รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู

"...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว  ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ

เรื่องการที่จะมาเอาผลประโยชน์ทางการเมืองไม่มี คนในครอบครัวมีความสุข มีหน้าที่การงานที่เหมาะสมแล้ว..."

คุ้นๆ ว่าหลายปีก่อนเคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งพูดคล้ายๆ กันนี่แหละครับ

รวยแล้วไม่โกง!

"ผมเข้ามาเล่นการเมืองเพราะอยากทำประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง ผมรวยแล้วผมไม่โกง"

นั่นคือคำพูดของ "นักโทษชายทักษิณ" เมื่อครั้ง ถูกตั้งข้อหา แก้สัมปทานมือถือ เอื้อชินคอร์ป

ครั้งนั้นอื้ออึงไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน และทุจริตเชิงนโยบาย

และคดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก "นักโทษชายทักษิณ" ๕ ปี ก็เป็น ๑ ใน ๓ คดี ที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ ๑ ปี

พอมาได้ยิน "เศรษฐีเศรษฐา" พูดว่าทรัพย์สินมีมากพอแล้ว ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนแน่นอน มันก็อดแย้งในใจไม่ได้ว่า...

จริงหรือ???

วันนี้ นายกฯ เศรษฐายังไม่มีคดีโกงติดตัวครับ เพราะยังไม่ได้ก่อคดี

อนาคตไม่มีใครรู้ได้ อยู่ที่ตัวนายกฯ เศรษฐาเอง

แต่รวยแล้วไม่โกง ไม่จริง เพราะ "นักโทษชายทักษิณ" พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า รวยแค่ไหนก็โกง

ย้อนกลับไปดูคดีซุกหุ้น ภาค ๑ ปี ๒๕๔๔ มีคำวินิจฉัยที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ดีที่สุด นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญกำเนิดมา และยังมีคำวินิจฉัยที่บิดเบี้ยวที่สุดในเวลาเดียวกัน

ขณะนั้น "ทักษิณ ชินวัตร" เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หมาดๆ แต่การแสดงบัญชีทรัพย์สินมีพิรุธมากมาย ทรัพย์สินจำนวนหนึ่งถูกนำไปซุกไว้กับคนขับรถ และคนรับใช้ในบ้าน

เป็นไปตามมาตรฐานของ "นักโทษชายทักษิณ" 

คือ "ซุก"

คำพิพากษาที่ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักของกฎหมายเลยแม้แต่น้อยคือ คำวินิจฉัยของ "จุมพล ณ สงขลา" ตุลาการเสียงข้างมากที่วินิจฉัยว่า "ทักษิณ" ไม่ผิด

ซึ่งเจ้าตัวอธิบายเพิ่มเติมในภายหลังว่า

"...สาเหตุที่ผมตัดสินแบบนี้ ก็เพราะผมเห็นว่าประชาชนเขาพร้อมใจกันเทคะแนนเสียงให้ไทยรักไทย ๑๑ ล้านเสียง นี่คือเสียงสวรรค์ที่ประชาชนพร้อมใจกันเลือกทักษิณให้เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ๑๐ กว่าคน จะมาไล่เขาลงจากตำแหน่งได้อย่างไร วันนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าทักษิณผิด ป่านนี้คุณรู้ไหมอะไรจะเกิดขึ้น ขนาดกล้านรงค์ยังต้องหลบออกประตูหลังศาลรัฐธรรมนูญ..."

เป็นจุดเปลี่ยนให้ระบอบทักษิณเติบใหญ่!

และวันนี้     "จุมพล ณ สงขลา" คงได้รับรู้แล้วว่า โกงแม้กระทั่งคุก!

สำหรับคำวินิจฉัยที่เป็นตัวอย่างสำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรุ่นหลังคือ คำวินิจฉัยของ "ประเสริฐ นาสกุล" อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ล่วงลับ

ท่านเป็นเสียงข้างน้อยในคดีซุกหุ้นของทักษิณ

"...เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ปฏิรูปการเมือง ย่อมไร้ผล หากนักธุรกิจที่อาสาเข้ามาทำงานทางการเมืองอ้างว่า ในการประกอบธุรกิจของตน ใช้คนใกล้ชิดเจ็ดคนจดทะเบียนเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งอาจเป็นเหตุผลทางธุรกิจที่ว่าจะต้องรีบ เพราะธุรกิจรอไม่ได้ หรือใช้ชื่อคนใกล้ชิดถือหุ้นแทน จากนั้นให้โอนลอยหุ้นไป เพราะการโอนลอยหุ้นเป็นเรื่องปกติที่ทำกันในญี่ปุ่น จีน และไทย ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามไม่ผิดจริยธรรม นักธุรกิจขนาดกลางหรือใหญ่ไม่มีใครเลยที่จะไม่เคยทำเช่นนี้มาก่อน โดยผู้ถูกร้องอ้างว่า 'คนอื่นก็ทำกันทั้งนั้น' 

หัวใจของการเมืองคือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้นนักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่าการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบัน มีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังใช้วิธีการแบบเดิมๆ อีกย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้นผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) จะต้องผิดหวังในที่สุด...”

"...การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผลของอดีต ยังคงคิดและทำเหมือนเดิม เหมือนนักธุรกิจคนอื่นๆ ในระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่ยังคงเข้าใจผิดคิดว่า แนวความคิดที่จะบริหารประเทศของผู้ถูกร้องเป็นการคิดใหม่และทำใหม่ ไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ ซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วย เงิน อย่างเดียว

ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่า ผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินทองมากมาย  ไม่ทุจริต ผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมือง โดยโอนการจัดการธุรกิจ ให้แก่คู่สมรส  บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้องรู้ปัญหาของบ้านเมืองดี จึงอาสาเข้ามาแก้ไข แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้อง ภายในระยะเวลาอันสั้นนั้น กระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร

ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการคิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข ด้วยการลด ละ และเลิก ความเห็นแก่ตัว เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มากและรวดเร็วเท่าใด จะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติสู่ความเป็นปกติรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น

หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่า หมดหวัง  เพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้..."

ว่างๆ นายกฯ เศรษฐาต้องไปนั่งอ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็ม จะได้ความรู้เรื่องการเป็นผู้นำที่มีความสุจริตเป็นที่ตั้งอย่างถ่องแท้

เพราะคำวินิจฉัยของ "ประเสริฐ นาสกุล" เจาะลึกลงไปใน ดีเอ็นเอ ของ "นักโทษชายทักษิณ" ได้อย่างชัดแจ้งที่สุด

และสิ่งที่คนรุ่นหลังต้องรับรู้ คดีซุกหุ้นภาค ๑ และคำวินิจฉัยเกิดในยุครัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ไม่มีรัฐบาลรัฐประหาร กองทัพ หรืออำนาจนอกระบบใดๆ ครอบงำอย่างที่ชอบอ้างกันเพื่อสร้างความชอบธรรมให้คนโกง ทั้งสิ้น

ทั้งหมดเป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยโหยหา

หลังจากนั้นเราได้รัฐบาลเผด็จการรัฐสภาอย่างสมบูรณ์แบบ

มีระบอบทักษิณเป็นศูนย์กลาง

และนี่คือบทพิสูจน์

รวยแล้วไม่โกงไม่มี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งปรับยิ่งชินวัตร

ยังเป็นที่คาใจกันอยู่ การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ของ "ปานปรีย์ พหิทธานุกร" เพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น เกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่

'ครม.ทักษิณาฐา'

ส่องกันอยู่ร่วมเดือน รัฐมนตรี ว่าที่รัฐมนตรี ลุ้นกันชนิดกินข้าวไม่ได้นอนไม่หลับกันหลายวัน เพราะคนที่อยู่ไม่รู้ว่าจะหลุดหรือไม่ ส่วนคนมาใหม่ไม่รู้จะได้เสียบหรือเปล่า

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท