'ปราโบโว' ผู้นำคนใหม่อินโดฯ จะก้าวพ้นร่มเงาโจโกวีได้อย่างไร?

ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย จะปรับเปลี่ยนการเมืองในประเทศและเวทีระหว่างประเทศอย่างไร?

หรืออีกนัยหนึ่ง คำถามคือ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมือง ในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร?

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไปในเวทีการเมืองอินโดนีเซีย คือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่าง ปราโบโว ซูเบียนโต ผู้ชนะเลือกตั้ง กับผู้นำคนปัจจุบันคือ โจโก "โจโกวี" วิโดโด

ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการชี้ว่า ปราโบโวได้คะแนน 57% ถึง 59% ของบัตรลงคะแนนทั้งหมด

ซึ่งเหนือกว่าคู่แข่งทั้งสอง

อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา Anies Baswedan ได้ 24% ถึง 25%

และอดีตผู้ว่าการชวากลาง Ganjar  Pranowo ได้ 15% ถึง 17%

เป็นที่แน่ชัดว่า ปราโบโวอาศัยบารมีทางการเมืองของโจโกวีไม่น้อยในการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

เพราะเขาเสนอชื่อให้ ยิบราน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka) ลูกชายคนโตของโจโกวี เป็นคู่หูในตำแหน่งรองประธานาธิบดี

และได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูง

อาจจะเป็นเพราะปราโบโวแพ้โจโกวีในการเลือกตั้งสองครั้งก่อนหน้านี้ ในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ถือได้ว่าเป็นเกมการเมืองที่แปลกไม่น้อย

เพราะทั้งสองเป็นคู่รักคู่แค้นในสนามการเมืองมาก่อน แต่เมื่อโจโกวีใช้ยุทธศาสตร์ “แปรศัตรูเป็นมิตร” ด้วยการเชิญปราโบโวมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหม

และวางตัวเป็นทายาททางการเมือง

พร้อมส่งลูกชายไปประกบเพื่อส่งไม้ต่ออย่างราบรื่น

หนึ่งคือใช้ปราโบโวเป็นผู้ปูทางให้ลูกชายของตน

และสองเพื่อให้ลูกชายมีโอกาสได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างค่อนข้างมั่นคง

การที่ปราโบโวได้รับคะแนนเสียงใกล้  60% สะท้อนว่าเป็นการผสมผสานปัจจัยบวกทุกๆ ด้านที่ช่วยหนุนเนื่องให้ทายาททางการเมืองของโจโกวีได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเข้มข้นทันที

แต่กว่าจะประกาศผลอย่างเป็นทางการยังมีเวลากว่าหนึ่งเดือน

เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ของอินโดฯ มีเวลาจนถึงวันที่ 20 มีนาคมในการประกาศผลสุดท้ายอย่างเป็นทางการ

และกว่าปราโบโวจะรับตำแหน่งต่อจากโจโกวีก็ปาเข้าไปเดือนตุลาคมปีนี้

ซึ่งแปลว่าทุกคนมีเวลาเตรียมตัวทำงานกันอย่างเต็มที่

นักวิเคราะห์ที่อินโดฯ ระบุว่า ประเด็นความสนใจตอนนี้เปลี่ยนไปอยู่ที่วิธีการที่ปราโบโวจะสานต่อ ด้วยการประสานอำนาจของเขาก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม

และต้องลงรายละเอียดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้วางแนวทางในการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการเลือกตั้ง

               เพราะผู้รู้เรื่องการเมืองอินโดฯ ดีเชื่อว่านับจากนี้เป็นต้นไป เกมชิงอำนาจครั้งใหม่ระหว่างปราโบโวกับโจโกวีจะเริ่มต้นขึ้น

มองในแง่หนึ่ง หากมองจากมุมของปราโบโว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเขาจะ “กำจัด” โจโกวีอย่างไร จึงจะเปลี่ยนผ่านได้อย่างราบรื่นที่สุด

นั่นแปลว่า ทำอย่างไรจึงจะสลัดเงาของโจโกวีออกไปเพื่อเขาจะได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเต็มภาคภูมิ

นั่นหมายถึงการลดอิทธิพลของยิบราน ลูกชายของโจโกวี

และตีตัวออกห่างจากบารมีของโจโกวีให้มากที่สุด

แต่การจะทำอย่างนั้นได้ต้องทำอย่างเนียนๆ ไม่ให้มีภาพของการ “เนรคุณ”

แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ให้เกิดความเชื่อว่าปราโบโวขาดความเป็นตัวของตัวเอง

เป็นการทดสอบที่ค่อนข้างยุ่งยาก

ในระหว่างการรณรงค์ ปราโบโวเน้นว่าเขาจะยังคงสานต่อนโยบายหลักของโจโกวี

นั่นรวมถึงการย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาไปยังนูซันตารา เมืองใหม่ที่กำลังถูกสร้างขึ้นบนเกาะบอร์เนียว

และนโยบายทรัพยากรธรรมชาติที่อินโดนีเซียตั้งเป้าจะพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปภายในประเทศ มากกว่าที่จะส่งออกวัตถุดิบ

แต่มีคำถามว่าเขาจะสามารถทำตามสัญญาได้หรือไม่

นโยบายอันดับต้นๆ ของปราโบโวคือ แผนอาหารกลางวันและนมฟรีจำนวน 460 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) สำหรับโรงเรียนและแม่ตั้งครรภ์

รวมถึงการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศ

แต่ประธานาธิบดีคนใหม่ก็ต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่า นโยบายที่ต้องใช้งบประมาณสูงขนาดนี้อาจส่งผลกระทบต่อวาระของโจโกวี

รวมถึงการจัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการใหม่ เงินทุนซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่า 466 ล้านล้านรูเปียห์ หรือที่เกิน 1 ล้านล้านบาททั้งหลาย

ความไม่แน่นอนยังคงเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการคลัง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเลือกใครมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ

การแต่งตั้งรัฐมนตรีของปราโบโวจะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะตลาดจะจับตาดูอย่างระมัดระวังว่า วินัยทางการคลังที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ศรี มุลยานี รักษาไว้จะยังคงอยู่หรือไม่

และมีคำถามว่า ปราโบโวจะเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลไปสู่ระดับสูงอย่างน่ากังวลหรือไม่

สำหรับประเทศไทยและสมาชิกอาเซียนอื่นๆ การขึ้นมาของปราโบโวมีความสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการเปลี่ยนผู้นำของอินโดฯ ในรอบ 10 ปี

ความคุ้นชินกับโจโกวีต้องมีการปรับตัวให้เข้าใจสไตล์การทำงาน และวิธีคิดของผู้นำคนใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และยิ่งโลกผันผวนมากเพียงใด บทบาทของอาเซียนที่มีอินโดฯ เป็นประเทศใหญ่ที่สุดในแง่ประชากรและการทูตระหว่างประเทศก็จะยิ่งมีความสำคัญเพียงนั้น

เราต้องจับตาชนิดที่ว่างเว้นไม่ได้เลยจริงๆ!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร