‘คุณป้า’ เยลเลนโปรยยาหอม ผสมน้ำขมให้นายกฯ หลี่ของจีน

คุณป้า “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ไปเมืองจีนค่อนข้างบ่อย จนมีคนนินทาว่าเธอมีความลำเอียงเข้าข้างจีนหรือเปล่า

แต่ถ้าดูจากบทสนทนาของเธอกับนายกฯ หลี่ เฉียง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็เชื่อได้ว่าเธอเป็นนักเจรจาที่เข้มข้นไม่น้อย

เป็นนางสิงห์ที่สร้างรอยยิ้มเพื่อที่จะสามารถเข้าถ้ำเสือให้ได้มากกว่าจะเป็นแมวเชื่องๆ หรือเสือดุในการต่อรองกับฝ่ายจีน

เยลเลนบอกนายกฯ จีนว่า ทั้งสองฝ่ายต้องยอม พูดเรื่องยากๆ” อย่างตรงไปตรงมา จึงจะสามารถฝ่าข้ามปัญหามากมายหลายเรื่องของสองมหาอำนาจ

เธอบอกว่ายิ่งพูดกันตรงๆ ยิ่งจะมีทางสร้างความมั่นคงในความสัมพันธ์ 

นายกฯ หลี่ก็ใช่ย่อย...เริ่มการเจรจาด้วยการตอกย้ำว่า ทั้งสองประเทศต้องเคารพซึ่งกันและกัน ควรเป็นหุ้นส่วน ไม่ใช่ศัตรู

และหยอดคำหวานเล็กๆ ว่า "ความก้าวหน้าอย่างสร้างสรรค์" ได้เกิดขึ้นแล้วจากการที่เธอได้เดินทางมาพบปะกับผู้นำจีนเป็นระยะๆ

เยลเลนบอกว่า วอชิงตันและปักกิ่งมี “หน้าที่” ในการจัดการความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนอย่างมีความรับผิดชอบ               และเธอก็นำเสนอประเด็นสำคัญ...คือการควบคุมกำลังการผลิตส่วนเกินของจีน “แม้เรายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก แต่ดิฉันเชื่อว่าในปีที่ผ่านมา เราได้ทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรามั่นคงยิ่งขึ้น”

แต่เธอก็ย้ำว่า จะต้องยอมรับว่าทั้งสองประเทศยังมีความเห็นต่างกันอีกหลายเรื่อง “นี่ไม่ได้หมายถึงการเพิกเฉยต่อความแตกต่างของเรา หรือหลีกเลี่ยงการสนทนาที่ยากลำบาก แต่หมายถึงการเข้าใจว่า เราจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็ต่อเมื่อเราสื่อสารกันโดยตรงและเปิดเผยต่อกัน”

เธอเปิดไพ่ใบสำคัญออกมาแกมตำหนิปักกิ่ง ว่าด้วยการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงโซลาร์เซลล์ และผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาดอื่นๆ ส่วนเกินของจีนมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ

คุณป้าเยลเลนย้ำให้นายกฯ จีนเห็นว่าเธอมีความผูกพันกับจีนไม่น้อย เพราะนี่คือการเยือนจีนครั้งที่สองในรอบเก้าเดือน

ครั้งก่อนเธอมาเยือนปักกิ่งในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

เป็นความพยายามอย่างไม่ลดละที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคีเป็นปกติเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังจากที่ระดับความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นมาเป็นเวลานาน อันเกิดจากความขัดแย้งประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไต้หวันไปจนถึงต้นกำเนิดของโควิด-19 และข้อพิพาททางการค้า

อีกหนึ่งสัญญาณบ่งชี้ความพยายามของทั้งสองฝ่าย ที่จะประคับประคองไม่ให้หลุดออกจากกรอบที่ควรจะเป็น

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน พยายามจัดการบริหารความตึงเครียดเหนือทะเลจีนใต้ด้วยการพูดคุยทางโทรศัพท์เกือบ 2 ชั่วโมงเมื่อสัปดาห์ก่อน ใกล้กับตอนที่คุณป้ามาเยือนปักกิ่ง

เป็นการพูดคุยโดยตรงครั้งแรกของสองผู้นำ ตั้งแต่การประชุมสุดยอดในเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ในเมืองกว่างโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออกทางตอนใต้ของจีน เยลเลนและรองนายกรัฐมนตรี เหอ ลี่เฟิง ของจีนตกลงที่จะเริ่มการเจรจาที่เน้นไปที่ "การเติบโตอย่างสมดุล"

เยลเลนย้ำว่า เธอตั้งใจที่จะใช้เวทีนี้สนับสนุนให้เกิด “การแข่งขันที่เท่าเทียม” กับจีน เพื่อปกป้องคนงานและธุรกิจของสหรัฐฯ

“ในฐานะที่เรามีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดสองแห่งของโลก  เรามีหน้าที่ต่อประเทศของเราเองและต่อโลก ในการจัดการความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของเราอย่างมีความรับผิดชอบ  และให้ความร่วมมือและแสดงความเป็นผู้นำในการจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนระดับโลก”  นั่นคือประโยคสำคัญที่เธอบอกนายกฯ หลี่ของจีน

หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์คาดว่า กำลังการผลิตแบตเตอรี่ของจีนจะแซงหน้าความต้องการ 4 เท่าภายในปี  2570 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

การที่รัฐบาลจีนอุดหนุนการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ได้ช่วยให้ยักษ์ใหญ่จีนอย่าง BYD และ  Geely คว้าส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก                ยกระดับให้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย

มีหรือที่มะกันจะไม่หวั่นไหว

เพราะอเมริกาตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วยังหมายความว่าจีนได้สร้างกำลังการผลิตรถ EV ส่วนเกิน ซึ่งอาจอยู่ระหว่าง 5 ถึง 10 ล้านคันต่อปี

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Automobility

สี จิ้นผิง ประกาศวลีโดดเด่นครั้งใหม่ที่เรียกว่า "พลังการผลิตใหม่" อันหมายถึงการลงทุนในเทคโนโลยีล้ำสมัยในอุตสาหกรรมล้ำยุค เช่น รถยนต์ไฟฟ้า การบินอวกาศเชิงพาณิชย์ และวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ซึ่งเดิมเป็นสาขาที่บริษัทสหรัฐฯ จำนวนมากเคยมีความได้เปรียบ

สื่อจีนออกมาโต้แย้ง “คุณป้า” ในประเด็นเรื่อง “การผลิตส่วนเกินของจีน” อย่างไม่เกรงอกเกรงใจเช่นกัน

สำนักข่าวซินหัวของรัฐแย้งว่า การพูดถึง "กำลังการผลิตล้นเกินของจีน" ในภาคพลังงานสะอาดเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ ในการออกนโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องบริษัทอเมริกัน

สื่อจีนบอกว่า การที่สหรัฐฯ พยายามสกัดกั้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าของจีนจะไม่ช่วยให้สหรัฐฯ เติบโตได้แต่อย่างใด

น่าสังเกตว่า เยลเลนไม่ได้ขู่ที่จะขึ้นภาษีหรือกำหนดอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ หากจีนล้มเหลวในการควบคุมการสนับสนุนจากรัฐที่ขยายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ และผลิตภัณฑ์พลังงานสะอาดอื่นๆ เกินกว่าความต้องการในประเทศ

และเธอก็โปรยคำหวานว่าเธอมี “ความมั่นใจมากขึ้น"  เกี่ยวกับเศรษฐกิจของจีนว่าจะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ หลังจากเธอได้เห็นนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์และหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น

สำนักข่าวซินหัวของจีนระบุในแถลงการณ์ว่า การหารือระหว่างเหอกับเยลเลนนั้น "ตรงไปตรงมา มีเหตุผล และสร้างสรรค์" และยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเติบโตที่สมดุลและเสถียรภาพทางการเงิน

ในภาพรวมแล้วจีนมอง “คุณป้า” ในทางบวกมากกว่ารัฐมนตรีคนอื่นๆ ที่ไบเดนส่งมาเจรจากับฝ่ายจีน

เมื่อจีนมีการทูตผสมผสานระหว่างความดุดันและนิ่มนวล (หมาป่ากับพิราบ) สหรัฐฯ ก็ใช้กลยุทธ์ “แรงสลับเบา” ได้เหมือนกัน

เพราะต่างฝ่ายรู้ว่าหากฟาดฟันกันไม่หยุด ก็เจ๊งทั้งคู่!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป