ความหวังคนกรุง ยกระดับ'รถเมล์ไทย'

ปัญหารถโดยสารประจำทางหรือ”รถเมล์” ยังเป็นที่พูดถึงมาทุกยุคสมัย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการเดินทางด้วยรถเมล์ ผู้โดยสารมีทุกกลุ่มทุกวัย ไม่ว่าจะคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา คนต่างจังหวัดมาทำงานในเมือง คนแก่ คนพิการ ที่ใช้บริการรถเมล์ไทยสู่จุดหมายทั่วมุมเมือง พวกเขามีความหวังกับการได้นั่งรถเมล์อย่างปลอดภัยตลอดการเดินทางในเมืองใหญ่ ได้พบกับคนขับรถเมล์ใจดี กระเป๋ารถเมล์ที่พร้อมส่งรอยยิ้มและให้บริการเหมือนคนในครอบครัว

มีความพยายามลบภาพจำรถเมล์แบบเดิมๆ ของไทย ทั้งรถเก่า ปล่อยควันดำโขมง กระเป๋ารถเมล์ด่าผู้โดยสาร โชเฟอร์รถเมล์ซิ่งชนยับ พัฒนาเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่าเดิม ฝั่งกระทรวงคมนาคมผลักดันแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดหารถโดยสารพลังงานสะอาด (EV) แทนรถร้อนเก่า ปฏิรูปเส้นทางเดินรถ ตั้งธงยกระดับทั้งรถเมล์ไทยและยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ แต่ก็ยังค่อยเป็นค่อยไป

การพัฒนารถเมล์และอาชีพรถเมล์ไทยจะสำเร็จได้ ต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ระดมความเห็นเพื่อแก้ไข ปรับปรุงปัญหาการให้บริการ ขาดไม่ได้ฟังเสียงของคนเล็กคนน้อยผู้ใช้บริการรถเมล์ตัวจริง เพื่อหาทางออกสู่การให้บริการขนส่งสาธารณะยุคใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทุกกลุ่ม รองรับการเติบโตของเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ สำนักข่าวไทยโพสต์ เปิดวงเสวนา ทอล์ก ออฟ เดอะ ที หัวข้อ “รถเมล์ไทยต้องดีกว่าเดิม” ชวน กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธาน​เจ้าหน้าที่​บริหาร​ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจรถเมล์ไทย , ธนรัตน์ ตั้งประจักษ์​ภักดี ตัวแทนเพจ Bangkokbusclub และ ดร.ธัญญ์นิธิ ฉัตรวัฒนพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนขับรถ 3K Solution management  ที่ร่วมพัฒนาศักยภาพคนขับรถเมล์ ร่วมพูดคุยโจทย์ยากๆ นี้ และความเป็นไปได้ในการพลิกโฉมรถเมล์ไทยให้ดีขึ้น

การปฏิรูปรถเมล์ในมุมคนใช้บริการ ธนรัตน์ ตั้งประจักษ์ภักดี เผยเสียงสะท้อนของประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาหลักๆ การให้บริการรถเมล์ไทย ขณะนี้อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการรายเดิมเป็นรายใหม่ บางเส้นทางยังไม่เปลี่ยน บางเส้นทางไม่ได้ไปต่อต้องยุบสาย บางเส้นทางเปิดใหม่และประชาชนยังไม่ทราบ รวมถึงการให้บริการ รถเมล์ออกขวา โบกไม่จอดรับ รถไปไม่ถึงปลายทาง รถต้องกลับอู่ไปชาร์จไฟหรือเติมแก๊ส รวมถึงการให้บริการของบัสโฮสเตสปะทะกับผู้ใช้บริการ หงุดหงิดระหว่างการทำงาน

“ ปัจจุบันมีเอกชนหลายเจ้า ไทยสมายล์บัสเป็นเจ้าใหญ่  ยอมรับว่าเป็นผู้ประกอบการรถเมล์ที่ต่างจากในอดีต  มีโมเดลพัฒนาบุคคลากร  ตอนนี้อยู่ในแผนปฏิรูปเส้นทาง 123 เส้นทาง ซึ่งแต่ละเส้นทางความต้องการต่างกัน ต้องบริหารจัดการแบบปาดเหงื่อ  ส่วนตัวใช้รถเมล์เดินทางประจำ จากเดิมขึ้นรถร้อน 8 บาท ต้องทนฝุ่นควันเต็มตัว เมื่อเปลี่ยนมาขึ้นรถเมล์ EV คุณภาพชีวิตดีขึ้น  ถือเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการ “  ธนรัตน์ กล่าว

ด้าน กุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา กล่าวว่า ปัจจุบันไทยสมายล์บัสนำรถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาให้บริการอยู่ที่ 2,250  คันครอบคลุม 123 เส้นทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้บริการมากว่า 2 ปี   มีเสียงสะท้อนจากผู้ใช้บริการเข้ามาบ้าง เช่น ไม่จอดรับผู้โดยสาร  เรายอมรับและเก็บสิ่งที่ผู้โดยสารติชมนำมาปรับปรุง นำเจ้าหน้าที่มาอบรมพัฒนาทักษะของพนักงานในการให้บริการใหม่ทั้งหมด ทั้งมารยาท การเก็บค่าโดยสารเปลี่ยนจากใช้กระบอกตั๋วเป็นระบบอิเล็กทรอนิก  ลบภาพการให้บริการแบบเก่าๆ เราลงทุนกับการพัฒนาบุคลากร ปัจจุบันมีพนักงานของไทย สมายล์ บัส  6,000 ชีวิต เป็นกัปตันเมล์และบัสฮอสเตสอย่างละครึ่ง การที่เราเปลี่ยนนวัตกรรมใหม่ใช้รถเมล์ไฟฟ้าจะไม่เหมือนรถสันดาปรถรุ่นเก่าต้องพัฒนาศักยภาพ​คนขับ คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตประชาชนและป้องกันอุบัติเหตุเป็นหลัก รวมถึงมีมาตรการลงโทษกรณีพนักงานมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ด่าทอผู้โดยสาร หากตักเตือนแล้ว ทำผิดซ้ำถึงขั้นปลดออกจากการเป็นพนักงาน ไทยมีธุรกิจขนส่งมานานแล้ว แต่เราขาดบุคลากรที่จะทำงานด้วยใจ อาชีพรถเมล์เป็นการให้บริการด้วยใจ เราปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องนี้  ใส่ใจผู้โดยสาร

ปัญหาคลาสสิครอรถเมล์นาน ประเด็นนี้ กุลพรภัสร์ บอกว่า เราเพิ่มจำนวนรถเข้าไปให้สอดคล้องกับความต้องการและมากกว่ามาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางไปทำงานได้ มีรถกลับบ้านรวดเร็วมากขึ้น อีกทั้งให้ความสำคัญกับการให้บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการทางร่างกาย ผู้พิการทางหูและตา รถ EV ที่ให้บริการมีฟังก์ชันครบครัน  เราอยากให้รถเมล์เป็นฮีโร่ของประชาชน ไม่ใช่มองว่า รถสาธารณะเป็นรถสำหรับคนจน หวังเห็นรถเมล์เป็นรถสำหรับคนทุกระดับ คนเงินเดือนสูง ผู้พิพากษา อัยการ หมอ มาใช้บริการ ลดการจราจรติดขัด ลดฝุ่น PM2.5  อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงรถเมล์ไทยดีกว่าเดิม รัฐบาลต้องสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจัง นอกจากนี้ เราเป็นเจ้าแรกขายคาร์บอนเครดิต  5 แสนตัน ได้เงินคืนจากการขายตันละประมาณ 600 ล้านบาท เป็นรถบัสฝีมือคนไทยและแบตเตอรี่​สร้างโดยคนไทย

โชเฟอร์รถเมล์ตีนผี ขับรถไร้มารยาท เป็นปัญหาที่คนใช้บริการ ต้องเผชิญตลอดมา  ดร.ธัญญ์นิธิ ฉัตรวัฒนพัฒน์ กล่าวว่า คนขับรถเมล์เป็นกับขับรถเมล์ดีไม่เหมือนกัน ปัญหาอุบัติเหตุในการขับขี่ไม่ได้แก้ด้วยกฎหมายอย่างเดียว มนุษย์เป็นอีกตัวแปร  มีไม่กี่อาชีพที่ประชาชนฝากชีวิตไว้ คนขับรถเมล์เป็นหนึ่งในนั้นต้องปลูกฝังจิตสำนึก  จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับไทย สมายล์ บัส พยายามพัฒนาและยกระดับคนขับรถเมล์ ทั้งความเป็นอยู่ รายได้ ชุดยูนิฟอร์ม และความภาคภูมิใจในการ

 “ คนขับรถเมล์ รวมถึงกระเป๋ารถเมล์มีรายได้ช่องทางเดียว เขาต้องหาผู้โดยสารให้มากที่สุดจึงเกิดการแข่งกัน นำสาเหตุอุบัติเหตุในท้องถนนมาจากอุบัติเหตุและพฤติกรรม คนขับที่ดื่มหนักหรือเสพยาบ้ายังมีอยู่  ต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบผ่านการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ มีมาตรการลงโทษขั้นเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นความเสี่ยง ที่ผ่านมา จำนวนผู้เข้าอบรมทั้งกัปตันเมล์และบัสโฮสเตสแล้ว 600 คน อบรมเรื่องการขับรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการบริการ หลังการอบรมมีการติดตาม ประเมินผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร นำไปทำได้จริงไหม นอกจากนี้ อบรมเสริมบุคลิกภาพบัสโฮสเตส ถือเป็นภาพลักษณ์​ขององค์กร มีหน้าที่ให้ข้อมูลกับผู้โดยสาร การแต่งกายและมารยาทต้องดี “ ดร.ธัญญ์นิธิ กล่าว พร้อมยอมรับโจทย์พัฒนาคนขับรถเมล์ไม่ง่าย แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตอาชีพรถเมล์ และเพิ่มความปลอดภัยการใช้ระบบรถโดยสารสาธารณะในมหานครมากขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทัพเรือ 'กระแอม-กระไอ'

"เศรษฐาทัวร์"ออกเดินทางไป "ฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น" วันนี้ หนึ่งในภารกิจสำคัญเพื่อชาติ ครั้งนี้

"แผ่นดินประเทศ" อ่อนล้า

หมู่นี้ "รัฐบาลเศรษฐา" ออกอาการแกว่งๆ ชอบกล!? แกว่งทั้ง "พรรคร่วม-พรรคแกน" จนหาทิศทางประเทศไม่เจอ

'กวีไทยกะเทาะโกง'

"อากาศเปลี่ยน" หรือ "สังขารผมเปลี่ยน" ก็ไม่รู้นะ สอง-สามวันนี้ .... เกิดอาการ "สองแง่-สองง่ามทางจิต" ว่าเป็นโควิดซ้ำซากหรือเป็นไข้ร้อนระบัดฝนกันแน่?

'ปรากฏการณ์เทวดา'

นับตั้งแต่ "นักโทษเทวดา" กลับเข้ามานี่ บ้านเมืองนับวันแต่มีเหตุ "อาเพศ-วิปริต"