“เซฟโซน” ฝั่งเมียวดีอาจจะเป็น ก้าวเล็กๆ ของกระบวนการเจรจา?

ความเคลื่อนไหวตรงข้ามชายแดนไทยฝั่งพม่ามีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และความไม่แน่นอนนี้เองที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ

การตั้ง “คณะทำงานพิเศษ” ที่มีรัฐมนตรีต่างประเทศเป็นหัวหน้า และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นเลขาฯ นั้น อาจจะยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำหน้าที่เป็น War Room อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

เพราะฝ่าย KNU ได้ออกแถลงการณ์ประกาศจะทำงานร่วมกับฝ่ายไทย ทำให้เมียวดีเป็น “เขตปลอดภัย” หรือ Safe Zone นั้นจำเป็นจะต้องมีการประสานกับฝ่ายต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน เพื่อไม่ให้มีการสู้รบที่จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยในวันข้างหน้าอีก

หลังจากการสู้รบมาหลายเดือนในช่วงหลัง และฝ่ายต่อต้านอ้างว่าสามารถเข้าควบคุมเมียวดีได้เบ็ดเสร็จแล้วก็มีแถลงการณ์ออกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ที่น่าสนใจ โดยคณะกรรมการกลาง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU)

เป็นแถลงการณ์ว่าด้วยเสถียรภาพ สันติภาพ และความปลอดภัยของสาธารณะบริเวณชายแดนเมียวดีและชายแดนไทย-พม่า/เมียนมา

โดยระบุว่าสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง นำกองกำลังฝ่ายต่อต้าน รวมทั้งกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) องค์กรป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNDO) และกองกำลังประชาชน (PDF) ได้ยึดฐานบัญชาการยุทธวิธี Thingannyinaung ภายใต้กองบัญชาการตะวันออกเฉียงใต้ของกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567

ต่อมาในวันที่ 10 เมษายน 2567 กองกำลังฝ่ายต่อต้านก็ได้ยึดกองพันทหารราบที่ 275 ที่ประจำการอยู่ในเมืองเมียวดี         อย่างไรก็ตาม ทหารบางส่วนจากกองพันทหารราบที่ 275 ได้ล่าถอยไปยังสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ซึ่งได้สร้างที่กำบังและหลบภัยอยู่ใกล้สะพาน

แถลงการณ์บอกด้วยว่า นับตั้งแต่ยึดฐานได้ กองกำลังพันธมิตรกำลังปฏิบัติการทางทหารเพื่อสกัดกั้นและขัดขวางกองกำลังเสริมที่ส่งมาโดยสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) เพื่อไม่ให้สูญเสียเมืองเมียวดี มีภารกิจเพื่อที่จะให้เมียวดีปลอดภัย โดยแจ้งประชาชนให้อยู่อาศัยและเดินทางโดยปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย

 “เมื่อเมียวดีอยู่ในภาวะที่ปลอดภัยแล้ว KNU โดยการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นจะกำหนดการบริหาร ป้องกันธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ธุรกิจเถื่อน และการค้ามนุษย์ และจะดำเนินการด้านความมั่นคง การบังคับใช้กฎหมาย บริการสาธารณะที่จำเป็น และขนส่งสินค้าในพื้นที่เมียวดีจากตำแหน่งที่เป็นไปได้ แม้จะมีความท้าทายก็ตาม” แถลงการณ์ระบุ

แถลงการณ์ระบุว่า KNU มีจุดยืนดังต่อไปนี้

1.KNU มีความกังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายแดนไทย-พม่าทั้ง 2 ฝั่ง ความมั่นคงของชายแดน และการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และเราจะพยายามอย่างเต็มที่

2.KNU มุ่งมั่นที่จะรักษาและฟื้นฟูความปลอดภัยและเสถียรภาพข้ามพรมแดน เรากำลังเตรียมการที่จำเป็นเพื่อความต่อเนื่องของกิจกรรมข้ามพรมแดนตามกฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของภูมิภาค

3.เพื่อฟื้นฟูสันติภาพและความมั่นคงของประชาชนที่อาศัยอยู่ทั้ง 2 ฝั่งชายแดนไทย-พม่า/เมียนมา KNU กำลังทำงานเพื่อให้บรรลุความร่วมมือที่มีความหมายกับรัฐบาลไทย องค์กรพันธมิตรระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ รวมถึงชาวกะเหรี่ยงที่มีชายแดน องค์กรและเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

4.เราเคารพและให้เกียรติสหายของเราทุกคนที่สละชีวิต เลือด และหยาดเหงื่อเพื่อกำจัดเผด็จการทุกรูปแบบ รวมถึงเผด็จการทหาร และสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยที่นำโดยพลเรือน ซึ่งเคารพความหลากหลายและรวมทุกคน (inclusion) โดย KNU จะยังคงต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกับองค์กรชาติพันธุ์และพันธมิตรประชาธิปไตย และขอเรียกร้องให้ประชาชนชาวกอทูเล (รัฐกะเหรี่ยง) และพม่า/เมียนมา มีส่วนร่วมและต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้ง

อีกด้านหนึ่งที่อยู่ใกล้กับชายแดนไทยเช่นกันคือ ด้านรัฐคะเรนนี ซึ่งก็มีความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทย

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 สื่อออนไลน์พม่า Khit Thit Media รายงานข่าวว่า กองกำลังฝ่ายต่อต้านสภาบริหารรัฐพม่า (SAC) สามารถยึดฐานทหารพม่าในรัฐคะเรนนี ประเทศพม่า ตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เข้ามาถึงผาซองได้ทั้งหมด และจับกุมทหารพม่าได้ 58 นาย รวมทั้งผู้บังคับกองพัน

สื่อออนไลน์พม่าอ้างอิงคำสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่กลุ่มดาวแดง KNPLF (Karenni Nationalities People’s Liberation Front) หรือกาลาลาตา ว่าทหารพม่า 58 นาย รวมทั้งผู้บังคับกองพันถูกโจมตีขณะที่ขบวนรถกำลังจะมาถึงเมืองผาซอง

โดยเมื่อวัน 11 เมษายน เวลาประมาณ 04.00 น. กองทหารราบของกองทัพพม่า SAC ซึ่งมีกำลังมากกว่า 100 นาย กำลังเดินทัพจากเมืองโบลาเคไปยังเมืองผาซองเพื่อเสริมกำลัง ถูกโจมตีโดยกองทัพปฏิวัติคะเรนนี

 “เป็นการต่อสู้ตลอดทั้งวัน ทหารพม่าถูกจับทั้งกองแล้ว ทั้งผู้บังคับกองพัน และนาวาตรี รวม 58 นาย มีเชลยศึกได้รับบาดเจ็บบ้าง” เจ้าหน้าที่กองกำลัง KNPLF กล่าว

การโจมตีดังกล่าวร่วมโดยแนวร่วมปลดปล่อยประชาชนกะเรนนี -KNPLF กองกำลังดาวขาว KNSO กองทัพคะเรนนี (Karenni Army-KA) กองกำลังป้องกันคะเรนนี (KNDF) และกองทัพประชาชน (PDF) โดยกองพันพม่าที่ 134 และ 135 ของ SAC ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองผาซอง ถูกกองทัพปฏิวัติคะเรนนีสกัดกั้นและโจมตีเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน

หากกลุ่มต่อต้านต่างๆ สามารถพูดคุยกันได้เพื่อหาทางสร้างสูตรสันติภาพได้ ไทยก็อาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่จะประสานให้เริ่มกระบวนการเจรจาสันติภาพได้

แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤตพม่าเป็นเรื่องซับซ้อนเกินกว่าที่จะสรุปง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างกองทัพพม่ากับฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดย อองซาน ซูจี เท่านั้น

ความขัดแย้งที่กลายเป็นสงครามกลางเมืองวันนี้ยืดเยื้อมากว่า 70 ปีแล้ว ประเด็นหลักคือการที่กลุ่มชาติพันธุ์กว่า 10 กลุ่ม ต้องการระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐที่ตนมีสิทธิ์ในการปกครองตนเองในระดับสูง

ดังนั้นหากไทยจะเสนอตัวเป็น “ตัวกลาง” ในการแสวงหาสันติภาพก็ต้องเข้าใจความลุ่มลึกและซับซ้อนของปัญหา

อีกทั้งต้องระดมผู้มีส่วนได้เสียในประเทศ และ “ตัวละครสำคัญ” อื่นๆ เช่น อาเซียน, จีน, อินเดีย, สปป.ลาว (ประธานอาเซียนหมุนเวียนปีนี้) และแม้แต่สหรัฐและสหภาพยุโรปเพื่อให้การแก้ไขปัญหาครั้งนี้ “ครอบคลุมและยั่งยืน” จริงๆ

การเริ่มต้นเล็กๆ ที่จะมี “เขตปลอดภัย” ตรงข้ามฝั่งไทยเพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ชาวพม่าอย่างเปิดเผยและโปร่งใสอาจจะเป็นก้าวเล็กๆ เพื่อการสร้างความไว้วางใจต่อกันและกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป