แถลง ‘แก้หนี้นอกระบบ’: เริ่มด้วยคำหรูจบด้วยคำถาม

ผมตั้งใจฟังคำแถลง “แก้หนี้นอกระบบ” ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มากเพราะอยากรู้จริงๆ ว่าในทางปฏิบัติทำอย่างไรจึงจะให้ “หนี้ใต้ดิน” กลายเป็น “หนี้บนดิน”

แต่หลังพยายามค้นหารายละเอียดว่าจะ “ทำอย่างไร" ก็ไม่ได้อะไรที่จับต้องได้

ข้อใหญ่ใจความคือ จะให้นายอำเภอกับผู้กำกับไปทำหน้าที่ “ไกล่เกลี่ย” ให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันให้ได้

โดยวิธีไหน? ใช้อำนาจอะไร? และอะไรคือ “เกณฑ์มาตรฐาน” ที่จะให้ตำรวจและฝ่ายปกครองไปทำหน้าที่เป็นคนกลาง

ถ้าเจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันไม่ได้ จะทำอย่างไรต่อ?

นายอำเภอกับผู้กำกับมีสิทธิ์ “กดดัน” หรือ “บังคับ” เจ้าหนี้กับลูกหนี้ให้ตกลงกันได้มากน้อยแค่ไหน?

ถ้า “เจ้าหนี้” หรือ “ลูกหนี้” เป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วย จะทำอย่างไร?

ถ้าญาติของเจ้าหน้าที่รัฐเป็น “เจ้าหนี้” หรือ “ลูกหนี้" ด้วย จะมีประเด็นเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือไม่ อย่างไร?

เจ้าหน้าที่จะให้ความมั่นใจกับ “ลูกหนี้” ได้อย่างไรว่า หากไปขึ้นทะเบียนและระบุชื่อ “เจ้าหนี้” แล้ว จะได้รับการปกป้องโดยทางการอย่างแน่นอน

การที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส.ประกาศว่าจะเสนอให้กู้เงินก้อนใหม่เป็นการ refinance นั้น จะทำกันอย่างไรจึงจะไม่กลายเป็น “ดินพอกหางหมู” และสร้าง “วงจรหนี้” ใหม่

เพราะท้ายที่สุด ปัญหาของการเป็นหนี้ของประชาชนนั้นเกิดจากรายได้น้อยกว่ารายจ่าย

และการไม่บังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง อีกทั้งยังปล่อยให้มี “มาเฟีย” ท้องถิ่นกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของฝ่าย “เจ้าหนี้” ไปข่มขู่รังแก “ลูกหนี้”

และ “มาเฟีย” ที่ว่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ”

ในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายกฯ ใช้ศัพท์แสงภาษาอังกฤษหลายคำ ที่ไม่น่าจะทำให้ชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้เข้าใจว่าตนจะต้องทำอะไร อย่างไร

เช่นคำว่า Modern World Slavery บ้าง Moral Hazard บ้าง หรือ KPI บ้าง

ยิ่งคำว่า KPI (Key Performance Index) ยิ่งจะทำให้เกิดความสับสนเพิ่มเติม เพราะนายกฯ บอกว่าท่านจะเป็นคนตั้ง KPI เอง หมายความว่าจะกำหนดเกณฑ์วัดผลงานของแต่ละจุดเอง

ท่านโยนไว้อย่างนั้นเฉยๆ ไม่ให้รายละเอียดอะไร ก็คงทำให้เกิดความงุนงงต่อไปว่า แล้วแต่ละอำเภอและจังหวัดจะมี KPI ต่างกันหรือไม่อย่างไร

ก็ยังต้องรอต่อไป เพราะท่านบอกว่าจะแถลงอีกครั้งวันที่ 12 ธันวาคมนี้ คราวนี้จะพูดทั้ง “หนี้ในระบบ” และ “นอกระบบ” พร้อมกัน

ทำไมท่านไม่แถลงทีเดียวพร้อมกันก็ไม่อาจทราบได้อีกเหมือนกัน

เพราะหากแก้ “หนี้นอกระบบ” หนี้ทั้งหมดก็จะกลายเป็น “หนี้ในระบบ”

ต่อไปนี้ก็จะได้แถลงครั้งเดียวพร้อมกันไปเลย

นั่นคือความฝันที่ยังเลือนรางเต็มที

ในคำแถลงนั้น คุณเศรษฐาพูดบางตอนว่า

 “รัฐบาลเห็นปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยมานาน และเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยจำนวนมาก เราจึงทำให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ

สำหรับผม หนี้นอกระบบถือเป็น Modern World Slavery เป็น 'การค้าทาสในยุคใหม่' ที่ได้พรากอิสรภาพ และความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้ครับ

ปัญหาหนี้นั้นเรื้อรัง และใหญ่เกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้โดยไม่มีภาครัฐเป็นตัวกลาง วันนี้รัฐบาลจึงต้องบูรณาการหลายภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ตํารวจ และกระทรวงการคลัง เพื่อไม่ให้ประชาชนกลับไปอยู่ในวงจรหนี้สินนอกระบบอีก"

 “ภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสําคัญในการไกล่เกลี่ย 'พร้อมกัน' ทั้งหมด โดยดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ และการทําสัญญาที่หลายครั้งไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทําสัญญาที่เป็นธรรม และเป็นไปตามกฎหมาย พูดง่ายๆ คือ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ภาครัฐจะทํางานร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อทําให้ลูกหนี้ได้มีโอกาสหายใจ มีกําลังใจพอจะดําเนินชีวิต หาเงินมาปิดหนี้ให้ได้"

 “การแก้ไขหนี้ในวันนี้คงไม่ใช่ยาปาฏิหาริย์ที่จะทําให้หนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีก แต่ผมมั่นใจว่าด้วยเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทําให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น จนไม่จําเป็นต้องก่อหนี้อีกในอนาคต และจะเพิ่มโอกาสให้พี่น้องประชาชนรายเล็กรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้นครับ”

พอไปที่เพจของพรรคเพื่อไทยก็มีรายละเอียดอย่างนี้

* สรุปมาตรการ "แก้หนี้นอกระบบ" โดยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน *

 [28 พ.ย. 66] เศรษฐา ทวีสิน @Thavisin             นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แถลงข่าวประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้คนไทย

 [ขั้นตอน : ไกล่เกลี่ย]   

ก.มหาดไทย มีกลไกการทำงานในแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใกล้ชิดกับประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ถึงผู้ใหญ่บ้าน

-ประชาชนที่ประสบปัญหาหรือต้องการเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นในระบบ เพื่อจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง สามารถลงทะเบียนที่ ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางและที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทุกแห่ง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายในการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ

-กำหนดแผนปฏิบัติตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย โดยสั่งการให้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 เอกซเรย์พื้นที่และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้

               -ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ

 [ขั้นตอน : ปรับโครงสร้างหนี้]

ก.คลังในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard) และมีมาตรการต่างๆ รองรับเพิ่มเติม ได้แก่

-ธ.ออมสิน มีโครงการให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท  ระยะเวลา 5 ปี และโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย

-ธ.ก.ส.มีโครงการรองรับที่ดินติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท

-ผู้ประกอบการให้กู้ยืมเงินที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย สามารถขออนุญาตตั้งพิโกไฟแนนซ์ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท

นอกจากการแก้ไขหนี้แล้ว นายกรัฐมนตรียืนยันว่า รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนขึ้นไปถึงระดับมหภาค ยกระดับความเป็นอยู่ ทำให้ไม่กลับไปมีหนี้ล้นพ้นตัวอีก

เมื่อเรื่องหนี้นอกระบบถูกยกเป็น “วาระแห่งชาติ” อีกเรื่องหนึ่ง ก็หวังว่าจะไม่เงียบหายกลายเป็น “วาระชาติหน้า” อย่างที่เคยปรากฏกับหลายๆ เรื่องมาก่อนหน้านี้.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021