เมื่อวานเขียนถึงการประชุมสุดยอดของจีนกับ 5 ประเทศจากเอเชียกลาง...ทับซ้อนกับการประชุมผู้นำ Group of Seven หรือ G-7 ที่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น
วันนี้ต้องวิเคราะห์แถลงการณ์ของ G-7 ที่ออกมาชี้นิ้วกล่าวหาไปที่รัสเซียและจีน
เท่ากับเป็นการประกาศยกระดับการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับรัสเซียและจีนอีกขั้นหนึ่ง
โดยมี วโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน “แย่งซีน” ของผู้นำชั้นนำระดับโลกไปหน้าตาเฉย
เซเลนสกีหลบออกจากสนามรบที่บ้านบินเข้าฮิโรชิมาด้วยเครื่องบินของรัฐบาลฝรั่งเศสหลังจากแวะพักที่ซาอุดีอาระเบีย
ถือเป็นการเดินสายเพื่อระดมความช่วยเหลือรอบล่าสุดเพื่อเตรียมเปิดฉากการรุกใหญ่อีกครั้งที่ค่อนข้างจะน่ากลัว
เพราะล่าสุดสหรัฐฯ เปิดไฟเขียวให้ประเทศพันธมิตรสามารถส่งเครื่องรบบิน F-16 ให้ยูเครน
ทันใดนั้น มอสโกก็ตอบโต้ทันทีว่า การที่ยูเครนได้รับเครื่องบินรบจากตะวันตกเป็น “ความเสี่ยงอันมหาศาล”
ทำให้เห็นภาพของสงครามกลางหาวระหว่างเครื่องบินรัสเซียกับโลกตะวันตกทันที
มิใช่เป็นสงครามจำกัดวงระหว่างรัสเซียกับยูเครนอีกต่อไป
การปราฏตัวของเซเลนสกี ณ ที่ประชุมสุดยอด G-7 ยิ่งทำให้ความตึงเครียดระหว่างตะวันตกกับจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้นกะทันหัน
นายกฯ ญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ในฐานะเจ้าภาพตัดสินใจเชิญเซเลนสกีมาร่วมประชุมตัวเป็นๆ ในนาทีสุดท้าย
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีแต่เพียงแผนที่จะให้ผู้นำยูเครนเข้าร่วมปรึกษาหารือผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น
เซเลนสกีคงเห็นจังหวะและสถานที่นัดประชุมครั้งนี้มีความสำคัญต่อทิศทางของสงครามยูเครนมาก จึงตัดสินใจขอมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง
และการที่เขาบินลงมาบนเครื่องบินที่รัฐบาลฝรั่งเศสจัดหาให้ก็ยิ่งตอกย้ำถึงแรงสนับสนุนของโลกตะวันตกต่อยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย
พอเซเลนสกีไปถึงญี่ปุ่น เขาก็กลายเป็นจุดสนใจของคนข่าวทันที
ผู้นำยูเครนรายงานทุกความเคลื่อนไหวของตนผ่านทวิตเตอร์และช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเพื่อทำให้ทั้งโลกต้องพุ่งความสนใจมายังสิ่งที่เขานำเสนอต่อผู้นำที่มีเศรษฐกิจโลกในแนวหน้าทั้ง 7 ประเทศ
แถลงการณ์ร่วมของผู้นำ G-7 นอกจากการกล่าวถึงหัวข้อสำคัญ เช่น การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วก็ยังเน้นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
และตอกย้ำด้วยการเชิญตัวแทนจากเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และหมู่เกาะคุกมาเป็นผู้สังเกตการณ์การประชุมด้วย
แถลงการณ์ร่วมย้ำถึงการสนับสนุนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกที่ปักกิ่งกำลังพยายามตีสนิทด้วย
คำแถลงนั้นเรียกร้องให้มี "อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ใช้ตอบโต้การอ้างสิทธิ์เหนือเกาะแก่งและดินแดนของจีนในทะเลจีนใต้
ผู้นำ G-7 ชี้นิ้วกล่าวหาจีนว่าใช้มาตรการ "การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ" ต่อประเทศต่างๆ ทำนองรังแกชาติที่เล็กกว่า
แถลงการณ์เรียกร้องให้จีน "เล่นตามกฎกติการะหว่างประเทศ"
แต่ขณะเดียวกันก็หยอดคำหวานว่าต้องการพัฒนา "ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และมั่นคง" กับจีน
และเสริมว่านโยบายตะวันตก "ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำร้ายจีน และเราไม่ได้พยายามที่จะขัดขวางความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน"
แต่กระนั้น ปักกิ่งก็กริ้วอย่างออกนอกหน้า
จีนแสดง "ความไม่พอใจอย่างรุนแรง" ต่อแถลงการณ์ร่วมของ G7 ด้วยเหตุผลที่ว่า “กลุ่ม G7 ยืนกรานที่จะจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจีน ใส่ร้ายป้ายสีและโจมตีจีน”
อีกด้านหนึ่ง แถลงการณ์ G-7 ก็วางแนวทาง 'ลดความเสี่ยง' หรือ de-risking ในความสัมพันธ์กับจีน
เป็นการปรับถ้อยคำจากเดิมที่ใช้คำว่า de-coupling หรือการแยกขั้ว ต่างคนต่างอยู่
หันมาใช้คำที่เบาลง โดยเน้นว่าทั้ง 2 ค่ายยังต้องคบหากัน เพราะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
แต่ก็ต้องพยายามลดความเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่ความตึงเครียดจนอาจเข้าสู่ระดับที่ควบคุมไม่ได้
เอกสารนี้เผยแพร่ก่อนกำหนด 1 วัน โดยไม่มีคำอธิบายเหตุผลหรือที่มาที่ไป
แต่ก็น่าสังเกตว่า แถลงการณ์นี้ถูกแจกจ่ายเพียงไม่กี่วินาที เซเลนสกีจะก้าวลงจากเครื่องบินในเมืองฮิโรชิมาเพื่อเข้าร่วมกับผู้นำทั้ง 7
คงต้องการแยกประเด็นที่ผู้นำ G-7 ประชุมหาข้อสรุปจากกรณีสงครามยูเครนให้เป็นคนละวาระ
แต่แถลงการณ์นั้นก็ไม่วายแตะเรื่องไต้หวันจนได้
"เราขอยืนยันถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวันว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในประชาคมระหว่างประเทศ"
พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนมีส่วนร่วมกับ G-7 ในด้านต่างๆ เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนและความต้องการทางการเงินของประเทศที่เปราะบาง
ถ้อยแถลงยังเรียกร้องให้จีนกดดันรัสเซียให้ยุติการรุกรานทางทหาร และ "ถอนทหารออกจากยูเครนทันที แบบสมบูรณ์ และไม่มีเงื่อนไข"
ในขณะเดียวกัน ก็มีการระบุถึงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น AI เมตาเวิร์ส และควอนตัมคอมพิวติ้ง
แถลงการณ์ร่วมของผู้นำกล่าวว่า "การกำกับดูแลของเศรษฐกิจดิจิทัลควรได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับค่านิยมประชาธิปไตยที่มีร่วมกันของเรา"
ด้านพลังงาน ผู้นำเรียกร้องให้ลดการพึ่งพาทรัพยากรของรัสเซียและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไม่ลดละ
แน่นอนว่า “ดาราแห่งเวที” ครั้งนี้คือเซเลนสกีที่มาในชุดกึ่งทหารอีกเช่นเคย
พร้อมกับคำปราศัยเรียกร้องให้โลกตะวันตกเดินหน้าสนับสนุนการทำสงครามกับรัสเซีย
น่าสังเกตว่าในเวทีนี้ไม่มีการพูดถึง “แผนสันติภาพ” ที่จีนได้นำเสนอเพื่อพยายามให้ยุติสงคราม
แม้ว่าจีนจะได้ส่ง “ทูตพิเศษ” ไปยูเครน, รัสเซียและยุโรปอีกหลายประเทศ เพื่อรับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆ ในอันที่จะนำมาซึ่งโอกาสที่จะเริ่มการเจรจาระงับสงคราม
ที่ย่างเข้าเป็นวันที่ 454 แล้ว!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สี จิ้นผิงสั่งให้กองทัพจีนพร้อม รับ ‘ฉากทัศน์เลวร้ายที่สุด’
น้ำเสียงและท่าทีของผู้นำจีนกร้าวขึ้นทุกวัน...ล่าสุดประธานาธิบดีสี จิ้นผิงประกาศว่าจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงที่ 'ซับซ้อนมากขึ้น'
ภารกิจสันติภาพอันหนักหน่วง สำหรับ‘หลี่ ฮุย’ทูตพิเศษจากจีน
จีนกล่าวว่าต้องการสร้างสันติภาพในยูเครน แต่เงื่อนไขจะเป็นอย่างไร? เป็นภารกิจที่หนักหน่วงมาก เพราะปักกิ่งรู้ดีว่าทั้งยูเครนและรัสเซียต่างก็มีเงื่อนไขที่อีกฝ่ายหนึ่งรับไม่ได้เป็นอันขาด
หรือ F-16 มะกันจะนัดเจอ Su-35 ของรัสเซียเหนือน่านฟ้ายูเครน?
ฉากทัศน์ที่น่ากลัวในสงครามยูเครนคือการเผชิญหน้าระหว่างเครื่องบินรบ F-16 ของสหรัฐฯ กับ Su-35 ของรัสเซีย
ปูตินเครียด! มอสโกตกเป็น เป้าโจมตีของกองกำลังโดรน
สงครามยูเครนเข้าสู่วันที่ 463 วันนี้มีความเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงต่อเนื่อง
คิสซิงเจอร์ในวัย 100 เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (2)
เมื่อวานเขียนถึงแนวทางวิเคราะห์ความเสี่ยงของสงครามระหว่างสหรัฐฯกับจีนในความเห็นของเฮนรี คิสซิงเจอร์, อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศและที่ปรึกษาด้านความมั่นคงหลายสมัยของสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะฉลองวันเกิดที่ 100 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเขาย้ำว่าไต้หวันจะเป็นจุดทดสอบที่สำคัญว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระหว่างสองยักษ์ใหญ่หรือไม่
คิสซิงเจอร์ (ในวัย 100 ปี) เสนอวิธี หลีกเลี่ยงสงครามโลกครั้งที่ 3 (1)
เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตนักการเมืองชั้นนำของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทในสงครามและความขัดแย้งระดับโลก อายุครบ 100 ปี เมื่อวันเสาร์ (27 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา