เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
เบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ 2024 แสดงท่าทีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านและกลุ่มต่างๆ ในบริบทล่าสุด บทความนี้เป็นตอนที่ 2 มีสาระสำคัญพร้อมการวิเคราะห์ ดังนี้
ภาพ: Bezalel Smotrich ผู้นำพรรค Religious Zionist
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10159208756997427&set=t.100050298347371&type=3
ส่งเสริมสันติภาพด้วย Abraham Accords:
รัฐบาลอิสราเอลเสนอ Abraham Accords เป็นข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติ ความหมายว่า ประเทศนั้นยอมรับความเป็นรัฐชาติของอิสราเอล (nation-state) ซึ่งแต่เดิมพวกรัฐอาหรับประเทศมุสลิมจะไม่ยอมรับอิสราเอล
สิงหาคม 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศแรกที่ทำ Abraham Accords Peace Agreement เดือนถัดมาบาห์เรนประกาศสถาปนาการทูตกับอิสราเอลเช่นกัน เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accord ระบุชัดว่า ทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์ และผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกัน (spirit of coexistence) ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน
แม้ชาติมุสลิมทยอยเข้าร่วมแต่รัฐบาลซาอุฯ ซึ่งเป็นพี่ใหญ่อาหรับยังไม่ยอมรับ ไม่แปลกที่นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่า เป้าหมายสำคัญตอนนี้คือให้ซาอุฯ ร่วมข้อตกลง Abraham Accords ที่ผ่านมามีการเจรจาหลายรอบ รัฐบาลสหรัฐพยายามช่วยแต่ซาอุฯ ยังแข็งขืน
รัฐบาลอิสราเอลย้ำว่าข้อตกลงนี้ได้นำคนอิสราเอลนับล้านเดินทางสู่ประเทศตะวันออกกลาง ส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นผลดีต่อทั้งภูมิภาค อาหรับกับอิสราเอล อิสลามกับยาดาห์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
แต่ด้านนายมะห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ชี้ว่า เป็นการ “ทรยศต่อเยรูซาเลม มัสยิดอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa Mosque) และต่อประเด็นปาเลสไตน์ (Palestinian cause)”
โครงสร้างสันติภาพใหม่:
นายกฯ เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านตะวันออกกลางอย่างสงบ ตอนนี้เหลือแต่อิหร่านกับพวกเท่านั้นที่ขัดขวาง จึงต้องช่วยกันทำให้อิหร่านเดินทางนี้ โครงสร้างสันติภาพตะวันออกกลางในอนาคตจะต้องมีอิสราเอล เพื่อนบ้านอื่นๆ และสหรัฐรวมอยู่ในโครงสร้างความร่วมมือนี้ โดยสหรัฐจะเป็นผู้นำ
ประเทศทั้งหลายที่เกี่ยวข้องต้องตัดสินใจว่าเลือกทางใด สันติภาพหรือสงคราม ถ้าเลือกร่วมมือกับอิสราเอล ทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์จากสันติภาพ
รัฐยิวรัฐเดียว:
นับวันแนวคิดรัฐยิวรัฐเดียว (Jewish state) จะถูกเอ่ยถึงมากขึ้นในสหประชาชาติ (ตรงข้ามกับทวิรัฐ) เหลือแต่พวกต่อต้านยิวที่ไม่ยอมรับแนวทางนี้ พวกนี้จะคอยให้ร้ายชาวยิวกับรัฐยิว หลายประเทศใช้เวทีสหประชาชาติประณามอิสราเอล บางหน่วยงานเป็นเครื่องมือต่อต้านยิว
แทนที่จะต้านยิวกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร อิหร่านต่างหากที่เป็นอาชญากร เพราะปรากฏตัวในทุกที่ ทั้งกาซา ซีเรีย เยเมน อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดอิสราเอลจะเป็นฝ่ายชนะ ชนชาติอิสราเอลจะดำรงสืบไป
มกราคม 2024 นายกฯ เนทันยาฮูพูดชัดว่าอิสราเอลจำต้องควบคุมเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) กับฉนวนกาซาเพื่อความมั่นคงปลอดภัย ไม่ปล่อยให้เกิดรัฐปาเลสไตน์แม้รัฐบาลสหรัฐไม่เห็นด้วย คนอิสราเอลส่วนใหญ่ต้องการเช่นนี้
เนทันยาฮูยืนยันล้มแนวทางทวิรัฐ (Two-State Solution) แบบเดิมแม้ไบเดนคัดค้าน ด้วยเหตุผลว่าถ้ามีประเทศปาเลสไตน์ย่อมต้องมีกองทัพของเขาพวกซึ่งเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อตน รัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องพลเรือน ตนไม่ได้ทำผิดอะไร กองทัพอิสราเอลจึงต้องเข้าควบคุมปาเลสไตน์ ไม่สนใจแรงกดดันนานาชาติ ข้อตกลงใดๆ ในอนาคตจะต้องตั้งบนเงื่อนไขเช่นนี้
ในที่สุดรัฐบาลเนทันยาฮูชุดนี้ที่มีพวกไซออนิสต์เข้มข้นจำนวนมาก ประกาศชัดไม่เอาแนวทางทวิรัฐ อิสราเอลจะควบคุมพื้นที่ปาเลสไตน์ทั้งหมด รวมถึงการไล่รื้อบ้านเรือนชาวปาเลสไตน์ด้วย ด้วยเหตุนี้ฝ่ายปลดปล่อยปาเลสไตน์จำต้องเทหมดหน้าตักสู้สุดตัว
ในอดีตนานาชาติกับอิสราเอลจะเอ่ยถึงนโยบายทวิรัฐ (Two-State Solution) ตามข้อตกลงสันติภาพออสโล (Oslo Peace Accords) เมื่อ 1993 สาระสำคัญคือปาเลสไตน์รับรองสถานะความเป็นประเทศของอิสราเอล พร้อมกับที่อิสราเอลรับรองสถานะขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ว่าเป็นตัวแทนปาเลสไตน์ ผู้ดูแลบริหารปกครองภายในดินแดนส่วนต่างๆ ของเวสต์แบงก์กับฉนวนกาซา (แต่ยังไม่ได้รับรองรัฐปาเลสไตน์) อิสราเอลต้องทยอยมอบอำนาจการดูแลพื้นที่คืนแก่ PLO (ปัจจุบันคือ PA) ท้ายที่สุดจะเกิดรัฐปาเลสไตน์ มีเยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวง
3 ทศวรรษที่นานาชาติประณามทุกปีคืออิสราเอลไม่รักษาสัญญาดังกล่าว ยังคงรื้อถอนบ้านเรือน ก่อสร้างที่อยู่อาศัยของตนในปาเลสไตน์มากขึ้น โดยอ้างก่อการร้ายจากปาเลสไตน์ ชี้ว่ารัฐบาลปาเลสไตน์ (PA) ไม่สามารถควบคุมความสงบ อิสราเอลจึงต้องลงมือด้วยตัวเอง เป็นเรื่องความมั่นคงของตนที่ยอมไม่ได้ จึงน่าสงสัยว่าอิสราเอลต้องสันติภาพจริงหรือไม่ พยายามถ่วงเวลาเพื่อผนวกเวสต์แบงก์กับฉนวนกาซาใช่ไหม
มาถึงปี 2024 บัดนี้ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลอิสราเอลภายใต้เนทันยาฮูล้มข้อตกลงดังกล่าว เรื่องนี้ที่ยาวนานหลายทศวรรษบ่งชี้ว่านานาชาติได้แค่ประณาม สุดท้ายรัฐบาลสหรัฐกับพวกยังสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งขัน ท่ามกลางเสียงประณามจากนานาชาติ
แรงต้านจากสหประชาชาติ:
แม้รัฐบาลอิสราเอลไม่ยึดสัญญา พฤษภาคม 2024 สมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) มีมติสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นสมาชิกเต็มตัว ชี้ว่าปาเลสไตน์มีคุณสมบัติครบถ้วน ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงทบทวนเรื่องการรับปาเลสไตน์เป็นสมาชิกอีกครั้ง 143 ประเทศสนับสนุนข้อมตินี้ 25 ประเทศงดออกเสียง มีเพียง 9 ประเทศที่คัดค้าน 2 ใน 9 ประเทศที่คัดค้านคือสหรัฐกับอิสราเอล
รัฐบาลซาอุฯ ชี้ว่ามติสมัชชาแสดงให้เห็นว่านานาชาติคิดเห็นอย่างไร การรับรองรัฐปาเลสไตน์สอดคล้องกับการสร้างสันติภาพถาวรในตะวันออกกลาง ตามแนวทางทวิรัฐ ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดอิสราเอลทำร้ายปาเลสไตน์
แม้ข้อมติสมัชชาสหประชาชาติผ่านด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นแต่ไม่มีผลบังคับใช้ ถ้าทบทวนข้อมูลเดิมพฤษภาคม 2020 เนทันยาฮูประกาศย้ำต้องผนวกพื้นที่ส่วนใหญ่ของเวสต์แบงก์ให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล เพื่อบันทึกอีกหน้าหน้าประวัติศาสตร์แห่งความรุ่งเรืองของลัทธิไซออนิสต์ (Zionism) พวกปาเลสไตน์จำต้องยอมรับ
การล้มแนวทางทวิรัฐ ข้อตกลงสันติภาพออสโล นำสู่คำถามที่สำคัญมาก คือ อิสราเอลยังเชื่อถือได้หรือไม่ ข้อตกลงใดๆ ที่อิสราเอลทำกับเพื่อนบ้านอาจถูกฉีกทิ้งในอนาคต คำมั่นสัญญาสันติภาพต่างๆ น่าเชื่อถือแค่ไหน เป็นเพียงกลเกมซื้อเวลาตามยุทธศาสตร์กินทีละคำใช่หรือไม่ อิสราเอลในสายตานานาชาติเป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่ากระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของรัฐบาลอิสราเอล ประเทศนี้กับผู้สนับสนุนยังต้องใช้กำลังควบคุมเพื่อนบ้านต่อไป
ล่าสุด Bezalel Smotrich รัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้นำพรรค Religious Zionist กล่าวว่า “ได้เวลาแล้วจะประกาศอธิปไตยในเขตยูเดียกับสะมาเรีย” (Judea and Samaria) การผนวกรวมเป็นวิธีขจัดภัยคุกคามถาวร ตลอดปีหน้าจะเน้นเรื่องนี้ ตนกำลังหารือและเชื่อว่ารัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะสนับสนุน
ย้อนหลังทรัมป์สมัยแรก รัฐบาลเนทันยาฮูเสนอแผนผนวกพื้นที่ Area C ของเขตเวสต์แบงก์เป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลแต่ไม่สำเร็จ Area C มีชาวอิสราเอลเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากที่สุด ส่วน Area A กับ B ทหารอิสราเอลค่อยๆ รุกคืบกินพื้นที่ทีละน้อย ทั้งสามพื้นที่ยังมีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่จำนวนมาก
เขตยูเดียกับสะมาเรียคือเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) ตามความเชื่อของยิว การผนวกเป็นของอิสราเอลอาจเป็นแผนที่วางไว้นานแล้ว ทำตามลำดับทีละขั้นเมื่อบริบทเอื้ออำนวย หากอิสราเอลผนวกเขตเวสต์แบงก์จะเป็นประเด็นให้ขัดแย้งอีกนาน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สิ่งแอบแฝงที่มากับภาษีทรัมป์2.0 (1)
ลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่ (neocolonialism) ชาติมหาอำนาจจะต่อต้านโลกหลายขั้ว ต่อต้านการแข่งขันเสรี และจะบีบให้ประเทศอื่นๆ ยอมรับข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์แก่ตน
แผน100วันล้มระบอบอิหร่าน2025
มาจากแผนระยะยาวที่ตั้งใจว่าวันหนึ่งจะต้องล้มระบอบอิหร่านให้จงได้ รัฐบาลทรัมป์มาแล้วก็ไปแต่ความตั้งใจล้มอิหร่านจะอยู่ต่อไป
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ2025 (2)
จุดยืนร่วมจีน รัสเซีย และอิหร่าน 2025 บ่งบอกว่าจีนกับรัสเซียทนไม่ได้ที่รัฐบาลสหรัฐเล่นงานอิหร่านด้วยโครงการนิวเคลียร์อีกแล้ว
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ 2025 (1)
การเจรจารอบปี 2025 คือการเริ่มเล่นงานอิหร่านอีกครั้ง อาจต่างกันที่รายละเอียดวิธีการตามบริบทล่าสุด เป้าหมายสุดท้ายคือล้มระบอบอิหร่าน
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (3)
รัสเซียหวังระบบโลกหลายแกนนำที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น อันจะส่งเสริมความมั่นคงของตน แต่เท่ากับขัดขวางฝ่ายตรงข้าม
เจ้าพ่อทรัมป์ (Trump the Godfather)
ทรัมป์ไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องรวมสมาชิกรัฐสภารีพับลิกัน รวมทั้งคนอเมริกันหลายล้านคนที่สนับสนุนอย่างแข็งขัน เป็นพวกอำนาจนิยม