โอกาสที่รัสเซียจะกดปุ่มนิวเคลียร์จากศึกยูเครน

Patricia Lewis จาก International Security Programme นำเสนอว่า เมื่อกองทัพรัสเซียบุกยูเครน ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประกาศพร้อม “ตอบโต้ (นาโต) ทันที” ด้วยอาวุธนิวเคลียร์หากเข้ามาแทรกแซง จะกลายเป็นหน้าประวัติศาสตร์อย่างที่ไม่เคยอ่านเจอมาก่อน ไม่กี่วันต่อมาปูตินสั่งกองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อม บางคนชี้ว่ารัสเซียพร้อมกดปุ่มนิวเคลียร์ก่อน

6 เดือนต่อมารัสเซียเคลื่อนกองกำลังนิวเคลียร์ ยกระดับความพร้อมขึ้นอีก และเรียกทหารกองหนุน 300,000 นาย เตรียมผนวกดินแดนยูเครนเพิ่มเติม เรื่องนี้นักวิเคราะห์กังวลว่ารัสเซียกำลังปรับแผนใช้นิวเคลียร์ให้ง่ายขึ้น คือ ไม่ใช่เฉพาะกรณีประเทศเสี่ยงล้มหายตายจากเท่านั้น อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามตีความผิด ต่างฝ่ายต่างพร้อมยิงนิวเคลียร์

ภาพ: ขีปนาวุธ Iskander
เครดิตภาพ: https://missilethreat.csis.org/missile/ss-26-2/#jp-carousel-5592

สมัยสงครามเย็นใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดหายนะด้วยกันทั้งสองฝ่าย (mutually assured destruction: MAD) ต่างระวังไม่ให้เกิดสงครามใหญ่ เพราะมีอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายอีกฝ่ายให้ย่อยยับ ปัจจุบันความสามารถในการป้องปรามเป็นที่สงสัยว่าสามารถทนต่อการโจมตีด้วยไซเบอร์หรือไม่ สูญเสียการบังคับอาวุธหรือผิดพลาด

ท่ามกลางศึกยูเครนตึงเครียดและส่อว่าจะรุนแรงขยายวง กุมภาพันธ์ 2023 ประธานาธิบดีปูตินประกาศระงับ (suspension) ข้อตกลงจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ New START ด้วยเหตุผลว่า รัสเซียขอตรวจสอบให้มั่นใจว่าปลอดภัยไม่ถูกคุกคามเหมือนอย่างเช่นตอนนี้ ผลคือรัสเซียอาจเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์ ไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเข้าตรวจสอบ ไม่จำต้องรายงานอาวุธที่ถือครอง อีกทั้งอาจมีผลต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty: CTBT) สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT)

การระงับ (suspension) New START ชี้ว่ารัสเซียยกระดับความพร้อมนิวเคลียร์อีกขั้น

ที่ผ่านมา หลายฝ่ายตีความว่ารัสเซียจะใช้นิวเคลียร์กับยูเครนเท่านั้น ไม่ใช้กับชาติสมาชิกนาโตเพราะจะหมายถึงสงครามโลก การใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical nuclear weapon) กับยูเครนจึงมีความเป็นไปได้มากสุด แต่เป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดรัสเซียอาจใช้นิวเคลียร์กับนาโต เพราะชาติสมาชิกนาโตเคยพูดทำนองว่าจะใช้กับรัสเซีย ปูตินจึงโต้กลับว่าประเทศตนมีนิวเคลียร์ที่ทันสมัยกว่าและพร้อมใช้ปกป้องมาตุภูมิ ปกป้องคนของตน นี่ไม่ใช่คำขู่

หากรัสเซียเคลื่อนไหว สหรัฐจะจับได้ทันที จะเตรียมตอบโต้ทันควัน รวมถึงชิงโจมตีทำลายฐานนิวเคลียร์รัสเซียก่อน เป็นฉากทัศน์ที่สุ่มเสี่ยงไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเคลื่อนทัพนิวเคลียร์ เป้าที่จะถูกโจมตีมีเป็นร้อย

ควรเข้าใจว่าหากยูเครนโดนนิวเคลียร์ รังสีกับฝุ่นนิวเคลียร์จะกระทบประเทศอื่นๆ แถบนั้นด้วย คำถามตามมาคือนาโตจะตอบสนองอย่างไร บางคนคิดว่านาโตจะส่งกองทัพโจมตีรัสเซีย บางคนคิดว่าจะโต้กลับด้วยนิวเคลียร์ที่มีราว 150 ลูกในเบลเยียม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อิตาลี และตุรกี ไม่นับอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ กรณีเช่นนี้ย่อมหมายถึงสงครามนิวเคลียร์ซึ่งยากจะเกิด ทุกประเทศต่างระมัดระวังไม่ให้ไปถึงจุดนั้น

ยูเครนมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 15 เตา มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 50% ที่ใช้ทั้งประเทศ ทั้งหมดอยู่ใต้การดูแลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มีอันตรายน้อยกว่าหากเตาเสียหายปล่อยรังสีออกมา ที่ผ่านมาเมื่อรัสเซียยึดได้จะปิดเครื่องช่วยด้านความปลอดภัย

รัสเซียติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่เบลารุสแล้ว:

กลางเดือนมิถุนายน 2023 ขีปนาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีชุดแรกเดินทางถึงประเทศเบลารุส ตามแผนที่ประกาศเมื่อ 3 เดือนก่อน ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่ามีมากกว่านี้ และจะส่งมอบทั้งหมดอย่างช้าไม่เกินสิ้นปี ด้าน Antony Blinken รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐชี้ว่า แผนนิวเคลียร์ของตนยังคงเดิม ยังไม่เห็นความเคลื่อนไหวใดๆ ว่ารัสเซียเตรียมใช้อาวุธนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับที่รัสเซียชี้แจงว่ายังไม่คิดใช้ตอนนี้ การติดตั้งที่เบลารุสเป็นไปตามขั้นตอนปกป้องรัสเซีย

ระยะยิงขีปนาวุธ Iskander นอกจากครอบคลุมยูเครนเกือบทั้งหมดแล้ว พื้นที่โปแลนด์ นอร์เวย์ ฮังการี โรมาเนียยังตกเป็นเป้าหมาย หัวรบรัสเซียอาจแรง 100 กิโลตันเทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมาขนาด 15-40 กิโลตัน

การติดตั้งขีปนาวุธนี้ในเบลารุสเพิ่มช่องทางโจมตีอีกหนึ่ง ความจริงแล้วรัสเซียสามารถใช้นิวเคลียร์ผ่านเครื่องบินทิ้งระเบิด เรือรบในย่านบอลติกกับทะเลดำ น่าจะเป็นเหตุที่นาโตระบุว่าการติดตั้งขีปนาวุธไม่เปลี่ยนสถานการณ์นิวเคลียร์

Sergei A. Karaganov จาก Russian Council on Foreign and Defense Policy มีความเห็นอีกด้านว่า ที่สุดแล้วรัสเซียอาจชิงลงมือใช้นิวเคลียร์ก่อน ด้วยเหตุผลดังนี้

ประการแรก จะเล่นงานรัสเซียไม่เลิกแม้รัสเซียชนะศึกยูเครน

ไม่ว่าจะยึดครองยูเครนบางส่วนหรือทั้งหมด รัฐบาลชาติตะวันตกจะเล่นงานรัสเซียไม่เลิก กระแสข่าวหนาหูคือโปแลนด์จะรบรัสเซียเป็นรายต่อไป

แนวคิดนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าจะไม่หยุดรบ ควรเข้าใจด้วยว่าชาติตะวันตกไม่ได้ตั้งรับ แต่เป็นฝ่ายรุกและจะรุกจนกว่ารัฐบาลปูตินแพ้ ยูเครนถูกใช้เพื่อจุดชนวนการรบเท่านั้น

ไม่กี่วันก่อน ประธานาธิบดีเซเลนสกีกล่าวว่า ถ้ายูเครนแพ้ รัสเซียจะไม่เพียงยึดยูเครนเท่านั้น แต่จะทำสงครามต่อกับประเทศในกลุ่มบอลติก (เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย) ทำสงครามกับโปแลนด์ ทำสงครามกับสมาชิกนาโต ผลคือสหรัฐต้องเลือกระหว่างล้มนาโต (เพื่อเลี่ยงกฎบัตรนาโตที่ต้องปกป้องสมาชิก) หรือเข้าทำสงคราม

ยูเครนไม่ได้รุกรานรัสเซีย รัสเซียต่างหากที่รุกรานชาติอารยะ

รวมความแล้วแนวคิดนี้ชี้ว่าสงครามกับรัสเซียจะดำเนินต่อเนื่องอีกหลายปี ไม่จบง่ายๆ เพราะไม่มีฝ่ายใดยอมแพ้ ผลประโยชน์ที่ได้มาหรือสูญเสียมากเกินกว่าจะยอมแพ้

เมื่อสงครามยืดเยื้อยาวนานถึงจุดหนึ่ง เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียที่ยอดสะสมเพิ่มมากขึ้นทุกทีทั้งชีวิต ทรัพย์สิน รัสเซียจำต้องตัดสินใจใช้นิวเคลียร์ แม้ต้องถูกประณามก็ตาม

ใกล้ 8 ทศวรรษแล้วที่ชาติตะวันตกห่างจากสงครามโลก คนรุ่นใหม่ไม่เข้าถึงความโหดร้ายของสงคราม เป็นไปได้ว่าชาวตะวันตกปัจจุบันอาจเห็นด้วยกับสงครามใหญ่ สื่อโซเชียล การปลุกปั่นอาจสร้างความรักชาติอย่างบ้าคลั่งจนอยากให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายรัสเซีย แผนใช้นิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ถูกเอ่ยถึงบ่อยครั้ง ความกระหายที่จะรักษาความเป็นเจ้าอาจชักนำให้ชนชั้นปกครองเลือกใช้อาวุธนิวเคลียร์ยุทธศาสตร์ และพวกเขารู้ว่ารัสเซียอาจชิงลงมือก่อน

Sergei A. Karaganov อธิบายต่อว่า ถ้าเขาเป็นจีน เขาอยากให้ศึกที่รบกับรัสเซียยืดเยื้อออกไปเช่นกัน เป็นโอกาสที่จีนจะเข้มแข็งเติบโตกว่านี้ กองกำลังนิวเคลียร์จีนตอนนี้ยังอ่อนแอมาก ถ้ารัสเซียใช้นิวเคลียร์กับยุโรป จีนอาจแอบดีใจที่ยุโรปถดถอยอ่อนแอลงหลายสิบปี ซึ่งหมายถึงขั้วสหรัฐอ่อนแอลงด้วย

ประการที่ 2 อาจมีแผนใช้ dirty bomb

เรื่อง dirty bomb เป็นอีกแนวคิดที่ชี้ว่ารัสเซียอาจใช้ระเบิดดังกล่าวเพราะกำลังพ่ายศึก ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าแผนของรัสเซียคือสร้างสถานการณ์ว่ายูเครนใช้ dirty bomb รัสเซียจึงโต้ด้วยนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (tactical nuclear) ด้านรัฐบาลรัสเซียพูดตรงข้ามว่ายูเครนต่างหากที่เตรียมจะใช้ dirty bomb ทั้ง 2 ฝ่ายต่างปฏิเสธเตรียมใช้ระเบิดดังกล่าว (dirty bomb คือระเบิดชนิดหนึ่งที่บรรจุสารกัมมันตรังสี ทำให้พื้นที่ที่รังสีแผ่ถึงอยู่อาศัยไม่ได้)

แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์มาก รัสเซียติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่เบลารุส ประธานาธิบดีปูตินประกาศระงับข้อตกลง New START หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ไม่ว่าฝ่ายใดยิงก่อนจะเป็นหายนะโลก กระทบประชากรโลกหลายพันล้านคนอีกหลายสิบปี

หากคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รัฐบาลที่รับผิดชอบพลเมืองย่อมไม่ปล่อยให้หายนะไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือสังคมนิยม

อย่างน้อยพวกผู้มีอำนาจน่าจะอยากเสวยสุขต่อไปมากกว่าอยู่ในโลกหลังสงครามนิวเคลียร์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง

สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด

ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง

ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ

เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21

BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง