เมื่อวานเขียนถึงคำประกาศของสี จิ้นผิง ให้กองทัพจีนเตรียมตั้งรับ “สถานการณ์ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด” ก็มีเรื่องต้องเขียนต่อเนื่องกันหลายประเด็นทีเดียว
เช่น ข่าวจากสื่ออังกฤษที่อ้างว่า ผู้อำนวยการ CIA ที่ชื่อ William Burns ได้แอบย่องเข้าจีนเพื่อไปพบปะกับผู้หลักผู้ใหญ่ด้านข่าวกรองของจีน
เพื่อไปพูดคุยให้คลายความตึงเครียดในความสัมพันธ์
และให้ฝ่ายกรองของทั้ง 2 ประเทศมีช่องทางการสื่อสาร ไม่ให้เกิดกรณีความเข้าใจผิดที่อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าอันไม่พึงปรารถนา
ตามมาด้วยข่าวที่ประชุม Shangri-La Dialogue ว่าด้วยความมั่นคงที่สิงคโปร์
เห็นภาพของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ Lloyd Austin เดินเข้าไปขอจับมือกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน Li Shangfu ในงานดินเนอร์ของผู้นำด้านกลาโหมของประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ท่ามกลางข่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการขอจากฝั่งสหรัฐฯ ว่า ในโอกาสนี้จะขอประชุม “นอกรอบ” ระหว่าง 2 รัฐมนตรีกลาโหม
แต่ข่าวบอกว่าฝ่ายจีนปฏิเสธ ไม่สนใจจะพูดคุยด้วย เพราะปักกิ่งไม่เชื่อในความจริงใจของวอชิงตัน
ต้องไม่ลืมว่า พลเอกหลี่ ซ่างฝู ของจีนนั้นเคยถูกฝั่งสหรัฐฯ ขึ้น “บัญชีดำ” มาก่อน โดยกล่าวหาว่าเขามีส่วนในการช่วยสั่งซื้ออาวุธจากรัสเซีย ซึ่งเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรต่อมอสโกของโลกตะวันตก
อีกทั้งเรื่องระหองระแหงระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีหนทางที่จะมีช่องทางของการผ่อนคลายได้แต่อย่างไร
แต่ฝั่งอเมริกาก็ยังสำทับว่า 2 ประเทศจะต้องพูดจากัน
ขณะที่ฝ่ายจีนบอกว่าพูดกันมากี่รอบก็ยังไม่มีผลในทางสร้างสรรค์แต่อย่างไร
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ
โดยบอกว่าการเจรจา "เป็นสิ่งจำเป็น" เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่มีช่องทางการสื่อสารที่ถูกต้อง
ออสเตินบอกว่า “ในฐานะผู้นำด้านกลาโหมที่มีความรับผิดชอบ เวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยคือทุกเวลา”
เป็นคำกล่าวในการประชุม Asia Security Summit หรือ Shangri-la Dialogue ที่สิงคโปร์
และยังย้ำอีกว่า "เวลาที่เหมาะสมในการพูดคือทุกจังหวะเวลา และเวลาที่เหมาะสมในการพูดคือตอนนี้"
มีคนฟังที่เป็นตัวแทนด้านกลาโหมกว่า 600 คน จากกว่า 40 ประเทศมารวมตัวกันเพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับความท้าทายด้านความมั่นคงและภูมิรัฐศาสตร์ในเอเชียแต่ออสตินก็ยังใช้โอกาสนี้ “แซะ” จีนอีกจนได้
โดยกล่าวอ้างถึงกรณีการ “สกัดกั้นบนน่านฟ้าสากลที่ก้าวร้าวและไม่เป็นมืออาชีพ" กับฝ่ายจีนเมื่อไม่นานมานี้
“สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ยังคงดำเนินการสกัดกั้นเครื่องบินของสหรัฐฯ และพันธมิตรซึ่งยกระดับความเสี่ยงจนน่าตกใจ ทั้งๆ ที่เหตุเหล่านี้เกิดในน่านฟ้าสากล” ออสติน กล่าว
และยังตอกย้ำว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมถูกขัดขวางโดย "พฤติกรรมการปฏิบัติการที่เป็นอันตราย" ในน่านฟ้าสากล
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน มีการเผยแพร่วิดีโอซึ่งแสดงให้เห็นเครื่องบินขับไล่ของจีนทำสิ่งที่กองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ เรียกว่า "การซ้อมรบที่ก้าวร้าวโดยไม่จำเป็น" ระหว่างการสกัดกั้นของสหรัฐฯ เครื่องบินของกองทัพอากาศ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเหนือทะเลจีนใต้ในน่านฟ้าสากล
จีนตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้ยุติเที่ยวบินดังกล่าวของสหรัฐฯ
เป็นที่มาของการที่ปักกิ่งปฏิเสธคำขอจากเพนตากอนให้มีการประชุมระหว่างออสตินกับหลี่ ซางฟู่ คู่หูของจีน นอกรอบการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
แต่รัฐมนตรีจีนก็ยอมจับมือของออสติน อันถือเป็นการทักทายสั้นโดยมารยาทในงานเลี้ยงอาหารค่ำสำหรับการประชุมสุดยอด
แต่ไม่มีการแลกเปลี่ยนอะไรที่เป็นกิจจะลักษณะแต่อย่างไร
ออสตินต้องการจะมีการนั่งลงพูดคุยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ดูเหมือนฝ่ายจีนจะยังไม่พร้อม
“การจับมืออย่างจริงใจระหว่างมื้อค่ำไม่สามารถทดแทนการมีส่วนร่วมที่สำคัญได้” เขากล่าว
แต่รัฐมนตรีกลาโหมจีนประกาศว่า สหรัฐฯ (โดยไม่ระบุชื่อ) กำลังสร้างบรรยากาศ “สงครามเย็น” กลับมาอีกครั้ง
และความพยายามของอเมริกาที่จะใช้ “สองมาตรฐาน” กับจีนนั้นไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศของการพูดจากันแต่อย่างไร
ออสตินก็ยังยืนยันว่า อเมริกาจะมีบทบาทคึกคักในย่านนี้
เขาบอกว่าอเมริกาจะรักษา "การแสดงตนอย่างเข้มแข็งและมีความรับผิดชอบ" ทั่วอินโดแปซิฟิก
และจะทำงานต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีประเทศใดสามารถอ้างสิทธิ์ในการควบคุมเหนือเส้นทางน้ำที่ใช้ร่วมกันได้
“ในทะเลจีนใต้ เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนของเราต่อไปเพื่อรักษาเสรีภาพในการเดินเรือและการบินบนเครื่องบิน” เขากล่าว
“ผมขอย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการในปี 2559 ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมายและถือเป็นที่สิ้นสุด” เขากล่าวเสริม
โดยอ้างถึงคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศที่ประกาศข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ของจีนที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้
ในประเด็นเรื่องช่องแคบไต้หวัน ออสตินกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังคง "มุ่งมั่นอย่างสุดซึ้ง" ในการรักษาสถานะที่เป็นอยู่
แต่ยังอ้างว่าแนวทางนี้ยังสอดคล้องกับ “นโยบายจีนเดียว” ที่มีมาอย่างยาวนาน
แต่ขณะเดียวกันวอชิงตันก็ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน
อันเป็นกฎหมายของสหรัฐฯ ที่กำหนดให้วอชิงตันต้องปฏิบัติเพื่อให้ไต้หวันมีศักยภาพในการป้องกันตนเอง
“นโยบายของเรามั่นคงและแน่วแน่ มีผลใช้จริงในฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ” ออสตินประกาศ
“เราจะยังคงคัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด”
ออสตินย้ำว่า โลกมีส่วนได้เสียในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน
โดยเน้นไปที่ความปลอดภัยของเส้นทางเดินเรือพาณิชย์และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ออสตินบอกว่า สหรัฐฯ เชื่อว่าการ “สื่อสารแบบเปิดเผย” กับจีนมีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างฝ่ายกลาโหมและผู้นำทางทหารจากทั้ง 2 ฝ่าย
“ผมกังวลอย่างยิ่งว่าจีนไม่เต็มใจที่จะมีส่วนร่วมอย่างจริงจังมากขึ้นเกี่ยวกับกลไกที่ดีกว่าสำหรับการจัดการวิกฤตระหว่างกองทัพทั้ง 2 ของเรา” ออสตินกล่าว
"แต่ผมหวังว่ามันจะเปลี่ยนไปและในไม่ช้า"
ฝ่ายจีนคงจะรอจังหวะการตอบสนองท่าทีของสหรัฐฯ เรื่องนี้...เพราะหาก สี จิ้นผิง เห็นว่าสหรัฐฯ ยังมีท่าทีเป็นศัตรูกับปักกิ่งเช่นนี้ การไม่พูดคุยกันจะเป็นการส่งสัญญาณได้ชัดเจนกว่าการสนทนาที่ไร้ผล.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มพรุ่งนี้: มาตรการ CBAM ที่กระทบส่งออกไป EU
เส้นตายสำหรับการเริ่มต้นมาตรการของยุโรปอันเกี่ยวกับมาตรฐาน “โลกร้อน” ที่จะกระทบผู้ส่งออกไทยใกล้เข้ามาแล้ว
พักหนี้เกษตรกรรอบนี้จะได้ผล ดีกว่า 13 ครั้งที่ผ่านมาอย่างไร?
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการ “พักหนี้เกษตรกร” 3 ปีทั้งต้นทั้งดอกแล้ว
ไฉนจาก ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ’ วันนี้ กลายเป็น ‘ผู้ว่าซีอีโอ’?
หนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวางคือ “ผู้ว่าซีอีโอ”
Hard skills, Soft skills ไม่ใช่ Soft power
พอรัฐบาลเศรษฐาประกาศนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) หรือ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” คนในหลายๆ วงการก็มีคำถามว่า
‘อำนาจอ่อน’ แบบไหนที่จะสร้างพลังประเทศไทยในเวทีสากล?
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power แห่งชาติที่เพิ่งตั้งโดยมีนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธาน
OFOS : หนึ่งครอบครัว หนึ่ง soft power คือความท้าทายของรัฐบาล
รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศตั้งคณะกรรมการ soft power แห่งชาติชุดใหม่ที่มีโครงสร้างและสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่จะสามารถผลักดันให้เคลื่อนทัพได้ไม่น้อย...หากสามารถดึงเอาคนเก่งคนมีพรสวรรค์เข้ามาร่วมได้อย่างจริงจัง