ไทยเผชิญภาระชายแดนเพิ่ม หนุ่ม-สาวพม่าหนีเกณฑ์ทหาร

คลื่นคนหนุ่ม-สาวพม่ากำลังจะหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง

เป็นการ “หนี” ระลอกที่สองนับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อ 3 ปีก่อน

พอเกิดรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นักการเมือง นักเคลื่อนไหว ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนจำนวนมากได้หลบหนีพยายามจะหลบหนีออกจากบ้าน

บางคนหนีการตามไล่ล่าของทหาร และอีกจำนวนหนึ่งตัดสินใจจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหาร

อีกจำนวนหนึ่งหนีไปประเทศเพื่อนบ้านและส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางที่ประเทศไทย

ในขณะที่อีกบางคนพักพิงอยู่บริเวณชายแดนกับกลุ่มชาติพันธุ์

ด้วยการเข้าร่วมติดอาวุธเพื่อสู้กับรัฐบาลทหาร

คลื่น “หนีออกนอกประเทศ” รอบนี้ ดูเหมือนว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากตั้งใจที่จะเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปมีชีวิตที่ดีขึ้นในต่างประเทศ

และถ้าออกนอกประเทศแล้ว ก็คิดว่าไปครั้งนี้ไปนาน

เหตุเพราะเมื่อวันที่ 10 กุมภาฯที่ผ่านมารัฐบาลทหารภายใต้การนำของมิน อ่องหล่ายประกาศปัดฝุ่นกฎหมายบังคับการรับราชการทหารสำหรับผู้ชายอายุ 18 ถึง 35 ปี และผู้หญิงอายุ 18 ถึง 27 ปี

โดยกำหนดให้ต้องรับราชการอย่างน้อยสองปี

แต่ในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะต้องอยู่ในค่ายทหารยาวนานถึงห้าปี

การเกณฑ์ทหารจะเริ่มเกือบจะทันทีโดยในเบื้องต้นมีข่าวว่าเริ่มที่ 5,000 คน

โดยพุ่งเป้าไปที่มืออาชีพโดยเฉพาะ เช่นแพทย์ วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญด้านไอที

หนุ่มสาวชาวพม่าที่มีทักษะเหล่านี้อาจจะกำลังคิดหนัก

จะเข้าไปเป็นทหารเพื่อสู้รบกับเพื่อนร่วมชาติของตน หรือจะหนีออกนอกประเทศเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ที่ต้องคิดหนักเพราะต้องเป็นห่วงครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง

ในสภาพบ้านเมืองที่ย่ำแย่อย่างนี้ ชายหญิงวัยทำงานเป็นกำลังหลักของทั้งครอบครัว

หากถูกเกณฑ์ไปรบ ก็เป็นห่วงที่บ้าน

หากหนีไปต่างประเทศก็ไม่แน่ใจว่าครอบครัวที่ทิ้งไว้ข้างหลังจะอยู่ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

แต่คนในพม่าต่างกระซิบกระซษบกันว่านักธุรกิจ เจ้าของโรงงาน และเจ้าของโรงแรมก็พบว่าพนักงานรุ่นเยาว์กำลังตกอยู่ในสภาพงุนงง กำลังไตร่ตรองว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต

แต่หลายคนก็กำลังจัดกระเป๋าเดินทางแล้ว

นักวิเคราะห์ในพม่าบอกว่าในดินแดนแห่งกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐฉานซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ได้เร่งรับสมัครทหารหนุ่มด้วยเกรงว่าความขัดแย้งจะขยายวงกว้างขึ้น

นั่นคืออีกปัจจัยที่ผลักดันให้หลายครอบครัวในรัฐฉานต้องอพยพมาชิดติดชายแดนหรือไม่ก็ข้ามเข้ามาไทย

ส่งผลให้เชียงใหม่กลายเป็น "เมืองหลวงแห่งที่สองของรัฐฉาน" รองจากเมืองตองยี

ร้อนถึงรัฐบาลไทยต้องเตรียมออกแบบนโยบายใหม่เพื่อรับกับสถานการณ์ที่ผันผวนรวนเรอย่างหนักในพม่าวันนี้

ข่าวการบังคับเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทหารพม่าเกิดขึ้นขณะที่กระทรวงต่างประเทศไทยเตรียมสร้าง “ระเบียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม” ตามแนวชายแดนพม่า

รัฐมนตรีต่างประเทศปรานปรีย์ พหิทธานุกรไปสำรวจแม่สอดของจังหวัดตากมาแล้ว

จากนั้นก็บินไปวอชิงตันเพื่อหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเกนเพื่อขอให้ร่วมแผนความช่วยเหลือ

ก่อนหน้านี้ คุณปรานปรีย์ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศจีนหวัง อี้ในประเด็นเรื่องพม่าเช่นกัน

สิ่งที่เกิดจากความสับสนวุ่นวายของพม่าทำให้ไทยกลายเป็นที่พำนักถาวรของครอบครัวชาวเมียนมาที่มีสตางค์และชนชั้นกลางจำนวนมาก

เป็นที่รู้กันว่าคนพม่าได้เข้ามาซื้อคอนโดและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในไทยอย่างกว้างขวาง

อีกทั้งยังเปิดธุรกิจ ร้านอาหาร และศูนย์บริการในกรุงเทพฯ และขยายไปยังเชียงใหม่และภูเก็ตด้วย

การซื้อบ้านและปักหลักปักฐานทำมาหากินของคนพม่าไม่ในไทยไม่ใช่สิ่งเดียวที่ดึงดูดใจชาวเมียนมาผู้มีฐานะดีเข้าไทย

อย่างน้อยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับชาวเมียนมาร์ที่มารักษาพยาบาล

โรงพยาบาลดัง ๆ ในกรุงเทพฯ มีพนักงานแปลภาษาพม่าอย่างคล่องแคล่ว

ที่เชียงใหม่ โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งมีล่ามภาษาพม่าและฉาน

สื่อพม่าบอกว่าคนพม่าที่มีเงินมองหาคอนโดที่มีราคาต่อหน่วย 20-70 ล้านบาทโดยเฉพาะในทำเลใจกลางเมือง เช่น ทองหล่อ อโศก พร้อมพงษ์ นานา และเพลินจิต

ราคาขึ้นอยู่กับที่ตั้งใกล้โรงพยาบาลและห้างสรรพสินค้า

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกชายและลูกสาวของมิน ออง หล่ายก็อยู่ในข่ายเป็นลูกค้าของคอนโดหรูในกรุงเทพฯเหล่านี้

แต่คนพม่าอีกจำนวนหนึ่งมาไทยเป็นเพียงทางผ่านไปมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศตะวันตก

เพราะสิ้นหวังกับอนาคตของตนเองในบ้าน

ตัวเลขคนพม่ามาทำงานในไทยไม่แน่ชัด เพราะมีทั้งที่ถูกกฎหมายและหลีกเลี่ยงกฎหมาย

ตัวเลขทางการแจ้งว่ามีแรงงานพม่าที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน 2.1 ล้านคน แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึง 3 ล้านถึง 5 ล้านคน

เมื่อเกิดคลื่นคนรุ่นใหม่พม่าหนีข้ามเข้าไทย และเริ่มมีการจับกุมกันตรงด่านชายแดนไทย-พม่าเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายที่ช่วยจัดหางานและการศึกษาให้กับคนหนุ่มสาวที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารมา

เพราะหากผลักดันให้หนุ่มสาวพม่าเหล่านี้กลับไปพม่าก็อาจจะต้องเผชิญกับการถูกคุกคามและติดคุกยาว

ฝ่ายความมั่นคงของไทยกับกระทรวงต่างประเทศและมหาดไทยคงจะจับตาดูสถานการณ์ล่าสุดด้วยความหนักใจ

สถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนอยู่ขณะนี้มีความอ่อนไหวและละเอียดอ่อน

เพราะจีนกับอินเดียและบังคลาเทศกับ สปป. ลาวก็มีชายแดนติดกับพม่า

แต่เมื่อไทยเรามีพรมแดนติดกับพม่ากว่า 2 พันกิโลเมตร ปัญหาที่ติดตามมาย่อมจะสาหัสกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ แน่นอน

ในเมียนมากฎหมายเกณฑ์ทหารเริ่มประกาศครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 แต่ไม่เคยมีการบังคับใช้เลย

หลังจากการรัฐประหารที่นำโดยทหารในปี 2564 ผู้บัญชาการทหารบก มิน ออง หล่าย พูดเป็นนัยเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นแนวคิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นจนกระทั่ง 3 ปีต่อมา โดยมีการประกาศในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ปีนี้

กฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์ทหารมีรายละเอียดอย่างไร?

ผู้ชายทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 35 ปี และผู้หญิงทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 27 ปี จะต้องรับราชการทหารสูงสุด 2 ปี หากถูกเรียกตัว

จะมีการจำกัดอายุที่สูงขึ้นที่ 45 ปีสำหรับผู้ชาย และ 35 ปีสำหรับผู้หญิง และระยะเวลาการทำงานที่นานกว่านั้นอีก 3 ปี สำหรับบางอาชีพ เช่น แพทย์และวิศวกร

ระยะเวลารับราชการสามารถขยายออกไปเป็น 5 ปีได้ในช่วงภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เมียนมาร์เผชิญนับตั้งแต่รัฐประหาร

ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลเผด็จการ กล่าวกับสื่อว่า ประชาชนอย่างน้อย 13 ล้านคนจะมีสิทธิ์ มีรายงานประชากรของประเทศอยู่ที่ 55 ล้านคนในปี 2564

แต่ละชุดรับสมัครจะมีทหารเกณฑ์ประมาณ 5,000 คน โดยการรับเข้ารุ่นแรกในช่วงกลางเดือนเมษายนหลังจากวันหยุดปีใหม่ของเมียนมาที่เรียกว่าติงยาน

หญิงสาวจะถูกคัดเลือกจากชุดที่ 5 เท่านั้น

เป้าหมายคือการรับสมัครทหาร 60,000 นายในหนึ่งปี ให้กับกองทัพที่คาดว่ากำลังรวมในปัจจุบันอยู่ระหว่าง 200,000 ถึง 300,000 นาย

การหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารจะถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 5 ปีและเสียค่าปรับ

นักบวชได้รับการยกเว้น ส่วนข้าราชการและนักศึกษาอาจได้รับการเลื่อนเวลาออกไปชั่วคราวได้

ต่อมา มีการออกข่าวว่าจะไม่เกณฑ์ผู้หญิง แต่ไม่มีอะไรชัดเจนจนกว่าจะได้เห็นรายละเอียดของระเบียบที่กำลังร่างอยู่

นั่นแปลว่าไทยเราจะต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่งจากเพื่อนบ้านด้านตะวันตกของเรา

หากไม่รีบแสวงหาทางสู่การเจรจาในนามของอาเซียนที่จะต้องจับมือกับจีนและสหรัฐฯ ปัญหาก็มีแต่จะเสื่อมทรุดลงไปแน่นอน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร