หรือนี่คือจุดเริ่มต้นของ การพลิกแผ่นดินพม่า?

เมื่อวานได้เล่าถึงแนวทางวิเคราะห์การสู้รบในพม่าครั้งนี้ต่างกับที่ผ่านมาอย่างไร

มีรายละเอียดในยุทธการภาคพื้นดินที่น่าสนใจจากข้อเขียนของนักวิชาการพม่า Ye Myo Hein ซึ่งเป็น fellow อยู่ที่ Wilson Center ที่วอชิงตันวิเคราะห์ในสื่อ Irrawaddy News

ที่ยืนยันว่าการรวมตัวของฝ่ายต่อต้านรอบนี้มีอะไรที่ผิดไปจากเดิมมาก

เขาได้รายละเอียดจากสนามรบหลายๆ จุดเพิ่มเติม เช่น

กะฉิ่น: ก่อนปฏิบัติการ 1027 กองทัพฝ่ายทหาร SAC ได้เพิ่มการรุกต่อกองทัพกะฉิ่นอิสระ (KIA) เพื่อขัดขวางการจัดหาและช่วยเหลือของ KIA ให้กับหน่วยรบของฝ่ายรัฐบาลเงา PDFs ในภาคเหนือ

เมื่อการขยายวงของยุทธการ 1027 บีบให้กองทัพต้องเปลี่ยนเส้นทางที่เริ่มจะถูกบีบให้คับแคบลงไปยังพื้นที่ขัดแย้งใหม่ KIA ได้ย้ายฐานทัพทหารที่ Mongton ทางตอนเหนือของรัฐฉาน และฐานทัพบนถนน Gangdau-Bhamo เมื่อวันที่ 31 ต.ค.

ซากายและมาเกว: ช่วงวันที่ 2 และ 3 พฤศจิกายนกองกำลัง PDFs ของรัฐบาลเงาร่วมมือกับกองกำลังป้องกันในพื้นที่ และ EAO ที่เป็นพันธมิตรโจมตีที่ทำการทหาร สถานีตำรวจ และค่ายกักกันในซากายและมาเกว

วันที่ 6 พฤศจิกายน กระทรวงกลาโหมของรัฐบาลเงา NUG ประกาศว่าสามารถควบคุม Kawlin ในสะกายตอนบน และเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ก็สามารถบุกเข้า Khampet ตรงชายแดนอินเดีย

หากกองกำลังต่อต้านสามารถยึด Tamu กับ Khampet ได้ ก็จะสามารถควบคุมหุบเขา Kabaw บนชายแดนอินเดียได้อย่างสมบูรณ์

อีกทั้งยังตั้งเป้าที่จะรุกเข้าควบคุมพื้นที่ 3 เหลี่ยมแห่งเกาลิน กะธา และกันตบาลู ที่ได้สร้างฐานที่มั่นในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่แล้ว แต่ยังรอเข้ายึดฐานทัพทหารเพื่อรวบรวมให้เป็นจุดที่ตั้งใหม่ของตน

จากจุดนี้ การประสานงานของฝ่ายต่อต้านมีแนวโน้มที่จะมุ่งไปที่การยึดพื้นที่เมืองและฐานทัพทหารที่สำคัญในใจกลางเมือง

Chin (ชิน): วันที่ 30 ตุลาคม แนวร่วมชาติ Chin (CNF) ประกาศว่าจะดำเนินการตามการนำของยุทธการ 1027 เพื่อเผชิญหน้ากับกองทัพในหลายภูมิภาคของรัฐ Chin

วันที่ 7 พ.ย. กองกำลังต่อต้าน Chin สามารถยึด Rihkwanda เมืองที่มีพรมแดนติดกับอินเดียได้

และเดินหน้ายึดฐานทัพทหารและเมืองอื่นๆ เช่น Lailenpi และ Rezua ใน Matupi ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและความห่างไกลของรัฐ Chin

ทำให้กองทัพพม่าตกอยู่ในสภาพตั้งรับ?

นั่นเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ขบวนการต่อต้านสามารถรุกคืบเข้ายึดพื้นที่ของฝ่ายกองทัพพม่ามากขึ้นอีก

เสริมด้วยการปิดล้อมและโดดเดี่ยวฐานทัพทหารที่เดิมมีการป้องกันอย่างแน่นหนา แต่ก็เริ่มตกอยู่ในสถานะที่อ่อนแรงลงตามลำดับ

แรงผลักดันในการต่อต้านกองทัพในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศก็ยิ่งเสริมความได้เปรียบของ CNF อย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน

ยะไข่: เมื่อวันที่ 13 พ.ย. กองทัพอาระกัน (AA) ที่ค่อนข้างจะมีความสามารถในการสู้รบประกาศชัยชนะเหนือกองทัพบริเวณชายแดนจีน

กองทัพอาระกันเป็นหนึ่งใน 3 กำลังหลักของ “กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพฝ่ายเหนือ”

โดยได้เริ่มโจมตีที่มั่นทางทหารในรัฐยะไข่บริเวณชายแดนด้านตะวันตกของเมียนมาติดกับบังกลาเทศ

ถือเป็นการยุติข้อตกลงหยุดยิงนานหนึ่งปีในรัฐนั้น

โดยกองกำลังอาระกันมุ่งโจมตีที่ทำการของตำรวจและทหารบริเวณชายแดน

AA ประสบความสำเร็จในการยึดด่านหลายแห่งในเมือง Rathedaung และ Maungdaw

ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนว่าจะออกแบบมาเพื่อเปิดประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศและอินเดีย

เพื่อเข้าถึงอาหารสำหรับประชากรชาวยะไข่ใน

และสกัดกั้นแผนการปิดล้อมทางทหารบนเส้นทางการเข้าถึงในรัฐยะไข่

ปฏิบัติการของ AA ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังส่วนอื่นๆ ของรัฐยะไข่และรัฐชิน

โดยมีการยกระดับการสู้รบในเมือง Pauktaw, Myebon และ Paletwa

กะเรนนี: ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ปฏิบัติการ 1027 ยังจุดชนวนกองกำลังต่อต้านกะเรนนีที่รวมกัน ซึ่งประกอบด้วยกองทัพกะเรนนี (KA) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติกะเรนนี (KNLF) กองกำลังป้องกันประเทศกะเรนนี (KNDF) รวมถึงกองกำลัง PDFs และกลุ่มพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเริ่มปฏิบัติการต่อต้านกองทัพ

โดยเริ่มแรกบรรลุการควบคุมเมเซ่ที่ชายแดนไทยอย่างสมบูรณ์

วันที่ 11 พฤศจิกายน กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ประกาศ "ยุทธการ 11.11" พุ่งเป้าไปที่การยึดเมืองลอยกอ เมืองหลวงของชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ห่างจากกรุงเนปยีดอ เมืองหลวงของเมียนมาเพียง 110 กิโลเมตร

เท่ากับเปิดทางให้กลุ่มต่อต้านเข้าถึงฐานอำนาจของรัฐบาลทหารได้โดยง่าย

การยึดที่มั่นทางทหารของกองกำลังกะเหรี่ยงในเมืองลอยกอ ดีโมโซ และโมบาย ได้บีบให้รัฐบาลทหารต้องจัดสรรทรัพยากรที่ลดน้อยลงเพื่อปกป้องเมืองลอยก่อ

เท่ากับเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการส่งกำลังทหารจำนวนมากไปยังตอนเหนือของรัฐฉานเพื่อสู้กับกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านสนองต่อปฏิบัติการ 1027

มีรายงานด้วยว่า กองกำลังภาคพื้นดินในกะเรนนีมีการแปรพักตร์เป็นจำนวนมากหลังจากปฏิเสธที่จะสู้รบแล้ว

รัฐบาลทหารโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศ ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชาชนจำนวนมากเข้าสู่รัฐฉานและข้ามชายแดนไทย

แม้ว่ากองกำลังกะเรนนีจะยังไม่สามารถควบคุมลอยกอได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังมีอ้างว่ามีความคืบหน้าในการสู้รบอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์เชื่อว่าเพราะเมืองนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ การยึดลอยกอจึงอาจเปลี่ยนแปลงพลวัตของความขัดแย้งหลังรัฐประหารทั้งหมดได้ทีเดียว

นักวิชาการพม่าท่านนี้สรุปว่า รายละเอียดเหล่านี้ทำให้มีข้อสังเกตสำหรับยุทธการ 1027 อย่างน้อย 3 ประการ

หนึ่ง การดำเนินงานในภูมิภาคต่างๆ มีการเชื่อมโยงถึงกัน

สอง การบุกโจมตีกองทัพพม่าแบบ 360 องศาที่ประสานกันจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการประสานงานกันล่วงหน้าระหว่างกองกำลังต่อต้านในระดับที่มีนัยสำคัญ

และสาม กองทัพของมิน อ่อง หล่าย ต้องเร่งระดมสรรพกำลังที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ที่จุดยุทธศาสตร์ความขัดแย้งที่สำคัญบางแห่ง

นักวิชาการพม่าคนนี้สรุปว่า

วันหนึ่งข้างหน้าประวัติศาสตร์อาจสรุปได้ว่าการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 ส่งผลร้ายแรงต่อการผูกขาดอำนาจของกองทัพเมียนมามาเป็นเวลาหลายสิบปี

เพราะพอเกิดรัฐประหารก็ทำให้เกิดพลังของการระดมกำลังกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐจำนวนมากของประเทศ

จนสามารถรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายประวัติศาสตร์ร่วมกัน

นั่นคือล้มล้างระบอบเผด็จการทหารที่เป็นศัตรูร้ายกาจที่สุดต่อประชาชนชาวพม่า!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021