COP28: ประชุมสุดยอดวิกฤต ภูมิอากาศที่คนไทยควรใส่ใจ

ประชุมระดับโลกว่าด้วยสภาพภูมิอากาศปีนี้ COP 28 จัดที่ดูไบแห่งประเทศ UAE ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีน้ำมันมากที่สุดของโลก

เช่นนี้ถือว่าย้อนแย้งหรือไม่

เพราะการจะแก้ปัญหา Climate change ต้องลดการใช้พลังงานฟอสซิลให้มากที่สุด

เจ้าภาพก็ตระหนักเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงประกาศว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงด้านสภาพอากาศใดๆ ที่จะมีการเจรจากันในช่วงสองสัปดาห์ของการประชุมสุดยอดครั้งนี้

ที่เป็นจุดเด่นของการประชุมคือ การเปิดตัว “กองทุนการสูญเสียและเสียหาย” (Loss and Damage Fun) อย่างเป็นทางการเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ

ว่ากันว่าการที่สามารถบรรลุข้อตกลงประกาศตั้งกองทุนนี้ถือเป็นชัยชนะเล็กๆ ของกลุ่มประเทศที่ผลักดันเรื่องนี้มาช้านาน

“เราได้ส่งมอบประวัติศาสตร์ในวันนี้” สุลต่าน อัล จาเบอร์ผู้นำของ UAE ในฐานะประธานงาน COP 28

เจ้าภาพเรียกการประกาศตั้งกองทุนนี้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการประกาศการตัดสินใจได้ตั้งแต่วันแรกของ COP

เพราะที่ผ่านมาประเด็นเรื่องกองทุนและใครจะลงขันเท่าไหร่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องถกแถลงกันอย่างร้อนแรงมาตลอด

บรรดาผู้นำเกือบ 200 คนจากทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุมปีนี้รู้ดีว่าจะต้องแสดงผลงานอะไรที่จับต้องได้มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา

เพราะเพียงแค่สุนทรพจน์และคำมั่นสัญญาว่าจะลดการส่งก๊าซเรือนกระจกเท่านั้นเท่านี้ในปีนั้นปีนี้นั้นไม่อาจจะยืนยันความจริงใจและจริงจังได้อีกต่อไป

จุดสนใจหลักของการประชุม COP 28 คือการเฝ้าติดตามความคืบหน้าที่ไม่ค่อยจะเป็นรูปธรรมเพื่อให้โลกสามารถควบคุมภาวะโลกร้อน

การประชุมปีนี้มีคนมาร่วมมากกว่าการประชุม COP 27 ในปีที่แล้วถึง 2 เท่า

ถือเป็นการประชุมใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยจำนวนผู้เข้าร่วม 97,000 คน

ซึ่งรวมถึงพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรและประมุขแห่งรัฐและรัฐบาลอีกราว 180 คน

สหประชาชาติและเจ้าภาพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวว่า การเจรจาจะมีความสำคัญที่สุดนับตั้งแต่ปารีสในปี 2558 และการระดมงบประมาณเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศที่ยากจนถือเป็นวาระสำคัญ        สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มองว่าตัวเองเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศร่ำรวยซึ่งเป็นผู้ร้ายของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตมากที่สุดกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่า แต่กลับได้รับผลกระทบที่เลวร้ายที่สุด  

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเยอรมนีประกาศทันทีว่าจะลงขันเจ้าละ 100 ล้านดอลลาร์ให้ “กองทุนค่าเสียหายและสูญหาย” ร่วมกับสหภาพยุโรปที่เสนอร่วมกัน 246 ล้านดอลลาร์

คาดว่าจะมีประเทศอื่นที่จะมาสมทบเพิ่มเติมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

แต่ยอดนี้ก็ยังห่างไกลจากเป้าหมาย 100,000 ล้านดอลลาร์ที่เคยตั้งเป้าเอาไว้

กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่รอคอยเงินเยียวยานี้มีไม่น้อยกว่า 46 ประเทศ

และต้องการความชัดเจนว่าในที่สุดประเทศร่ำรวยทั้งหลายจะทำตามคำมั่นสัญญามากน้อยเพียงใด

ทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ไม่ได้เข้าร่วม

วอชิงตันส่งรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส มาแทน พร้อมคำประกาศจะให้สหรัฐฯ มีบทบาทที่ขึงขังอย่างต่อเนื่อง

แต่สหรัฐฯ และจีนเป็นสองผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลก

ก่อนหน้านี้ ผู้นำของสองยักษ์นี้ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันตอกย้ำถึงความพร้อมที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้ 

ส่งแรงกระตุ้นให้กับการประชุม COP 28 ที่ดูไบในระดับหนึ่ง

ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะมีผู้นำโลกมาร่วมงานแล้ว ยังคาดการณ์ว่าการประชุมครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมอีกไม่ต่ำกว่า 70,000 คน

การรับเป็นเจ้าภาพจัดงานโดยประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่าง UAE ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ไม่น้อย

ยิ่งมีข่าวรั่วออกมาว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เตรียมจะใช้การประชุมเป็นเวทีเจรจาต่อรองข้อตกลงด้านพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็ยิ่งทำให้เกิดความระแวงคลางแคลงใน “วาระซ่อนเร้น” ของเจ้าภาพมากขึ้น

เกิดคำถามว่าประชุมรอบนี้จะสร้างความหวังว่าจะมีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด

นักรณรงค์หญิงด้านสิ่งแวดล้อม เกรตา ทุนเบิร์กเคยวิพากษ์ว่าการประชุมอย่างนี้มีแต่การพ่นน้ำลาย “บลา บลา บลา" เท่านั้น เพราะผู้นำโลกไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาอย่างถาวร

ในการประชุมครั้งก่อน มีคำมั่นสัญญาว่าจะร่วมกันคงการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส

และพยายามที่จะจำกัดไม่ให้เพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส “ข้อตกลงปารีส" หรือ Paris Agreement ในปี 2015 ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการผลักดันให้เกิด "มาตรการต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เกือบจะพร้อมใจกันทั่วโลก"

แต่รายงานล่าสุดของสหประชาชาติก็ตอกย้ำว่ายังไม่มีความคืบหน้าตามพันธสัญญานี้แต่อย่างใด

วาระสำคัญที่สุดของการประชุมรอบนี้น่าจะเป็นการบรรลุข้อตกลงที่จะให้แต่ละประเทศให้ความชัดเจนมากขึ้นในคำสัญญาที่จะดำเนินตามแผนที่ตั้งเป้าเอาไว้ตามที่เสนอจากแต่ละประเทศเอง

นี่คือ 'การมีส่วนร่วมที่แต่ละประเทศกำหนดเอง' หรือ Nationally Determined Contributions : NDCs

หนึ่งในความหวังคือการขยายวงของคำมั่นสัญญาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กว้างขึ้นเพื่อครอบคลุมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมด อันรวมถึงกิจกรรมการเกษตรและอาหารด้วย

ตรงนี้แหละที่จะมีผลกระทบต่อไทยเราทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นภารกิจหนักของรัฐบาลที่จะต้องเริ่มวางแผนปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้เพราะการลดก๊าซเรือนกระจกจะไม่ใช่เพียงเรื่องของนโยบายรัฐบาลอีกต่อไป

หากแต่เอกชนทุกวงการต้องมีแผนการของตนเองว่าจะบรรลุเป้าหมาย

ไปถึงการที่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยทุกภาคส่วนต้องเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทำให้บรรลุเป้าของการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย               ข่าวบอกว่า UAE ต้องการจะให้ทั่วโลกลงนามความตกลงในการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าจากปัจจุบันภายในปี 2030

สหรัฐอเมริกา, จีน และชาติสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม G20 เห็นพ้องแล้ว แต่ยังต้องให้สมาชิกอื่นๆ เดินตามอย่างกระตือรือร้นด้วยจึงจะมีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

คำถามต่อมาคือ ใครจะเป็นคนควักกระเป๋าออกมาให้สามารถเดินหน้าไปได้

ประเทศยากจนก็ทวงถามประเทศมั่งคั่งว่าความเหลื่อมล้ำมหาศาลทุกวันนี้จะแก้ไขได้อย่างไร

จึงต้องติดตามว่าสถาบันทางการเงินระดับโลกอย่างธนาคารโลก และ IMF จะยอมปรับกติกาในการปล่อยเงินกู้ให้ประเทศด้อยพัฒนาด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนผันมากขึ้นหรือไม่

ประเทศไทยเรามีการประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกมาหลายปีแล้ว

แต่รัฐบาลชุดนี้ยังไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นมากนักในประเด็นนี้

และยังไม่เห็นความจริงจังในการเตรียมพร้อมโดยเฉพาะในระดับชุมชนและเกษตรกรที่ต้องทำการบ้านกันอย่างเร่งด่วนตั้งแต่นี้เป็นต้นไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021