ข่าวร้ายจากพม่า เพิ่มความตึงเครียดทั่วอาเซียน

การที่มิน อ่องหล่ายต้องประกาศเกณฑ์ทหารจนสร้างความแตกตื่นไปทั่วประเทศมีสาเหตุมาจากความเพลี่ยงพล้ำในสนามรบที่ฝ่ายต่อต้านเริ่มจะรุกคืบอย่างหนักหน่วงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

การตัดสินใจของผู้นำกองทัพพม่าที่สะท้อนว่ากำลังอยู่ในภาวะตั้งรับมากกว่าเชิงรุกมีเหตุผลหลายข้อ

ประการแรก กองทัพเมียนมาประสบปัญหาในการจัดหาทหารมาเสริมทัพโดยตลอด ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สังเกตเห็นมานานหลายทศวรรษแล้ว

กองทัพพม่ายังเผชิญกับปัญหาภารกิจที่หนักและกว้างขวางมากขึ้น นับตั้งแต่รัฐประหารเพราะไม่มีหน่วยสำรองที่สามารถเรียกมาประจำการได้ทันที

ที่เห็นได้ชัดคือยุทธการ 1027 ของ “พันธมิตรฝ่ายเหนือ” 3 กลุ่มที่ผนึกกำลังกันเปิดศึกโจมตีครั้งใหญ่ตั้งแต่ 27 ตุลาคมปีที่แล้ว

ผลงานของ “3 พี่น้อง” (โกกั้ง, อาระกัน, และตะอางอันเกิดจากการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพสร้างความประหลาดใจให้กับฝ่ายกองทัพเป็นอย่างยิ่ง

ผลที่ตามมาคือกองทัพสูญเสียดินแดนไปมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายต่อต้านมีอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น โดรน ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อกองทัพ

เป้าหมายเฉพาะหน้าของรัฐบาลทหารพม่าคือการเสริมกำลังให้สามารถผลักดันฝ่ายต่อต้านให้กลับไปจากหลายจุดที่สามารถยึดได้จากกองทัพ

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติฝ่ายค้าน (NUG) ออกข่าวเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วว่าได้จัดส่งโดรนอย่างน้อย 400 ลำให้กับกองกำลังกบฏทั่วประเทศเพื่อใช้ในการโจมตีและทิ้งระเบิดใส่กองทัพ

NUG ประณามคำสั่งเกณฑ์ทหารว่า “ผิดกฎหมาย” และบอกกับประชาชนว่า “ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม”

ในแถลงการณ์ NUG ซึ่งตอกย้ำว่ารัฐประหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและรัฐบาลทหารไม่มีอำนาจทางกฎหมายยืนยันว่ากองทัพกำลัง  “ประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่และน่าอับอายทั่วประเทศ”

จึงต้องบังคับให้พลเรือนต่อสู้และทำหน้าที่เป็น "โล่มนุษย์" ในสนามรบ

นักวิเคราะห์ด้านการทหารเห็นตรงกันว่าพอมีการปัดฝุ่นเอากฎหมายเกณฑ์ทหารมาใช้ในจังหวะนี้ก็หมายความว่ากองทัพยอมรับความพ่ายแพ้แล้ว

หรืออีกนัยหนึ่งคือการให้คนพม่าสู้รบกันเอง

สะท้อนว่ามิน อ่องหล่ายจะทำทุกอย่างเพื่ออยู่ในอำนาจให้ยาวนานที่สุด

ไม่ว่าจะต้องใช้วิธีการใดเพื่อให้ได้ชัยชนะมาก็ตาม

พอมีการประกาศเกณฑ์ทหารก็มองออกทันทีว่าจะนำไปสู่การคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่

เพราะเจ้าหน้าที่ทหารถือโอกาสเรียกรับสินบนจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่พยายามซื้อทางออกให้ลูกๆ

เป็นที่รู้กันว่าครอบครัวชนชั้นกลางพร้อมขายทรัพย์สินเพื่อส่งลูกหลานไปต่างประเทศและหลบเลี่ยงกฎหมายการเกณฑ์ทหาร

นั่นแปลว่าจะมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนและทรัพย์สินจำนวนมากข้ามพรมแดนไปเพื่อนบ้าน

ผลที่ตามมาที่ร้ายแรงและคาดเดาได้ประการหนึ่งคือความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น

การเกณฑ์ทหารรอบนี้หมายความว่าจะต้องมีการสู้รบหนักขึ้น

กองทัพพม่าจะเริ่มการตอบโต้อย่างหนัก และระดับความรุนแรงจะสูงกว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา

คำถามใหญ่สำหรับไทยเราคืออาเซียนจะทำอะไร?

กองทัพพม่าจะอ้างว่าการเกณฑ์ทหารเป็นกิจการภายในประเทศ

อาเซียนจะกดดันรัฐบาลทหารพม่าในประเด็นนี้โดยตรงคงไม่ง่าย

เพราะหลายประเทศก็มีกฎหมายเกณฑ์ทหารเช่นกัน

แต่ไทยและอาเซียนอื่นก็อาจจะยกประเด็นว่าหากการสู้รบรุนแรงขึ้นจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคอย่างใหญ่หลวง

ไทยเรามีสิทธิจะส่งเสียงดังที่สุดเพราะเราได้รับผลกระทบหนักที่สุด

เช่น อาจมีผู้ลี้ภัยไหลเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น

และมีประเด็นเรื่องความไร้เสถียรภาพของชายแดนและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

และการสังหารพลเรือนมากขึ้นซึ่งเป็นข้อกังวลระหว่างประเทศ

แต่อาเซียนก็ต้องยึดฉันทามติ 5 ข้อเป็นหลัก

เพราะนั่นคือแผนสันติภาพที่ตกลงกันในเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 โดยผู้นำของรัฐสมาชิก 9 ประเทศและผู้นำรัฐบาลทหาร มิน ออง หล่าย

เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลทหารของเมียนมากำลังกลายเป็นภัยคุกคามต่อพลเรือนมากยิ่งขึ้น

ทอม แอนดรูว์ เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตอกย้ำว่านนี่เป็นเป็นสัญญาณเพิ่มเติมของ “ความอ่อนแอและความสิ้นหวัง” ของรัฐบาลทหารพม่า

จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้นนเพื่อปกป้องประชากรกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ

 

“ในขณะที่รัฐบาลทหารบังคับชายหนุ่มและหญิงสาวเข้าประจำการในกองทัพ รัฐบาลทหารก็เพิ่มการโจมตีพลเรือนโดยใช้อาวุธทรงพลังที่สะสมไว้เป็นสองเท่า” นายแอนดรูว์ กล่าว

เขาเสริมว่าในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังไม่ดำเนินการใด ๆ ประเทศต่างๆ จะต้องเสริมสร้างและประสานงานมาตรการเพื่อลดการเข้าถึงอาวุธของรัฐบาลเผด็จการทหาร

ตัวเลขล่าสุดของสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าผู้คนเกือบ 2.7 ล้านคนยังคงเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ

ซึ่งรวมถึงเกือบ 2.4 ล้านคนที่ถูกถอนรากถอนโคนหลังการยึดครองของทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ความขัดแย้งยังคงโหมกระหน่ำในพื้นที่ต่างๆ ของพม่า

จุดที่มีสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงล่าสุดคือรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตก

เป็นรายงานของสำนักงานกิจการด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ OCHA เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน

รัฐยะไข่เป็นสมรภูมิการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างกองทัพและกองทัพอาระกัน ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์

ทำให้เกิดปัญหาการจำกัดการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม แม้จะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

ขณะเดียวกัน การหยุดยิงยังคงดำเนินต่อไปในรัฐฉานทางตอนเหนือ โดยปล่อยให้คนส่วนใหญ่ที่พลัดถิ่นเมื่อปลายปี 2566 สามารถกลับบ้านได้

พลเรือนเกือบ 23,000 คนที่หนีจากความขัดแย้งที่ลุกลามในภูมิภาคเมื่อปีที่แล้ว ยังคงต้องพลัดถิ่นในพื้นที่ 141 แห่งใน 15 เมือง

OCHA เสริมว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมายังคงดำเนินต่อไป

เป็นสงครามที่มีการปะทะด้วยอาวุธ การโจมตีทางอากาศ และกระสุนปืนครกคุกคามความปลอดภัยของพลเรือนและการพลัดถิ่นของผู้ขับขี่

 

มีรายงานว่าชายหนุ่มถูกลักพาตัวจากถนนในเมืองต่างๆ ของเมียนมาหรือถูกบังคับให้เข้าร่วมกองทัพ ขณะที่มีรายงานว่าชาวบ้านถูกใช้เป็นลูกหาบและเป็นโล่มนุษย์

เป็นภาวะที่น่าเศร้าและสิ้นหวังอย่างยิ่งสำหรับคนพม่าเอง...และตราบที่เพื่อนบ้านเรายังไม่สงบ คนไทยก็ไม่อาจจะคาดหวังว่าจะสามารถเห็นสันติภาพในภูมิภาคนี้ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021