การบริหารจัดการยุทธศาสตร์ว่าด้วยภูมิรัฐศาสตร์ในย่านนี้มีความเปราะบาง ละเอียดอ่อน และสลับซับซ้อนที่น่าติดตามและศึกษาอย่างยิ่ง
ล่าสุด อินเดียประกาศจะมอบเรือรบให้เวียดนาม เปิดทางให้มีความร่วมมือทางทหารระหว่างสองประเทศที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
อินเดียอยู่ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ส่วนเวียดนามอยู่ในทะเลจีนใต้
อินเดียมีความเป็นพันธมิตรกับทั้งซีกตะวันตก (นายกฯโมดีเพิ่งไปจับเข่าคุยกับโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว) และคบหากับรัสเซียอย่างสนิทสนม
ความสัมพันธ์ของอินเดียกับจีนมีเรื่องระหองระแหงกันในบางจุด แต่ก็สานสัมพันธ์ผ่าน BRICS
แม้อินเดียจะเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร “จตุภาคี” หรือ Quad ที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวหอก
อินเดียเดินนโยบาย “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ในระดับสากล
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าอินเดียจะไม่มีแนวทางที่ต้องระมัดระวังการขยายอิทธิพลของจีน
ขณะที่เวียดนามขยับเข้าใกล้สหรัฐฯ และมีความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะที่มีความระแวงสงสัยปักกิ่งอยู่ในที
ระยะหลังเราเห็นอินเดียกับเวียดนามพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ถึงขั้นที่อินเดียประกาศจะยกเรือรบให้เวียดนาม
ก่อนหน้านี้อินเดียเคยส่งมอบเรือดำน้ำให้เมียนมามาแล้ว
จึงค่อนข้างชัดเจนว่า อินเดียมีแนวทางที่จะยื่นมือให้แก่ประเทศต่างๆ ในย่านนี้เพื่อเสริมสร้างความผูกพันทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคง
ไม่ปล่อยให้จีนสยายปีกในย่านนี้จนไม่เหลือพื้นที่ให้อินเดีย
การที่อินเดียประกาศมอบเรือรบให้เวียดนามนั้น นอกจากจะตอกย้ำการกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมของสองประเทศแล้ว
ก็ยังต้องมองไปรอบๆ ภูมิภาคที่กำลังมองเห็นว่า หลายประเทศกำลังอึดอัดกับการที่จีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดเป็นดินแดนของตน
รวมถึงน่านน้ำที่เวียดนามและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อ้างสิทธิ์ด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสัญญาณที่อินเดียและเวียดนามต้องการส่งไปถึงจีนก็คือ หลายประเทศในย่านนี้มีความไม่สบายใจกับท่าทีของจีนบางเรื่อง
และหากไม่มีการรวมตัวเพื่อเสริมอำนาจต่อรองกัน ก็อาจจะไม่ได้รับความเข้าใจจากปักกิ่งเพียงพอ
น่าสังเกตว่า การประกาศว่านิวเดลีจะส่งมอบเรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธอินเดียน INS Kirpan ให้แก่กองทัพเรือเวียดนาม มีขึ้นหลังจากการประชุมระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมอินเดีย Rajnath Singh และนายพล Phan Van Gang ที่กรุงนิวเดลี เมื่อสัปดาห์ก่อนนี้เอง
เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธที่เป็นเรือรบขนาดเล็กที่อินเดียจะมอบให้เวียดนามนั้น ส่วนใหญ่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันชายฝั่งเป็นหลัก
ถ้อยแถลงทางการของรัฐบาลอินเดียระบุว่า การส่งมอบเรือรบให้แก่ฮานอยจะเป็น "ก้าวสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของกองทัพเรือประชาชนเวียดนาม"
การเยือนของรัฐมนตรีกลาโหมเวียดนามมุ่งเน้นที่การสร้างความสัมพันธ์ทางทหารกับนิวเดลี
นอกจากนี้ เขายังหารือถึงวิธีการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมกลาโหม ด้วยความร่วมมือในการวิจัยด้านการกลาโหมและการผลิตร่วมกัน
แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2559 แต่ก็เพิ่งจะถูกยกระดับด้วยแรงกระตุ้นใหม่ตั้งแต่ปีที่แล้ว
อันเป็นจังหวะที่ทั้งสองประเทศลงนามในสนธิสัญญาส่งกำลังบำรุงทางทหารที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยให้กองทัพสามารถใช้ฐานทัพของกันและกันเพื่อซ่อมแซมและเติมเสบียง
และทำให้ง่ายต่อการจัดเตรียมการเยี่ยมเยียนของเรือรบ อากาศยานทหารและกำลังพลของกันและกัน
เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว อินเดียยังได้มอบเรือคุ้มกันความเร็วสูง 12 ลำแก่เวียดนาม ภายใต้วงเงินกู้ 100 ล้านดอลลาร์ที่อินเดียยินดีนำเสนอ
จะเห็นได้ว่า การกระชับความร่วมมือด้านกลาโหมกับเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของอินเดียเพื่อการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
สองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีประเด็นระหองระแหงกันมายาวนาน มีเหตุจะต้องหามิตรเพื่อเสริมสถานภาพของตนทั้งคู่
อินเดียกับจีนมีการเผชิญหน้าทางทหารตามแนวพรมแดนหิมาลัยที่มีข้อพิพาทในตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา
อินเดียได้แสดงความกังวลต่อการขยายตัวของปักกิ่งในมหาสมุทรอินเดียมาระยะหนึ่งแล้ว
โดยเฉพาะเมื่ออินเดียจับตากิจกรรมของจีนที่ได้ลงทุนสร้างเสริมโครงการโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศต่างๆ อาทิ ศรีลังกา เมียนมา และปากีสถาน ซึ่งล้วนเป็นเพื่อนบ้านของอินเดียทั้งสิ้นเช่นกัน
เวียดนามเองก็มีเรื่องที่ต้องคอยจับจ้องความเคลื่อนไหวของจีน
อันนำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับเรือรบและเรือสำรวจของจีนที่เข้ามาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของเวียดนาม
เมื่อเดือนที่แล้ว เวียดนามเรียกร้องให้จีนถอนเรือสำรวจและคุ้มกันเรือยามชายฝั่งที่เข้ามาในน่านน้ำของตน พวกเขาออกไปหลังจากดำเนินการมาเกือบเดือน
นักวิเคราะห์ฝั่งอินเดียมีความเห็นว่า
"พฤติกรรมที่ก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้ และแม้แต่ตามแนวชายแดนของอินเดีย ได้แจ้งเตือนทุกประเทศในอินโด-แปซิฟิกถึงวิธีที่ดีที่สุดในการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับจีน"
นั่นคือแนววิเคราะห์ของจินตามณี มหาภัทรา ผู้ก่อตั้งสถาบันคาลิงกาแห่งอินโด-แปซิฟิกศึกษา ในนิวเดลี
"ปัจจัยที่ต้องขีดเส้นใต้คือ จีนได้ส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังทุกประเทศ และเนื่องจากไม่มีประเทศใดที่สามารถปกป้องตนเองเพียงลำพังจากปักกิ่งได้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่มหาอำนาจระดับกลางอย่างอินเดีย เวียดนาม และออสเตรเลีย จะปรับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างกันกับมหาอำนาจที่ใหญ่กว่า อย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อถ่วงดุลกับอิทธิพลของจีน”
จับตาให้ดีว่าอินเดียจะไม่จำกัดความร่วมมือด้านการทหารกับเวียดนามเพียงแค่นี้
เพราะมีข่าวว่าอินเดียยังได้เสนอขายระบบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้แก่เวียดนามเมื่อหลายปีก่อน
แต่ความคืบหน้าของข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปอย่างค่อนข้างเชื่องช้า
หากมีแรงกระตุ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าทุกอย่างที่อยู่ในกระบวนการพิจารณามาก่อน จะถูกเร่งรัดให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าเดิมอีกหลายเท่า
บทบาทของอินเดียในเวทีระหว่างประเทศกำลังจะมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว