'รถไฟฟ้าความเร็วสูง'

ถึงวันนี้........

คนไทยมี "ภูมิคุ้มกันโควิด" พอเบ่งชาวโลกได้แล้ว

แต่ภูมิคุ้มกันด้าน "เฟกนิวส์" ยังต่ำ!

เช่นเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูง "ไทย-ลาว-จีน" เป็นต้น นอกจากความอยากได้แล้ว อย่างอื่นไม่รู้เรื่องกันซักเท่าไหร่

อย่าว่าแต่เราๆ ชาวบ้านเลย ขนาด "ท่านผู้ทรงเกียรติ" ในรัฐสภา ซึ่งจะต้องรู้เพราะเป็นผู้ตรวจสอบในระบบ ยังเขาโง้งเลย

ฉะนั้่น ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่ประเทศเราต้องมี ก็มาปูพื้นฐาน พอให้รู้ความเชื่อมโยงกันซักวันปะไร

"รถไฟความเร็วสูง" กรุงเทพฯ-หนองคาย เป็นหนึ่งในเส้นทาง "โครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย"            

สร้างโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่าง "รัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน"

เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง "คุนหมิง-สิงคโปร์" สาย Central Route ที่จะเชื่อมต่อประเทศกลุ่ม  CLMV เข้าด้วยกัน

เส้นทาง "กรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย" ระยะทาง ๖๐๘ กม. ทางวิ่งเป็นทางคู่ รางกว้าง ๑.๔๓๕ เมตร

ความเร็ว ๓๕๐ กม./ชม. แต่ที่วิ่งในไทย จะใช้ความเร็ว ๒๕๐ กม./ชม.

การทำเส้นทางแบ่งระยะ "ตามแผนงาน" เป็นดังนี้

-ช่วงที่ ๑ "กรุงเทพฯ-นครราชสีมา" ระยะทาง ๒๕๓ กม. จะเปิดปี  ๒๕๖๙

-ช่วงที่ ๒ "นครราชสีมา-หนองคาย" ระยะทาง ๓๕๔.๕ กม. จะเปิดปี ๒๕๗๓

โครงการนี้ ว่าไปแล้ว ริเริ่มต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล แต่ไม่คืบหน้า  จนถึงรัฐบาล คสช.ที่พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ

เดือน พ.ย.๕๗ รัฐบาล คสช.ได้ทำบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลจีนอีกครั้ง ร่วมกันศึกษาแนวทางการก่อสร้างเส้นทางระบบรถไฟความเร็วสูง "สายอีสาน"

มีข้อสรุปร่วมกันในปีถัดมา คือ พ.ย.๕๘

-รัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน จะร่วมกันจัดตั้ง "กิจการร่วมค้า" เพื่อเป็นตัวกลางในการดำเนินโครงการ

รัฐบาลจีนจะเป็นตัวแทนจัดหาระบบที่เหมาะสม และดำเนินงานเชิงพาณิชย์และซ่อมบำรุง (O&M) ภายในระยะเวลา ๓ ปีแรก นับจากวันที่เปิดให้บริการ

ก่อนถ่ายโอนองค์ความรู้, การดำเนินการ, งานซ่อมบำรุง และงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ รฟม.ไทย ภายในปีที่ ๔-๖

ก่อนที่ รฟม.ไทย จะเข้าดำเนินการเต็มรูปแบบ ในปีที่ ๗ ของสัญญา

ต่อมา "กระทรวงคมนาคม" ลงนามในสัญญาความร่วมมือเป็นทางการ มีกรอบเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

-รัฐบาลไทยเป็นผู้ดำเนินการลงทุนด้านงานโยธาทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ภายใต้กรอบวงเงิน ๑๗๙,๐๐๐ ล้านบาท

-รัฐบาลไทยเป็นผู้พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ริมทางรถไฟเพื่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนภายในประเทศ

-ผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนภายในประเทศไทย

-วัสดุก่อสร้าง จะใช้วัสดุภายในประเทศเป็นหลัก

-แรงงานก่อสร้าง จะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าแรงงานจากประเทศจีน

-ยกเว้นสถาปนิกและวิศวกรที่อนุญาต ให้เป็นสัญชาติจีนเป็นกรณีพิเศษ

โครงการแบ่งช่วงออกเป็นทั้งหมด ๔ ช่วง ได้แก่

-ช่วงกรุงเทพฯ(บางซื่อ)-แก่งคอย และ "แก่งคอย-นครราชสีมา"

เริ่มก่อสร้างเมื่อ ๒๐ ธ.ค.๖๐ โดยนายกฯ ประยุทธ์ เป็นประธานในปฐมฤกษ์ก่อสร้าง

การก่อสร้างแบ่งออกเป็นทั้งหมด ๑๑ ช่วง ๑๔ สัญญา เริ่มจากช่วง "กลางดง-ปางอโศก" ระยะทาง ๓.๕ กม.เป็นช่วงแรก

การก่อสร้างช่วงนี้ล่าช้าไปมาก (เป็นการถ่ายทอดความรู้และเทคนิคการก่อสร้างระบบความเร็วสูงจากวิศวกรจีนให้แก่ไทย เพื่อสร้างเองในช่วงต่อๆ ไป)

จากนั้น ทางจีนจะเริ่มจัดส่งแบบช่วงต่อไปมาให้ไทยตรวจสอบจนครบทั้งโครงการ (เดือน มิ.ย.๖๑)

รฟท.ได้แยกช่วง "สถานีกลางบางซื่อ-ท่าอากาศยานดอนเมือง" ระยะทาง ๑๔.๕ กม.ออกมาให้เอกชนผู้ชนะของสายตะวันออกเป็นผู้ดำเนินการแทน

เพื่อลดข้อครหา เรื่องการใช้ทางร่วมกัน ระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลจีน และรัฐบาลญี่ปุ่น ที่เข้ามาดำเนินโครงการสายเหนือ

ตามแผน จะประมูลครบทั้ง ๑๔ สัญญา ภายในต้นปี ๖๒ และเปิดดำเนินการได้ในปี ๒๕๖๗

และอีกสองช่วงได้แก่....

ช่วง "นครราชสีมา-หนองคาย" และ "แก่งคอย-คลอง ๑๙- ฉะเชิงเทรา" (แยกไปท่าเรือแหลมฉบัง) อยู่ระหว่างการออกแบบเส้นทาง

แนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน "สายอีสาน" เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างระดับดินและยกระดับตลอดโครงการ

มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางจากชานเมืองทางทิศเหนือ กรุงเทพฯ ฝั่งเหนือและจังหวัดใกล้เคียงด้านเหนือและภาคอีสาน เข้าสู่เขตใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว

แนวเส้นทาง เริ่มต้นจาก.....

"สถานีกลางบางซื่อ" วิ่งตรงไปทางทิศเหนือ ในเส้นทางเดียวกับ "รถไฟความเร็วสูง" สายตะวันออก

ผ่านท่าอากาศยานดอนเมือง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

จากนั้น วิ่งตรงไปตามแนวทางรถไฟสายเหนือ ไปจนถึงชุมทางบ้านภาชี

แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปใช้แนวเส้นทางรถไฟสายอีสานไปตลอดทางจนถึงสถานีแก่งคอย ซึ่งจะเป็นสถานีชุมทางที่แยกสายไปเชื่อมต่อเข้ากับสายตะวันออกที่สถานีฉะเชิงเทรา

จากนั้น มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และสิ้นสุดเส้นทางในระยะแรกที่สถานีนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมาเดิม

รวมระยะทางในช่วงแรก ๒๕๓ กม. ใช้เวลาเดินทาง ๑ ชม. ๓๐  นาที จากกรุงเทพฯ

จากนั้น เส้นทางจะมุ่งขึ้นทางเหนือ เพื่อไปยังประเทศลาว โดยผ่าน สถานีชุมทางบัวใหญ่, ขอนแก่น, อุดรธานี

สิ้นสุดที่ "จังหวัดหนองคาย" ระยะทาง ๓๕๔.๕ กม.รวมระยะทาง ตลอดเส้นทางกว่า ๖๐๘ กม.

ใช้เวลาเดินทาง ๒ ชั่วโมง ๑๕ นาที จากนครราชสีมา และ ๓  ชั่วโมง ๔๕ นาที จากกรุงเทพฯ

แนวเส้นทางต่อจากนี้..........

จะเป็นแนวเส้นทางรถไฟสาย "ลาว-จีน" เพื่อเดินทางไปยังเวียงจันทน์ ประเทศลาว

และต่อเนื่องไปยัง คุนหมิง ประเทศจีน ระยะทางรวมกว่า ๑,๐๑๑  กม.

เฉพาะในประเทศลาว ๔๑๗ กม.โดยใช้ระยะเวลาเดินทางรวมจากกรุงเทพฯ ถึงคุนหมิง ๑๓ ชั่วโมง ๓๐ นาที โดยแนวเส้นทางในลาวจะเป็นทางเดี่ยวทั้งหมด

รูปแบบของโครงการ

เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (heavy rail transit)

ทางวิ่ง แนวเส้นทางส่วนใหญ่เป็นแนวเส้นทางระดับดิน โดยมีช่วงยกระดับเมื่อต้องผ่านตัวเมือง

ยกเว้นช่วง "บางซื่อ-ดอนเมือง-บ้านภาชี" ที่ยกระดับที่ความสูง  ๒๐ เมตร ตลอดทาง เนื่องจาก เป็นเส้นทางร่วมระหว่างรถไฟความเร็วสูง "สายตะวันออกและสายเหนือ"

ขนาดราง ๑.๔๓๕ เมตร (European standard  guage) มีสายไฟฟ้าแรงสูงตีขนานอยู่เหนือราง ระบบรถไฟฟ้า ใช้วิธีการรับไฟฟ้าจากด้านบนด้วยแพนโทกราฟ

ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง ๒.๘-๓.๗ เมตร ยาว ๒๐  เมตร สูงประมาณ ๓.๗ เมตร ความจุ ๖๐๐ คน/ขบวน ต่อพวงได้ ๓-๑๐  คัน/ขบวน

สามารถรองรับผู้โดยสารได้ ๕๐,๐๐๐ คน ต่อชั่วโมงต่อทิศทาง

ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ

โครงการนี้ มีศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่ และศูนย์ควบคุมการเดินรถทั้งระบบ ตั้งอยู่ที่เชียงรากน้อย บางปะอิน อยุธยา

และยังจัดให้มีทางซ่อมบำรุงเป็นระยะ รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุงย่อยและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) ตั้งอยู่ที่ "สถานีรถไฟนาทา" เดิม

ในพื้นที่ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ที่จะยกเลิกการใช้งาน

สถานีมีทั้งหมด ๑๑ สถานี เป็นสถานีรูปแบบอาคารผู้โดยสาร ๑๐  สถานี และสถานียกระดับ ๑ สถานี

ความเร็วสูงสายอีสานนี้ ใช้ขบวนรถรุ่น CR300AF "ฟู่ซิงห้าว" ผลิตโดยซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล มีความเร็วสูงสุดที่  ๓๕๐ กม./ชม.

แบ่งประเภทที่นั่ง ๓ ระดับ ได้แก่ ที่นั่งชั้น ๑ เป็นที่นั่งแบบเก้าอี้เดี่ยว ใช้ตู้โดยสารหลังห้องคนขับ

ที่นั่งชั้น ๒ จะเป็นที่นั่งประเภทธุรกิจ จัดเรียงแบบ ๒-๒ ตลอดตู้โดยสาร และ

ที่นั่งชั้น ๓ จะจัดเรียงแบบ ๓-๒ ตลอดความยาวตู้โดยสาร ภายในขบวนรถมีห้องน้ำแบบระบบปิดบริการ

ย้ำอีกที เพื่อการ "รู้ทัน ส.ส."

ที่บางคนอาจริษยาบังจิต แล้วไปพูดว่า รัฐบาลมีนอก-มีในกับจีน ด้านก่อสร้าง

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เป็นโครงการที่ทางฝั่งไทยเป็นผู้ลงทุนงานโยธาทั้งหมด

ด้วยวิธีเปิดประมูลเป็นรายสัญญา แบบเดียวกับการก่อสร้างของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร

โดยในส่วนของงานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล ทางฝั่งจีนเป็นผู้รับผิดชอบ โดยว่าจ้าง "บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิล จำกัด"

ผู้ผลิตรถไฟฟ้าบีทีเอส รุ่นที่สอง (EMU-B: Bombardier  Movia) เป็นผู้ผลิตตัวรถไฟฟ้าและจัดหาระบบเดินรถไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโครงการทั้งหมด

เข้าใจ "ภาพรวม" ของรถไฟความเร็วสูง "ไทย-ลาว-จีน" พอที่จะไม่ถูกพวก ส.ส.หลอกต้มด้วยข้อมูลริษยากันแล้วนะ!

จะเห็นว่า "ทุกเส้นทาง" ทั้งรถไฟรางคู่, รางเดียว, รถไฟฟ้าสีต่างๆ, รถไฟฟ้าความเร็วสูง ๓ สนามบิน, รถไฟฟ้าความเร็วสูง "ไทย-ลาว-จีน", รถไฟฟ้าความเร็วสูง "ไทย-จีน-ญี่ปุุ่น" และ Central Route ที่จะเชื่อมต่อประเทศกลุ่ม CLMV

เรียกว่า ทั้งหมด-ทั้งมวล......

จากทุกสารทิศของเส้นทาง "วิ่งมารวมศูนย์" ที่ "สถานีกลางบางซื่อ" ทั้งหมด

ฉะนั้น ไม่ง่ายเลย กับการบริหารรางและการก่อสร้างในช่วง "คอขวด" ที่รถไฟทุกชนิด จะประดัง-ประเดเข้ามาสู่สถานีกลางบางซื่่อในเวลาเดียวกัน!

เอาเท่านี้ก่อน วันหลังค่อยมาดูกันว่า แต่ละช่วงสร้างไปถึงไหนแล้วบ้าง โดยเฉพาะช่วง"โคราช-หนองคาย"น่าจะยัง

เรานั่งดู-นั่งตำหนิ มันง่าย

แต่คนที่ไปดีลกับจีน ต้องถือว่า "รักษาประโยชน์ชาติ" ได้สมน้ำ-สมเนื้อ

เห็นว่า เขาชื่อ "ประยุทธ์ จันทร์โอชา" มิใช่รึ?

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'รัฐมนตรีถุงขนม' ๑

อีกปัญหาหนึ่งของรัฐบาล "เศรษฐา ๒" คือการแต่งตั้ง "นายพิชิต ชื่นบาน" ที่เรียกกันว่า "ทนายถุงขนม" เป็นรัฐมนตรี!

'ผู้กำลังจะมากับดาว'

"ดาวพฤหัสบดี" เทพเจ้าแห่งคุณธรรม "ดาวปราบมาร" ย้ายบ้านจาก "เมษ" ไปอยู่ "พฤษภ" แล้ว เมื่อวาน (๓๐ เม.ย.๖๗) พฤษภ เป็นภพ "กดุมภะ" ของดวงเมือง

"จะแถกไปได้ซักกี่เดือน?"

เรา "เห็นอะไร"..... จากการลาออกจากตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ" ของท่าน "ปานปรีย์ พหิทธานุกร"?

ความหวังคนกรุง ยกระดับ'รถเมล์ไทย'

ปัญหารถโดยสารประจำทางหรือ”รถเมล์” ยังเป็นที่พูดถึงมาทุกยุคสมัย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการเดินทางด้วยรถเมล์ ผู้โดยสารมีทุกกลุ่มทุกวัย ไม่ว่าจะคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา คนต่างจังหวัดมาทำงานในเมือง คนแก่ คนพิการ ที่ใช้บริการรถเมล์ไทยสู่จุดหมายทั่วมุมเมือง