พอเกิด ‘กบฏวากเนอร์’ 2023 ก็ต้องย้อนดู ‘กบฏ 1991’

พอเกิดกรณี “กบฏวากเนอร์” เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน 2023 ก็มีคนย้อนคิดถึง “กบฏปี 1991” กลางกรุงมอสโก

วันนี้จะลองกลับไปดูรายละเอียดของความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อ 32 ปีก่อน

จะเห็นความเหมือนและความต่างของการเมืองอันน่าตื่นตาตื่นใจของรัสเซียอย่างน่าสนใจยิ่ง

ความพยายามในการก่อรัฐประหารของสหภาพโซเวียตในปี 1991 นั้น มีอีกชื่อหนึ่งว่า “รัฐประหารสิงหาคม” หรือ The August Coup

เมื่อล้มเหลวจึงถูกเรียกว่า “กบฏสิงหา” เหมือน “กบฏมิถุนา” เมื่อสัปดาห์ก่อน

เป็นความพยายามที่ล้มเหลวโดยกลุ่มหัวรุนแรงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ที่ต้องการจะโค่นอำนาจของ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโซเวียตและเลขาธิการทั่วไปของพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น

ผู้นำการรัฐประหารประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนระดับสูง

รวมถึงรองประธานาธิบดี Gennady Yanayev ซึ่งร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉิน (GKChP) เพื่อเตรียมเข้าบริหารประเทศแทนรัฐบาลเดิม

เหตุผลสำคัญที่มีการรวมตัวกันของคนในระดับสูงและคนรอบข้างกอร์บาชอฟ คือแรงต่อต้านนโยบายปฏิรูปของผู้นำ

นโยบาย Perestroika กับ Glasnot ของกอร์บาชอฟต้องการจะนำพาประเทศให้ออกจากภาวะเสื่อมทรามทางการเมืองและเศรษฐกิจ

Perestroika คือนโยบายให้การควบคุมเศรษฐกิจจากส่วนกลางคลายตัวลง เพื่อเปิดทางให้เกษตรกรและผู้ผลิตบางรายตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์ใด จำนวนเท่าใด และจะคิดค่าใช้จ่ายเท่าใด

Glasnost ซึ่งแปลว่า "การเปิดกว้าง" เป็นนโยบายที่เปิดกว้างให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ

ภายใต้นโยบายนี้พลเมืองโซเวียตไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่า เพื่อนบ้าน เพื่อน และคนรู้จักจะเป็นสายให้หน่วยสืบราชการลับ KGB

โดยสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือผู้นำได้อย่างเปิดเผย

แต่กลุ่มอำนาจเก่ารอบๆ ผู้นำไม่ยอมรับ และมีความไม่พอใจอย่างยิ่งที่สูญเสียการควบคุมเหนือรัฐต่างๆ ในยุโรปตะวันออก และกลัวสนธิสัญญาสหภาพใหม่ซึ่งใกล้จะลงนาม

อันเป็นสนธิสัญญากระจายอำนาจส่วนใหญ่ของรัฐบาลกลางโซเวียตไปยัง 15 สาธารณรัฐ

กลุ่มหัวรุนแรงของ GKChP ได้ส่งเจ้าหน้าที่ KGB ไปกักตัวกอร์บาชอฟไว้ที่ที่พักตากอากาศของเขา

แต่ปรากฏว่าที่ล้มเหลวเพราะไม่สามารถกักตัวบอริส เยลต์ซิน ซึ่งเป็นประธานาธิบดีของรัสเซียที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่

เยลต์ซินเป็นทั้งพันธมิตรและนักวิจารณ์กอร์บาชอฟ

กลุ่มก่อการขาดการประสานงานที่ดี และเจอการต่อต้านที่มีประสิทธิภาพจากทั้งเยลต์ซินและการรณรงค์ของพลเรือนในการประท้วงต่อต้านเผด็จการ

กิจกรรมวุ่นวายนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรุงมอสโกเป็นหลัก

ผลที่ตามมาคือ ความพยายามก่อรัฐประหารมีอันต้องพังพินาศลงภายในสองวัน

และกอร์บาชอฟกลับเข้านั่งตำแหน่งเดิม

ส่วนผู้ร่วมก่อการทั้งหมดกลายเป็นผู้พ่ายแพ้

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผลให้เยลต์ซินกลายเป็นผู้นำที่โดดเด่น แต่กอร์บาชอฟสูญเสียอิทธิพลไปมาก

และการรัฐประหารที่ล้มเหลวนำไปสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (CPSU) และการสลายตัวของสหภาพโซเวียตในอีกสี่เดือนต่อมา

นับตั้งแต่เข้ารับอำนาจในฐานะเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตในปี 1985 กอร์บาชอฟได้เริ่มดำเนินโครงการปฏิรูปครั้งใหญ่

การปฏิรูปด้วยแนวทาง Perestroika และ Glasnot นั้นก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวต่อต้าน และความสงสัยในส่วนของสมาชิกสายแข็งของกลุ่มอำนาจเก่า

การปฏิรูปยังก่อให้เกิดความปั่นป่วนในหมู่ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่รัสเซียของสหภาพโซเวียต

ในปี 1991 สหภาพโซเวียตประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองอย่างรุนแรง

ปัญหาหนักหน่วงตามมาด้วยการขาดแคลนอาหาร ยา และเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ อย่างกว้างขวาง

ผู้คนต้องต่อแถวยาวเพื่อซื้อสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

สต๊อกเชื้อเพลิงต่ำกว่าปริมาณที่คาดการณ์ไว้สำหรับฤดูหนาวที่กำลังใกล้มาถึง 50%

และอัตราเงินเฟ้อพุ่งเกิน 300% ต่อปี

โรงงานต่างๆ ขาดเงินสดที่จำเป็นในการจ่ายเงินเดือน

และในปี 1990 เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และอาร์เมเนีย ได้ประกาศการฟื้นฟูอิสรภาพจากสหภาพโซเวียต

ในเดือนมกราคมของปีต่อมา มีความพยายามอย่างรุนแรงในการบังคับให้ลิทัวเนียกลับคืนสู่สหภาพโซเวียตด้วยการใช้กำลัง

ประมาณหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ก็ใช้กำลังในลักษณะเดียวกันนี้ที่ลัตเวีย

โดยเป็นฝีมือของกองกำลังท้องถิ่นที่ฝักใฝ่โซเวียตเพื่อโค่นอำนาจทางการลัตเวีย

รัสเซียประกาศอำนาจอธิปไตยของตนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.1990

และหลังจากนั้นก็จำกัดการใช้กฎหมายของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะกฎหมายที่ควบคุมการเงินและเศรษฐกิจในดินแดนของรัสเซีย

การลงประชามติทั่วทั้งสหภาพเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 1991 ซึ่งถูกคว่ำบาตรโดยรัฐบอลติก อาร์เมเนีย จอร์เจีย และมอลโดวา

หลังการเจรจาต่อรองอย่างหนัก ประชาชนส่วนใหญ่ในสาธารณรัฐอื่นๆ 8 ใน 9 สาธารณรัฐที่เหลือ (ยูเครนงดออกเสียง) ได้ยอมรับรายละเอียดของสนธิสัญญาสหภาพใหม่โดยมีเงื่อนไขบางประการ

สนธิสัญญาที่ว่านี้กำหนดให้สหภาพโซเวียตเป็นสหพันธรัฐอิสระที่เรียกว่า สหภาพสาธารณรัฐอธิปไตยของสหภาพโซเวียต โดยมีประธานาธิบดีร่วมกัน นโยบายต่างประเทศ และการทหาร

รัสเซีย คาซัคสถาน และอุซเบกิสถานลงนามในสนธิสัญญาที่มอสโกเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1991

นั่นคือจุดเปลี่ยนผ่านครั้งประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งสำหรับสหภาพโซเวียต

แม้แต่ทุกวันนี้ ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียก็ยังรำลึกถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตด้วยความสงสัยและคับข้องใจ

เขาเห็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นฝีมือส่วนหนึ่งของการยั่วยุจากตะวันตก

แม้ว่าประเทศที่แยกออกมาส่วนใหญ่วันนี้จะยืนยันว่า พวกเขาตัดสินใจด้วยตัวเองในการแยกตัว

และทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านั้นได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ EU และ NATO ก็ด้วยความสมัครใจและความเห็นพ้องต้องกันของประชาชนส่วนใหญ่

และปูตินก็ยังกล่าวหาว่าทั้งหมดเป็น “แผนชั่วร้ายของตะวันตก” ที่ต้องการจะบ่อนทำลายความยิ่งใหญ่ในอดีตของสหภาพโซเวียตอยู่ดี

เมื่อเกิด “กบฏวากเนอร์” ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงมีการย้อนกลับไปศึกษากรณี “กบฏสิงหา 1991” ที่มีความเหมือนและต่างกันอย่างน่าสนใจยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว