกว่า เดินออกมาเจอมาร์ก แอนโทนี รออยู่ เขาชี้ไปที่อาคารอีกหลัง คล้ายพิพิธภัณฑ์เก็บของโบราณ ผมบอกว่าไปที่อื่นกันดีกว่า เขาจอดที่หน้าวัดพุทธวัดถัดมา ผมแค่ถ่ายรูปจากนอกรั้วแล้วขอให้ออกรถ เดินทางต่อทันที

คลองดัตช์ เมืองนีกอมโบ ประเทศศรีลังกา

สถานที่ต่อมาคือ “คลองแฮมิลตัน” แต่มักถูกเรียกว่า “คลองดัตช์” หรือ Dutch Canal แรกเริ่มเดิมทีคลองนี้สร้างโดยศรีลังกาเองตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 8 ใช้ในการเดินทางและลำเลียงขนส่งพืชผลทางการเกษตร สามารถเชื่อมต่อหมู่บ้านต่างๆ กับลากูนนีกอมโบ แล้วจึงไปเชื่อมกับแม่น้ำเกลานีในโคลัมโบ เมื่อดัตช์เข้ามามีอิทธิพลในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็สร้างคลองขึ้นด้วยเทคนิคชั้นสูงของพวกเขา โดยเฉพาะการระบายน้ำทะเลออกจากที่นาเพื่อการปลูกข้าว คลองนี้จึงได้ชื่อว่า “คลองดัตช์” เชื่อมโยงการขนส่งทางน้ำระหว่างท่าเรือนีกอมโบและพื้นที่ชั้นในที่เป็นเขตอิทธิพลของพวกเขา นอกจากข้าวแล้ว สิ่งที่ขนส่งออกสู่ท่าเรือเป็นหลักก็คือเครื่องเทศ

ถัดไปไม่ไกลคืออ่าวนีกอมโบ มีเรือประมงเข้ามาจอดเป็นจำนวนมาก ต่อเนื่องเข้ามาเป็นลากูนหรือบึงริมทะเลขนาดใหญ่ ไม่ห่างกันคือตลาดปลา ส่งกลิ่นอบอวลไปทั่ว ตอนบ่าย-ใกล้เย็นปลาสดแทบไม่เหลือแล้ว ที่เห็นและที่มาของกลิ่นคือปลาทะเลตากแห้ง กินพื้นที่มหาศาลริมชายหาด ทรายปนกับปลาเหมือนทาเกลืออย่างไรอย่างนั้น ฝูงกาบินลงจิกกิน นกกระยางคอยดูท่าที หมาและแมวก็เดินวนเวียน เรียกได้ว่าทั้งภาพและกลิ่นไม่โสภาอย่างยิ่ง เห็นแล้วแทบไม่กล้ากินปลาตากแห้งอีกต่อไป

ทนดมทนดูอยู่นานเพราะมาร์ก แอนโทนี เจอเพื่อนที่เป็นเจ้าของเรือหาปลาและยืนคุยกันอยู่หลายนาที ผมทำท่าทางส่งสัญญาณว่าไปต่อกันได้แล้ว เขาจึงผละออกมา และพาไปที่ป้อมนีกอมโบ (Negombo Fort) เคยมีความสำคัญอันดับ 4 รองจากป้อมในโคลัมโบ จาฟฟ์นา และกอลล์

ป้อมแห่งนี้สร้างครั้งแรกโดยกองทัพโปรตุเกสในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถูกดัตช์บุกยึดใน ค.ศ.1640 ต่อมาโปรตุเกสยึดคืนได้ใน ค.ศ.1643 ก่อนจะถูกดัตช์ยึดถาวรใน ค.ศ.1644 แล้วดัตช์ก็สร้างขึ้นใหม่ให้แข็งแรงกว่าเดิม เสร็จในปี ค.ศ.1672 แต่ผ่านไปร้อยกว่าปี คือใน ค.ศ.1796 อังกฤษก็เข้ายึดต่ออย่างง่ายดาย ก่อนจะทุบทิ้งและสร้างเรือนจำขึ้นแทนในไม่กี่ปีต่อมา โดยในการสร้างเรือนจำอังกฤษใช้หินจากป้อมปราการแห่งนี้นี่เอง ปัจจุบันเรือนจำยังเปิดดำเนินการ หอคอยส่วนหนึ่งที่หลงเหลือก็เป็นส่วนหนึ่งของสมบัติกรมราชทัณฑ์

โบสถ์เซนต์แมรีของนิกายโรมันคาทอลิก โบสถ์คริสต์ขนาดใหญ่ที่สุดในนีกอมโบ     

จากนั้นมาร์ก แอนโทนี ขับพาไปยังโบสถ์เซนต์แมรี โบสถ์ขนาดใหญ่ที่สุดในนีกอมโบ สร้างในสไตล์นีโอคลาสสิก แล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1924 มีป้ายห้ามถ่ายรูป แต่สารถีควบตำแหน่งไกด์ของผมยืนยันว่าถ่ายได้ ดูจากภายนอกให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ประมาณหนึ่ง พอเข้าไปด้านในยิ่งดูโอ่โถงอลังการ โดยเฉพาะภาพเขียนฝาผนัง ภาพเขียนเพดาน และรูปปั้นตามเสาแต่ละต้น ที่เสริมส่งให้โบสถ์ดูวิจิตรปนน่าเกรงขามขึ้นอีกมาก

ผมเต็มใจหยอดเงินลงกล่องบริจาคเองโดยไม่ต้องมีใครมายืนบังคับ เดินออกมาจากโบสถ์ มาร์ก แอนโทนี รออยู่และชี้ไปยังโรงเรียนที่ติดกับโบสถ์ซึ่งอยู่ในความดูแลของโบสถ์ เขาบอกว่าลูกของเขาเรียนที่นี่

เราเดินทางต่อไปที่โบสถ์เซนต์เซบาสเตียน ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบโกธิกรีไววัล สร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1946 โบสถ์นี้ห้ามถ่ายรูปและมีเจ้าหน้าที่ทหารยืนคุม หากจะเข้าไปต้องโดนตรวจกระเป๋าตั้งแต่ใกล้ๆ ประตูรั้ว ผมเลยไม่เข้าไป เดินกลับออกมาถามข้อสงสัยกับมาร์ก แอนโทนี ได้รับคำตอบว่าโบสถ์เซนต์แมรีถ่ายรูปได้ เพราะเป็นเหมือนสถานที่ท่องเที่ยว แต่โบสถ์เซนต์เซบาสเตียนเน้นปฏิบัติศาสนกิจ และเหตุวางระเบิดครั้งใหญ่เมื่อ 2 ปีก่อนยังคงหลอกหลอนและไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งโบสถ์เซนต์เซบาสเตียนเป็น 1 ใน 3 ศาสนสถานชาวคริสต์ที่โดนถล่ม

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 21 เมษายน 2562 ตรงกับวันอีสเตอร์ ผู้ก่อการร้าย 9 คนลงมือจุดระเบิดฆ่าตัวตายในโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 3 แห่ง โรงแรมหรู 4 แห่ง และชุมชนอีก 1 แห่ง เป้าหมายของการโจมตีคือคริสต์ศาสนิกชนและนักท่องเที่ยว มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 253 คน บาดเจ็บอีกราว 500 คน ก่อเหตุโดยองค์การเอกเทวนิยมแห่งชาติ และกลุ่มไอซิล คาดว่าเป็นการแก้แค้นกรณีเหตุกราดยิงมัสยิดในไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแแลนด์ หนึ่งเดือนกว่าๆ ก่อนหน้านั้น ทำให้ชาวมุสลิมเสียชีวิตครึ่งร้อย แต่นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าไม่เกี่ยวกัน เชื่อว่าเหตุระเบิดในศรีลังกาวางแผนมาล่วงหน้านานแล้ว

หลังเหตุระเบิดดังกล่าวเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 58 คน จนถึงเวลานี้นอกจากโบสถ์คริสต์แล้วยังมีทหารถือปืนอาก้าคุมเชิงตามสถานที่ล่อแหลมทั่วประเทศ

เพื่อให้ครบรสชาติศาสนา มาร์ก แอนโทนี พาไปต่อที่วัดฮินดูแห่งหนึ่ง แต่วันนี้วัดปิดประตูรั้ว ได้แต่ถ่ายรูปจากด้านนอก เขาหันมาถามผมว่าจะไปไหนอีก แสดงว่าหมดของจะโชว์แล้ว ผมเลยขอให้ไปที่บีชปาร์ก สวนสาธารณะเล็กๆ ริมชายหาดนีกอมโบทางทิศเหนือห่างจากที่พักของผมไป 1 กิโลกว่าๆ

วันนี้เป็นวันโปยา วันหยุดราชการของศรีลังกา ร้านรวงปิดเสียเป็นจำนวนมาก ส่วนผับบาร์ปิดหมด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขาย วันโปยาคงมาจากคำว่า “วันบูชา” เป็นวันเพ็ญของแต่ละเดือน แต่บางเดือน เช่นเดือน 12 กำหนดให้เป็นวันขึ้น 14 ค่ำ ชาวพุทธไปวัด ชาวศาสนาอื่นก็ได้หยุดพักผ่อนหย่อนใจ อย่างในนีกอมโบผู้คนออกไปรวมตัวและหากิจกรรมบันเทิงสำหรับครอบครัวกันตามชายหาด โดยยังคงมาตรการสวมหน้ากากและรักษาระยะห่างในที่สาธารณะ

เข้าไปจอดรถ ยังไม่ทันจะได้เดินหรือมองสิ่งบันเทิงใจได้สักอย่างเดียว ชายคนหนึ่งเดินพุ่งเข้ามาหา ไม่สวมหน้ากากอีกต่างหาก ผมบอกไปว่ามากับคนนั้น พร้อมชี้ไปที่มาร์ก แอนโทนี หมอนี่บอกว่า “เพื่อนฉันเอง” แต่ดูเพื่อนก็แสดงอาการรังเกียจเพื่อนให้เห็นเล็กน้อย

มือของเขาถือถุงพลาสติกใบโต ในนั้นมีกำไลข้อมือ สร้อยคอ เปลือกหอย ช้างแกะสลักจากไม้ชิ้นเล็กๆ ผมบอกเพิ่งมาถึงขอเดินดูโน่นนี่ก่อน ยังไม่เห็นชายหาดเลย เขาว่าดูทะเลเสร็จแล้วดูของฝากจากเขาต่อนะ แต่เขาก็ยืนคุมเชิงอยู่ตรงนั้น ไม่เดินไปที่อื่น สาเหตุก็เพราะผมเป็นนักท่องเที่ยวเพียงคนเดียวที่นี่ เวลานี้

ผมรู้สึกหิวขึ้นมา อยากลองอาหารทะเลทอดกรอบที่ตั้งซุ้มขายอยู่ใกล้ๆ มีปลาทูเสียบไม้ กุ้งเสียบไม้ กุ้งทอดกรอบเคลือบเครื่องเทศ ปูตัวเล็กๆ ทอดกรอบ ผมบอกมาร์ก แอนโทนี ว่าอยากกินอะไรก็เลือกเอา ผมสั่งปลาทูทอดกรอบเสียบไม้กับคนขาย ปรากฏว่าชายถือถุงพลาสติกรีบเดินเข้าไปหยิบมายื่นให้ผมด้วยตัวเอง บอกราคา 100 รูปี ซึ่งคงไม่ใช่ราคานี้ น่าจะอยู่ที่ 50 รูปีมากกว่า ผมยื่นแบงก์ 500 ให้มาร์ก แอนโทนี เขาสั่งกุ้งทอดกรอบ ได้มาเต็มถุงกระดาษเล็กๆ พ่อค้าทอนเงินมา 350 รูปี ผมสั่งกุ้งทอดกรอบด้วย คราวนี้ไม่ถามราคา แต่ยื่นแบงก์ 50 ให้ไปเลย ชายถือถุงพลาสติกก็เสนอหน้า ใช้มือเปล่าหยิบกุ้งใส่ถุงกระดาษสองสามตัว จนพ่อมาร์กของผมต้องบอกว่าหยิบมาอีก ผมรับมาแล้วยัดใส่เป้

ไว้หาจังหวะทิ้งลงถังขยะทีหลัง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จะดีจะชั่ว...อยู่ที่ตัวคนเลือก

คนเรานั้น แม้จะเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นลูกใคร จะได้เป็นลูกเศรษฐีหรือลูกคนจน แต่เมื่อเราเติบโตรู้ความ ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ได้รับการศึกษา

จากสงครามเวียดนามถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ช่วงที่นักศึกษา ปัญญาชน คนหนุ่ม-คนสาวชาวอเมริกัน...เขาลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน คัดค้าน สงครามเวียดนาม ในช่วงระยะนั้น อันตัวข้าพเจ้าเอง ก็กำลังอยู่ในวัยหนุ่ม

ไฟไหม้ปทุมวัน

เล่นเอาเหล่า "สีกากี" ภายใน "กรมปทุมวัน" ตกอกตกใจกันยกใหญ่ หลังมีควันดำๆ พวยพุ่งจากเหตุไฟไหม้ระเบียงชั้น 6 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อยากช่วย...อยากเชียร์...แต่เพลียแล้วนะ

ในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เราตกใจเมื่อเห็นผลของการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งมาเป็นที่ 1 ได้ สส. 151 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยมาเป็นที่ 2 ได้ สส. 141 ที่นั่ง ส่วนพรรคที่เขาเรียกขานกันว่าเป็นพรรคอนุรักษ์หรือพรรคหนุนเผด็จการนั้น ได้จำนวน สส.ห่างไกลจาก 2 พรรคนี้มาก ภูมิใจไทยที่ได้จำนวน สส.มาเป็นที่ 3

ยุคพระอาทิตย์ 7 ดวง

ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่...แต่เผอิญไปป่วย หรือ อาพาธ อยู่ประมาณ 3 เดือน คือระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปีพุทธศักราช 2535 หรือประมาณ 35 ปีมาแล้ว

หึ่ง! เชือด 'นายพล' อีก

ดูเหมือนจะเป็นหน่วยงานแห่งความหวัง หน่วยงานที่พึ่งสำคัญ ในการจะกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้งของ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร. หลังจาก บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์