
ในตอนที่ 1 ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้อำนาจบุคคลนอกเหนือจาก ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ให้อำนาจบุคคลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งคือ รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (ต่อไปจะใช้ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 มาตรา 46 กำหนดไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกนายหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบสี่นาย อย่างมากยี่สิบสี่นาย ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานแห่งสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้คณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน” [1]
การกำหนดให้ประธานแห่งสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หมายถึง ประธานสภาเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลให้เป็นคณะรัฐมนตรี (นั่นคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี) และตามหลักการของระบบรัฐสภา ประธานแห่งสภาจะเสนอชื่อบุคคลที่สภาเห็นชอบต่อพระมหากษัตริย์
แม้ว่าในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 มาตรา 16 กำหนดว่า “สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือกตั้งขึ้น” [2] แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 มาตรา 65 กำหนดไว้ว่า
“เมื่อราษฎรผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ยังมีการศึกษาไม่จบประถมศึกษาสามัญมากกว่ากึ่งจำนวนทั้งหมดและอย่างชาต้องไม่เกินกว่าสิบปี นับแต่วันใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภทมีจำนวนเท่ากัน
(1) สมาชิกประเภทที่ 1 ได้แก่ ผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นตามเงื่อนไขในบทบัญญัติ มาตรา 16, 17
(2) สมาชิกประเภทที่ 2 ได้แก่ ผู้ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475” [3]
ดังนั้น จากมาตรา 65 ในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 คำว่า สภาผู้แทนราษฎรจึงประกอบไปด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ประเภท นั่นคือ ประเภทที่หนึ่ง และ ประเภทที่สอง ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 นี้ต่อมาก็คือสมาชิกพฤฒิสภาและวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆมานั่นเอง
ดังนั้น คำว่า ประธานแห่งสภา จึงหมายถึง ประธานแห่งสภาผู้แทนราษฎรที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองประเภท และรายชื่อของคณะรัฐมนตรีที่ประธานแห่งสภา เสนอต่อพระมหากษัตริย์ คือ รายชื่อที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภทเห็นชอบ แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2475) ภาค 2 “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒” มาตรา 47 กำหนดไว้ว่า “ในชั้นต้น พระมหากษัตริย์ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 65” [4]
ข้อความใน มาตรา 47 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ไม่ได้กล่าวว่า พระมหากษัตริย์มีอำนาจในการเลือกบุคคลและแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง แต่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงประกาศพระราชกฤษฎีการตั้งสมาชิกประเภทที่สองตามมาตรา 65 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475
พระราชกฤษฎีกาคืออะไร ? พระราชกฤษฎีกา คือ พระราชกฤษฎีกา คือ บัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้น โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี [5]
การที่พระมหากษัตริย์ทรงตรากฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกาตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี เป็นการใช้อำนาจตาม มาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ดังมีข้อความดังนี้คือ “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี” [6]
ดังนั้น จากมาตรา 47 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองจึงมาจากการเสนอรายชื่อจากคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน จำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองมีเท่ากับจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่งตามมาตรา 65 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475
และรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่จะได้ความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรย่อมจะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรที่ประกอบได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภท การแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองเกิดขึ้นครั้งแรกวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 โดยมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ [7] (ผู้เสนอรายชื่อ) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองมีจำนวนทั้งสิ้น 78 คน เท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่งที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย (ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม) ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 [8] คณะรัฐมนตรีที่เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองตามพระราชกฤษฎีกาตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่สองในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 คือ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 ของประเทศไทย และคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ทั้ง 17 คน [9] ได้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองจำนวน 78 คน [10] และในจำนวน 78 คนนั้น มีรายชื่อที่ซ้ำกับรายชื่อของคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 เป็นจำนวน 13 คน นั่นคือ คณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 จำนวน 13 คนใน 17 คนได้เลือกตัวเองหรือเห็นชอบที่ตัวเองได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองที่มีอำนาจในการเลือกคณะรัฐมนตรีชุดต่อไปร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่งที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ของประเทศไทยตามมาตรา 46 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 โดยคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภททั้ง 18 คน [11] เป็นบุคคลที่ซ้ำกับรายชื่อของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง 13 คนที่เคยเป็นคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 คน
และในตอนที่ 2 ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่า คณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 ต้องสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2477 เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบที่รัฐบาลกับความตกลงระหว่างประเทศ เรื่องควบคุมการจำกัดยาง คณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภท [12] แตกต่างไปจากคณะรัฐมนตรี คณะที่ 5 สี่ชื่อ และเมื่อคณะรัฐมนตรี คณะที่ 6 ต้องสิ้นสุดลงเพราะนายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับการขายที่ดินของพระคลังข้างที่ให้แก่บุคคลบางคน และต่อจากนั้นนายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ก็ได้เสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้อภิปรายกันจนหมดเวลา และได้เลื่อนไปอภิปรายในวันต่อไป นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเพื่อให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายได้สอบสวนตามความชอบธรรมและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็ขอลาออกด้วย โดยลาออกเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 [13]
ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2480 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับรองคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 [14]น่าสังเกตว่า คณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 มีชื่อซ้ำกับคณะรัฐมนตรีคณะที่ 4 (ที่เป็นคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2) และซ้ำกับคณะที 5 และ 6 เป็นจำนวน 6 คน ได้แก่ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) นาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. (สินธุ์ กมลนาวิน) นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) และ นาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) [15]
ต่อมา เมื่อสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ชุดที่ 1 อยู่จนครบวาระสี่ปีโดยเริ่มตั้งแต่วันเปิดประชุมสภวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 และมีการยุบสภาเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2460 หลังจากนั้นได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 สมาชิกสภาประเภทที่ 2 ที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 จึงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปตามมาตรา 47 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างเวลาที่ใช้บทบัญญัติเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 ได้เปลี่ยนจากการเลือกตั้งโดยอ้อมมาเป็นการเลือกตั้งโดยตรงตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2479 วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2479 [16] สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2480 มีจำนวน 91 คน เพี่มจากเดิมที่มี 78 คน เพราะมีการกำหนดจำนวนผู้แทนราษฎรใหม่ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2479 วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2479 ดังนั้น จึงต้องมีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เพิ่มให้เท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ตามมาตรา 65 รัฐธรรมนูญ พ.ศ 2475 [17]
และในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2480 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภทได้ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี คณะที่ 8 และเมื่อสำรวจรายชื่อของคณะรัฐมนตรี คณะที่ 8 จะพบว่าซ้ำกับรายชื่อคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 เป็นจำนวนถึง 14 คนในจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมด 18 คน [18]
และเช่นเคย มีรัฐมนตรีหน้าเดิมที่มีรายชื่อซ้ำกับคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ คณะที่ 4, 5 และ 6 เป็นจำนวน 6 คนเนั่นคือ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) นาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย ร.น. (สินธุ์ กมลนาวิน) นาวาโท หลวงศุภชลาศัย ร.น. (บุง ศุภชลาศัย) และ นาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์)
กล่าวได้ว่า บุคคลทั้งหกนี้คือ แกนนำสำคัญทางการเมืองในช่วงเวลานั้น
[1] https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/529.PDF
[2] https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/529.PDF
[3] https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/529.PDF
[4] https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/16516
[5] http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=พระราชกฤษฎีกา#cite_note-1
[6] https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
[7] https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/35919
[8] http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สภาผู้แทนราษฎร#
[9] https://www.soc.go.th/?page_id=5752
[10] https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/35919
[11] https://www.soc.go.th/?page_id=5754
[12] ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภทแม้แต่คนเดียวที่ยกมือคัดค้านhttps://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php
[13] https://www.soc.go.th/?page_id=5760
[14] https://www.soc.go.th/?page_id=5764
[15] ในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 มีการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภทภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เป็นรัฐมนตรี อาทิ พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เคยหนึ่งใน 70 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่แต่งตั้งโดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ตามมาตรา 10 สมัยที่ 1 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ชั่วคราว พ.ศ. 2475 www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/166.PDF และ.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/D/1338_1.PDF
[16] https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/16147
[17] https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/A/529.PDF
[18] รายชื่อคณะรัฐมนตรี คณะที่ 8 ดู https://www.soc.go.th/?page_id=5766
ส่วนคณะที่ 7 ดู https://www.soc.go.th/?page_id=5760
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
องครักษ์ 20 คนไม่ช่วย! 'วิโรจน์' ซัด 'แพทองธาร' ไร้ภาวะผู้นำ-บริวารในกงสีแค่ทำคะแนน
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.ประชาชน ซัดแรง องครักษ์พิทักษ์แพทองธาร 20 คน เป็นแค่บริวารในกงสี ไม่มีผลต่อศึกซักฟอก ลั่นฝ่ายค้านถามลูก ไม่ได้ถามพ่อ! เตือนนายกฯ ต้องชี้แจงเอง ไม่ใช่พึ่งบริวาร
‘องครักษ์’ เดือดฉะ ‘วิโรจน์’ โดนตัวไหนมา ลามปามท่านนายกฯอิ๊งค์
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึนายวิโรจน์ ลักข
24 มี.ค. ถล่มรัฐบาล เอาจริงหรือแหกตา!! | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 21 มีนาคม 2568
พปชร. เผย ‘บิ๊กป้อม’ ซักฟอกนายกฯต่อจาก ‘เท้ง’ มั่นใจฝ่ายรัฐบาลไม่ประท้วง
“ไพบูลย์” เปิดคิว “บิ๊กป้อม” ลุกซักฟอกนายกฯ ต่อจาก “เท้ง” ระบุ แค่จั่วหัวภาพรวม แล้วให้ สส.ลงลึก เชื่อฝ่ายรัฐบาลให้เกียรติ ไม่เล่นเกมประท้วง
'ซื้อหนี้' เงินน่ะมีไหม? | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม 2568
ไม่รู้สี่ รู้แปด!! | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพุธที่ 19 มีนาคม 2568