ตุ๊กๆ โคลัมโบ (ตอนต่อมา)

สิ้นสุดการตระเวนถ่ายภาพสถานที่สำคัญในย่าน Cinnamon Gardens ลงในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง และภาวะอึดอัดกระอักกระอ่วนในร้านอัญมณีและเครื่องประดับอีกราว 20 นาที พระอาทิตย์ยังจะส่องแสงลงมายังกรุงโคลัมโบในวันนี้อีกชั่วโมงกว่าๆ คนขับตุ๊กๆ ชื่อ “นาอูชา” จะพาผมไปถ่ายรูปในเขต Pettah และ Fort Colombo ต่อ

ระหว่างทางไปยัง “ป้อมปราการโคลัมโบ” นาอูชาขับขึ้นเนินข้ามทางรถไฟใกล้ๆ สถานี Maradana ถนนเส้นนี้เรียกว่า Kovil Street ซึ่ง “โควิล” ก็คือ “วัด” ของศาสนาฮินดู

วัดที่เรากำลังมาถึงมีชื่อว่า Sri Kailasanathar Swamy Devasthanam มีอายุมากกว่า 200 ปี ถือว่าเป็นวัดฮินดูเก่าแก่ที่สุดในกรุงโคลัมโบ ผมลองหาชื่อเทียบในภาษาไทยจากอินเทอร์เน็ตแต่ไม่พบ อาจไม่ค่อยมีคนไทยมาเยือน และที่เคยมาเยือนและเขียนจารึกไว้ในโลกอินเทอร์เน็ตก็ล้วนใช้ทับศัพท์ในภาษาเขียนโรมัน ถ้าจะให้แปลงเป็นภาษาไทย คำว่า Sri นั้น “ศรี” แน่ เช่นเดียวกับ Swamy คือ “สวามี” ส่วน Devasthanam หรือ “เทวาสถานัม” ก็คงแปลว่า “เทวาสถาน” ส่วน “Kailasanathar” นั้นจนด้วยเกล้า หวังว่าคงไม่ใช่ “ไกรลาศอนาถา”

วัดฮินดู Sri Kailasanathar Swamy Devasthanam เขต Pettah กรุงโคลัมโบ

ประวัติของวัดจากเว็บไซต์ likesrilanka.com เขียนไว้ว่า กลุ่มพ่อค้าชาวทมิฬจากรัฐทมิฬนาดูและเกระละ ทางใต้ของอินเดียที่เข้ามาอยู่อาศัยในย่านนี้นำศิวลึงค์มาบูชาใต้ต้นไม้ เวลาผ่านไป เมื่อมีเงินมากขึ้นจึงร่วมกันสร้างวัดแห่งนี้เมื่อปี ค.ศ.1783

ผมทำได้แค่ถ่ายรูปเหมือนเคย และรูปที่ถ่ายได้ก็คือซุ้มประตูทางเข้าที่เต็มไปด้วยรูปปั้นองค์เทพเทวดาในศาสนาฮินดู มีอยู่ 2 ประตู ตั้งอยู่ติดกัน ประตูเล็กและประตูใหญ่ แต่ไม่สามารถหามุมที่จับภาพประตูทั้งสองได้เต็มเฟรม

เวลานี้วัดดูเงียบๆ คงไม่ตรงกับช่วงที่ศาสนิกชนจะมาสักการบูชา จากวัด Sri Kailasanathar Swamy Devasthanam สามารถมองเห็น Lotus Tower หรือ “หอคอยดอกบัว” ได้อย่างชัดเจน

มองจากวัดฮินดูไปยังโลตัสทาวเวอร์ หอคอยชมเมืองที่สร้างเสร็จไม่นานมานี้

เราออกจากวัด ย้อนไปยังเส้นทางเดิม เข้าสู่ถนนเส้นหลัก ชื่อว่า McCallum Road “โลตัสทาวเวอร์” ตั้งอยู่ริมถนนเส้นนี้ และติดกับทะเลสาบเบรา (Beira lake)

โลตัสทาวเวอร์มีความสูง 350 เมตร ถือเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในศรีลังกา และหากนับเฉพาะความเป็นหอคอย โลตัสทาวเวอร์สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียใต้ สูงเป็นอันดับ 11 ในเอเชีย และอันดับที่ 19 ของโลก ส่วนปลายสร้างเป็นรูปดอกบัวสีออกชมพูแกมม่วง ซึ่งดอกบัวในวัฒนธรรมของศรีลังกาเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ รวมทั้งยังหมายถึงการพัฒนาและอนาคตของประเทศที่กำลังเบ่งบาน

หอคอยดอกบัวนี้เริ่มสร้างเมื่อปี 2012 แล้วเสร็จในปี 2019 ด้วยงบประมาณ 104.3 ล้านเหรียญฯ จีนเป็นผู้ออกทุนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ วัตถุประสงค์หลักคือเป็นศูนย์กลางทางด้านโทรคมนาคม ผู้ประกอบการโทรทัศน์ วิทยุ และเครือข่ายโทรศัพท์จะเข้ามาตั้งสถานี

นอกจากนี้แล้วยังมีพื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับการจัดประชุมสัมมนา ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ทางด้านการสื่อสาร สถานที่พักผ่อนหย่อนใจอื่นๆ โดยมีพื้นที่ใช้สอยในส่วนที่เป็นฐาน 6 ชั้น และส่วนที่เป็นดอกบัวข้างบนอีก 7 ชั้น รวมถึงหอชมเมือง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของเว็บไซต์ทางการระบุว่ามีถึง 17 ชั้น ซึ่งไม่ได้อธิบายในรายละเอียด ส่วนทางเข้าหอคอยมี 4 ประตู โดย 2 ประตูใช้สำหรับผู้นำของรัฐและบุคคลระดับวีไอพี

นาอูชาบอกว่าหอคอยก่อสร้างเสร็จหมดแล้ว มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่โควิด-19 ทำให้บริการส่วนใหญ่หยุดชะงัก ประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถเข้าไปได้ แต่ล่าสุดรัฐบาลเพิ่งประกาศว่าเดือนมกราคมที่จะถึงนี้จะเปิดให้บริการอีกครั้ง

หอคอยแห่งนี้สามารถมองเห็นจากแทบทุกจุดในกรุงโคลัมโบ ผมถ่ายรูปหอคอยจากโรงแรมที่พัก จาก Cinnamon Gardens และจากอีกหลายที่ แต่พอผ่านหอคอยในระยะประชิดกลับทำได้แค่ถ่ายช่วงฐานของหอคอย นาอูชาไม่ได้แวะจอด

วัดฮินดูและโลตัสทาวเวอร์ที่กล่าวถึงไปอยู่ในเขต Pettah และจุดหมายต่อไปก็อยู่ในเขตเดียวกัน แต่นาอูชาต้องขับเข้าไปในเขต Fort หรือ “ป้อมปราการโคลัมโบ” ก่อน เพื่อใช้ถนน York Street วนขวาออกไปยังถนน Bankshall Street เลี้ยวขวาเข้าซอย China Street เลี้ยวขวาอีกทีสู่ถนน Main Street ย่านนี้รถราหนาแน่นเช่นเดียวกับผู้คน

นาอูชาบอกผมให้ดูทางขวามือ “นี่คือด้านหน้าของมัสยิดแดง ห้ามลงจากรถเพราะจอดไม่ได้” แต่แล้วมีช่วงที่รถติดเขาบอกว่าลงได้แป๊บเดียวแล้วให้รีบขึ้นมา ผมลงไปถ่ายได้สองสามภาพ เขาขับเลี้ยวขวาเข้าไปในซอยชื่อ Second Cross Street ช่วงท้ายซอยมีที่ให้จอดได้ครู่หนึ่ง นาอูชาบอกให้ผมลงไปถ่ายรูป “นี่คือด้านหลังของมัสยิดแดง”

มัสยิดแห่งนี้มีชื่อจริงว่า “มัสยิดญามิอุลอัลฟาร์” (Jami Ul-Alfar Masjid) มัสยิดแดงคือชื่อเล่นที่นักท่องเที่ยวมอบให้ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1908 โดยชุมชนชาวมุสลิมในเขต Pettah เพื่อรองรับการละหมาด 5 ครั้งต่อวัน และฌุมอะห์ หรือการละหมาดรวมหมู่ในวันศุกร์ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบ “อินโด-ซาราเซนิก” อังกฤษนิยมใช้สร้างอาคารต่างๆ ในอินเดียด้วยสไตล์นี้ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นการผสมผสานของหลายรูปแบบสถาปัตยกรรม ทั้งอินโด-อิสลาม, อินเดีย, โกธิกริไววัล และนีโอคลาสสิก

ลักษณะเส้นสายลวดลายสีแดงสลับขาวคล้ายลูกกวาด และโดมรูปหัวหอมผสมผลทับทิม รวมถึงหอนาฬิกา ทำให้มัสยิดแห่งนี้งดงามและมีความโดดเด่นอย่างมาก แม้แต่นักเดินเรือที่มุ่งหน้าเข้ามายังท่าโคลัมโบยังต้องใช้มัสยิดญามิอุลอัลฟาร์เป็นแลนด์มาร์ก (ก่อนที่แลนด์มาร์กอื่นๆ จะถูกสร้างขึ้นในภายหลัง)

ปี ค.ศ.1975 มีการขยายพื้นที่มัสยิด และสร้างตัวอาคารเพิ่ม รองรับการละหมาดได้ถึง 10,000 คน (จากเดิม 1,500 คน) ผมสรุปเอาเองว่ามัสยิดที่หันหน้าสู่ถนน Main Street คือหลังที่สร้างเมื่อปี ค.ศ.1908 และหลังที่หันหน้าสู่ถนน Second Cross Street คือหลังที่สร้างหลังปี ค.ศ.1975 เพราะหลังแรกมีขนาดเล็กกว่าหลังที่สองอยู่ราว 3 เท่า

ทัวร์ถ่ายภาพโดยตุ๊กๆ นาอูชาจบลงแล้วสมบูรณ์แบบ เราไม่ได้เข้าไปภายในสถานที่แห่งใดเลย เวลาตอนนี้ประมาณ 5 โมงเย็น นาอูชาขับต่อไปยังย่าน Dutch Hospital ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งโรงพยาบาลดัตช์ อาคารเก่าแก่ที่สุดในย่าน Fort กรุงโคลัมโบ คาดว่าสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1681 สมัยที่ดัตช์หรือฮอลแลนด์เป็นเจ้าอาณานิคม ทำหน้าที่รักษาพยาบาลคนของบริษัท Dutch East India Company ตั้งอยู่ไม่ห่างจากชายฝั่ง จึงสามารถรักษานักเดินเรือชาวดัตช์ที่บาดเจ็บป่วยไข้มาจากทางทะเลด้วย มี 2 อาคาร รวม 5 ปีก ทำให้เกิดสนามหญ้า 2 สนาม ช่วยในการระบายอากาศและเกิดสภาพแวดล้อมที่ดี

พออังกฤษเข้ายึดครองศรีลังกา พวกเขาถมคลองข้างๆ โรงพยาบาลดัตช์กลายเป็นถนน Canal Row Lane ในปัจจุบัน หลังศรีลังกาได้รับเอกราชได้ใช้ตึกโรงพยาบาลดัตช์เป็นสถานีตำรวจ และถูกโจมตีโดยกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลมเมื่อปี ค.ศ.1996 ได้รับความเสียหายอย่างหนัก

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 อาคารโรงพยาบาลดัตช์ได้แปลงสภาพเป็นแหล่งช็อปปิ้งและที่ตั้งของร้านอาหารหลายร้าน โดยคงลักษณะสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ ร้าน Ministry of Crab ร้านปูยักษ์ที่โด่งดังก็อยู่ในนี้ บริเวณรายรอบก็ได้อานิสงส์ไปด้วย มีโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และผับบาร์ นาอูชาบอกว่ายังไม่ได้กินข้าวเที่ยง เขาพาผมไปร้านประจำ มีข้าวบริยานีและไก่ทันดูรีเป็นเมนูชูโรง ชื่อร้าน Pilawoos Hotel ในย่าน Dutch Hospital ซึ่งคำว่า “โฮเต็ล” นี้หมายถึงร้านอาหาร และถ้าจะพูดถึงภาษาอังกฤษโบราณ Hospital ต่างหากที่หมายถึงโรงแรม

นาอูชาชมว่าเป็นร้านที่อร่อยและราคาไม่แพง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น ผมนึกอยากจะกินขึ้นมาด้วย น่าเสียดายที่เมนูข้าวบริยานีและไก่ทันดูรีหมด นาอูชาพูดถึงเมนูอื่น ผมบอกให้เขากิน ผมจะนั่งเป็นเพื่อน เขาก็เลยไม่กิน ตอนเดินออกจากร้านเขาเจอคนขับตุ๊กๆ 2 คนที่รู้จักกัน เดิมตามมาพูดคุย คนหนึ่งคุยกับผม อีกคนคุยกับนาอูชา คนหนึ่งเคี้ยวหมาก อีกคนไม่เคี้ยว คุยกับผมคนหนึ่งแล้วสลับไปคุยกับนาอูชา ดูแล้วไม่มีพิษภัยอะไร ผมบอกนาอูชาว่าอยากจะหาร้านดื่มเบียร์แถวนี้ แต่ต้องหาที่แลกเงินก่อน ระหว่างขับไปร้านแลกเงิน เขาบอกผมว่าถ้าผมไปกับตุ๊กๆ 2 คนนั้น เงินผมจะหมดลงอย่างรวดเร็ว

ที่ร้านแลกเงินบนถนน York Street เขียนเรตราคาไว้ว่าธนบัตรใหญ่ ไซส์ L แลกเงินลังการูปีได้ในราคา 1 เหรียญฯ ต่อ 201 รูปี ธนบัตรไซส์ S ราคา 1 เหรียญฯ ต่อ 200 รูปี แต่คนในร้านที่ลักษณะค่อนข้างลึกลับ 3- 4 คนให้ราคาธนบัตรใบละ 100 เหรียญฯ ของผมแค่ 200 รูปี เพราะแบงก์ 100 ของผมมีตราปั๊มเล็กๆ จากร้านแลกเงินในกรุงเทพฯ ที่ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นธนบัตรของจริง นาอูชาบอกว่าถ้าผมไม่ยินดีก็ไปร้านอื่นได้ ผมตกลงแลก 300 เหรียญฯ นาอูชายังบอกว่าส่วนต่าง 1 รูปีนั้นมีค่าตั้ง 300 รูปี ถ้าผมเพิ่มอีก 300 รูปีก็ได้ดื่มเบียร์แก้วใหญ่ในย่านโรงพยาบาลดัตช์แล้ว

เย็นและค่ำนี้นาอูชายังต้องขับรถต่อ จึงไม่กล้าดื่ม ผมยื่นค่าจ้างให้เขา 2 พันรูปี มากกว่าที่ตกลงกันไว้ 2 เท่า เพราะเห็นว่า 1 พันรูปีนั้นน้อยเกินไปสำหรับน้ำใจเอื้อเฟื้อที่เขามี นาอูชารับไว้แล้วกล่าวขอบใจไม่ขาดปาก ขอให้ผมขึ้นรถไปอีก 1 บล็อกถนน จากสี่แยกข้างหน้า ข้ามถนนไปก็ถึงย่านโรงพยาบาลดัตช์

พอผมข้ามถนนไป เจอเข้ากับแก๊งตุ๊กๆ สลับหน้ามาพูดคุยเจรจา คนหนึ่งพ่ายแพ้ไป อีกคนเข้ามาใหม่ ส่วนมากอาสาจะพาไปนวด มีทั้งนวดศรีลังกาและนวดไทย ผมรำคาญเต็มที จนเดินเลยย่านโรงพยาบาลดัตช์ โชคร้ายยังไม่พอ เจอเข้ากับตุ๊กๆ เคี้ยวหมากที่รู้จักกับนาอูชา ตอนนี้มีลีลามากขึ้นกว่าเดิม แต่น่ารำคาญและตื๊อไม่ยอมปล่อย จนผมต้องวิ่งหนี แล้วก็สับสนทิศทาง ไม่รู้โรงพยาบาลดัตช์อยู่ทางไหน

เดินไปเรื่อยๆ ถึงแยกที่ถนน Chatham Street ตัดกับ Janadhipathi Mawatha หอนาฬิกาประภาคาร (Lighthouse Clock Tower) ตั้งอยู่บนเนินที่พอเหมาะสำหรับส่องแสงนำทางเรือที่กำลังเข้าฝั่งในสมัยอาณานิคม เท่ากับว่าไม่ห่างออกไปจากตรงนี้ก็คือมหาสมุทรอินเดีย แต่อาคารที่สร้างขึ้นมามากมายในยุคหลังทำให้มองไม่เห็นทะเล

หอนาฬิกาประภาคารนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1856 โดยอังกฤษเจ้าอาณานิคม สูง 29 เมตร ผมจับทิศทางได้อีกครั้งว่าต้องเดินเลี้ยวซ้ายไป แต่ทันใดนั้นมีคนตะโกนตามหลังมาว่า “จะไปไหน?” ตุ๊กๆ คนหนึ่งวิ่งลงมาจากพาหนะคู่ชีพ รูปร่างผอมแห้ง อายุมากกว่า 50 ปี ใส่เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีชมพู ชูบัตรห้อยคอเป็นใบอนุญาตจากการท่องเที่ยว พอรู้ว่าผมจะเดินไปโรงพยาบาลดัตช์เขาก็บอกว่า “ไปทำไม วันนี้วันอาทิตย์ โรงพยาบาลดัตช์ปิด” ผมเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ผมเห็นบาร์เปิดอยู่ แต่เดินไปก็กลัวเจอตุ๊กๆ ฝูงนั้นเข้าอีก จึงยอมให้เขาไปส่งที่โรงแรมซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร

ถามราคาเขาว่าเท่าไหร่ เขาตอบว่า “แล้วแต่จะให้ ถ้าไม่พอใจบริการจะไม่ให้ก็ได้” ผมบอกว่าถ้าไม่บอกราคาก็ไม่ไป เขาเรียก 400 รูปี ผมต่อเหลือ 200 เขาลดลงมา 300 ผมยืนที่ 200 เขาเอี้ยวคอส่งสัญญาณให้ขึ้นรถ ความจริงราคาตุ๊กๆ ที่มีมิเตอร์จะประมาณ 100 รูปีเท่านั้น

ตุ๊กๆ เชิ้ตชมพูเสนอให้ไปนวดเหมือนคนอื่นๆ ผมบอกว่าเพิ่งนวดมาจากเมืองไทย เขาเสนออีกหลายอย่าง ผมปัดออกไปได้หมด สุดท้ายมาที่คำถามว่า “ปกติดื่มอะไรบ้าง?” ผมพลาดที่ตอบว่า “ดื่มทุกอย่าง” เขาดับเครื่อง จอดหน้าร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ละแวก Slave Island สถานที่ขังทาสจากแอฟริกาสมัยนักล่าอาณานิคมโปรตุเกส

ต้องอธิบายเพิ่มเติมหน่อยว่า ในศรีลังกาไม่มีเหล้าเบียร์จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ในร้านสะดวกซื้อ ในร้านอาหารทั่วไป นอกจากร้านจำหน่ายถูกกฎหมาย มักเขียนลงท้ายว่า “WINE STORE” มีลูกกรงคั่นระหว่างผู้ซื้อผู้ขายอย่างกับร้านรับจำนำ แจ้งเครื่องดื่มที่อยากได้ จะมีพนักงานหยิบมายื่นให้ เราก็ส่งเงินไป ผ่านช่องรับ-ส่งเล็กๆ ราคาเครื่องดื่มในผับและบาร์จึงมีราคาแพงกว่าค่อนข้างมาก ส่วนร้านอาหารที่อยากขายก็ต้องซื้อใบอนุญาตราคาสูงลิบ

เชิ้ตชมพูวัยคุณน้าคะยั้นคะยอให้ผมซื้ออารัค (Arrack) น้ำตาลจั่นมะพร้าวที่หมักแล้วนำไปกลั่น เป็นสุราประจำถิ่นศรีลังกาเนื่องจากประเทศนี้เต็มไปด้วยต้นมะพร้าว แต่ผมยังมีซิงเกิลมอลต์วิสกี้อยู่เกือบเต็มขวด พรุ่งนี้จะเดินทางขึ้นเหนือไปยังอนุราธปุระ ไม่มีความจำเป็นต้องแบกสุรา 2 ขวดให้เมื่อยบ่า ผมยืนยันว่าจะไม่ซื้อตอนนี้ หมอนี่ก็สตาร์ทเครื่องแล้วขับอย่างกระชากออกจากหน้าร้าน

ถึงโรงแรมบนถนน Union Place รับค่าโดยสาร ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว แล้วขับอย่างกระชากออกไปจากหน้าโรงแรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐมนตรี...ที่ไม่ใช่รัฐมนตรง

ในอดีตก่อนกาลนานมาแล้ว รัฐมนตรีของไทยเรา จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ “ตรง” กับบทบาทและหน้าที่ สามารถกำกับนโยบายและบริหารงานกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี

จงรับกรรม-จงรับกรรม-จงรับกรรม!!!

อาจด้วยเหตุเพราะความเดือดพล่านของโลกทั้งโลก...ไม่ว่าในแง่อุณหภูมิอากาศ หรือในหมู่มวลมนุษย์ ที่ใกล้จะล้างผลาญกันในระดับสงครามโลก-สงครามนิวเคลียร์ ยิ่งเข้าไปทุกที

รับแผน 'ทหารพราน' กลับที่ตั้ง

ต้องร้องเพลงรอกันไปอีก 2-3 วัน กว่าจะได้รู้บทสรุปความขัดแย้งภายใน "กรมปทุมวัน" อันเป็นที่มาของคำสั่ง นายกฯ เศรษฐา ให้ บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

จะดีจะชั่ว...อยู่ที่ตัวคนเลือก

คนเรานั้น แม้จะเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นลูกใคร จะได้เป็นลูกเศรษฐีหรือลูกคนจน แต่เมื่อเราเติบโตรู้ความ ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ได้รับการศึกษา

จากสงครามเวียดนามถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส

ช่วงที่นักศึกษา ปัญญาชน คนหนุ่ม-คนสาวชาวอเมริกัน...เขาลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน คัดค้าน สงครามเวียดนาม ในช่วงระยะนั้น อันตัวข้าพเจ้าเอง ก็กำลังอยู่ในวัยหนุ่ม