จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้

เพราะทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกับพม่าเหมือนไทย และได้รับความเดือดร้อนจากสงครามเช่นกัน

แต่สองชาตินี้ไม่ค่อยจะยอมประสานกันเพื่อเป้าหมายร่วมกันเท่าใดนัก เพราะยังมีความบาดหมางลึกๆ ในหลาย ๆ ด้าน

จนมีนักวิเคราะห์เรียกมันว่า “สันติภาพร้อน”

มีความหมายตรงกันข้ามกับ “สงครามเย็น”

ที่เรียกว่า “สันติภาพร้อน” เพราะไม่มีการรบพุ่งกันระดับรุนแรง แต่ก็มีการปะทะกันประปรายตรงพรมแดนมาตลอด

จะเรียกว่าเป็นความสงบก็ไม่ได้ แต่จะกล่าวขานว่าเป็นสงครามก็ไม่เชิง เพราะมันมีความระอุอยู่ในที

ทั้งสองประเทศมีเรื่องต้องแลกหมัดกันอย่างน้อย 3 ครั้งจากจีนเหนือลาดักห์ สิกขิม และแบบอ้อมๆ ที่อรุณาจัลประเทศ ตั้งแต่ปี 2020

ทหารจากทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตในการสู้รบ

จีนสร้างเครือข่ายบังเกอร์ อุโมงค์ และหมู่บ้านที่มีป้อมปราการ

อินเดียระดมทหาร 100,000 นายใกล้แนวหน้าของชายแดน

บางทีเรื่องเล็กๆ ก็ทำให้เกิดความระหองระแหงกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

การเยือนอรุณาจัลประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี (ซึ่งเป็นภูมิภาคที่อินเดียอ้างเป็นของตนตั้งแต่อังกฤษก่อตั้งแนวแมกมาฮอนในปี 1914) ก็เพียงพอที่จะสร้างความเดือดดาลให้แก่รัฐบาลจีน

ปักกิ่งเตือนอินเดียเสมอว่านั่นเป็นดินแดนของจีน ด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลชุดต่อๆ ไปในกรุงปักกิ่งไม่เคยยอมรับการกำหนดเขตแดน

โพลความคิดเห็นของคนอินเดียย้ำว่าชอบญี่ปุ่นมากกว่าจีน

และนิวเดลีก็ขยับเข้าใกล้ตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยการหันหน้าไปจับมือกับสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ เช่น อิสราเอล

กระนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียก็ไม่เคยพังทลายลงอย่างสิ้นเชิงเหมือนกัน

เหมือนต่างฝ่ายต่างพยายามประคองสถานการณ์ไว้ไม่ให้ถึงขั้นแตกหัก

แต่ก็เห็นชัดว่าอินเดียทำอะไรหลายอย่างที่จะลดความเสี่ยงของจีนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสังคม

เช่น ห้ามจีนสร้างท่าเรือและทางรถไฟ

แบนแอปของจีน สกัดไม่ให้บริษัทโทรคมนาคมของจีนจัดซื้อจัดจ้างในอินเดีย และปฏิเสธแผนการลงทุนรถยนต์ขนาดใหญ่ของ BYD และ Great Wall Motors

แม้ว่าก็ยังรักษาระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนโดยรวมไว้อยู่

การค้าระหว่างสองประเทศทะลุ 136 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2022 โดยอินเดียเป็นฝ่ายขาดดุลมหาศาล

มิหนำซ้ำยังขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 100 พันล้านดอลลาร์ในเวลาต่อมา

การส่งออกของอินเดียไปจีนไม่กระเตื้องมากนัก ขณะที่ยอดขายของจีนมาอินเดียยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และแน่นอนว่า BYD ยินดีที่จะขายรถยนต์ที่ไม่สามารถผลิตได้ในท้องถิ่นในตลาดอินเดีย

Global Times ซึ่งเป็นกระบอกเสียงทางการจีนประกาศว่า อินเดียเป็น "สุสานสำหรับการลงทุน" และเผยแพร่ถึงความซับซ้อนในการทำธุรกิจที่นั่นให้ได้รับรู้ว่าไม่ใช่ความผิดของฝ่ายจีน

นักวิเคราะห์ที่ไม่ใช่คนจีนบางคนแย้งว่า พฤติกรรมการสู้รบของจีนในสมรภูมิชายแดนสามแห่ง ได้ผลักดันให้อินเดียยอมรับการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ต่อไป

และการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งมากกับฝรั่งเศส

ซึ่งสะท้อนจากเงื่อนไขในการจัดซื้ออาวุธที่น้อยลง

จีนจับตาดูกลุ่มก้อนที่ตะวันตกขยับมาก่อตั้งพันธมิตรด้านความมั่นคงในเอเชียด้วยความระแวง

ไม่ว่าจะเป็น Quad, AUKUS, งบประมาณทางทหารของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น หรือการออกแบบของชาวยุโรปในอินโด-แปซิฟิก ที่มองจีนอยู่อีกข้างหนึ่งของสมการแห่งอำนาจ

 จีนตอบสนองด้วยการสร้างแสนยานุภาพทางทหารอย่างคึกคัก

เช่น เพิ่มงบประมาณกลาโหมใหม่ที่ 7.2 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งมีความสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจที่มีอัตราโตที่เฉลี่ยตรง 5 เปอร์เซ็นต์

ปีนี้เป็นปีแห่งการจัดซื้อจัดจ้างทางทหารของจีน ที่รวมถึงเรือรบประมาณ 450 ลำ

โดยขยายแวดวงการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารทั่วมหาสมุทรอินเดีย และฐานทัพใหญ่ในจิบูตี

จีนกำลังมีความโดดเด่นทางยุทธศาสตร์เหนือทุกฝ่าย ยกเว้นกองทัพเรือสหรัฐฯ

และแม้ในกรณีนี้ จีนก็ตั้งความคาดหวังว่าจะเทียบเคียงให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งหมดข้างต้นเป็นตัวกำหนดการตอบสนองทางการทูตและท่าทางของอินเดียต่อความท้าทายจากจีน

แนวทางของอินเดียคือ การพยายามจะสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลกด้วยการสามารถคบหากับทุกฝ่ายได้...แม้จะไม่ใช่ด้วยระยะห่างที่เท่ากัน

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย Subrahmanyam Jaishankar ได้นำเสนอนโยบาย “คบทุกฝ่าย” ของอินเดียไว้อย่างน่าฟัง

สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางการผสมผสานข้อดีของการสนับสนุนจากตะวันตก แต่ก็เปิดกว้างสำหรับพันธมิตรอื่นๆ  รวมถึงรัสเซีย

และอาจมีความเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูความใกล้ชิดกับกับจีน หากมีโอกาสเปิดการเจรจาอย่างเปิดกว้าง

นโยบาย “แนวร่วมหลายแนว” ที่ว่านี้ ยังรักษาโอกาสสำหรับอินเดียที่จะใช้อิทธิพลเหนือสิ่งที่เรียกว่า “โลกใต้"  หรือ Global South อันหมายถึงประเทศที่กำลังพัฒนาและเศรษฐกิจใหม่ทั้งหลาย

สหรัฐฯ กระโดดเข้าข้างอินเดียในการเผชิญหน้ากับจีนอย่างชัดเจน เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกว่ายอมรับ "อรุณาจัลประเทศ" เป็นดินแดนของอินเดีย          

และในเวลาเดียวกัน ก็ต่อต้านในกรณีรัฐอรุณาจัลประเทศที่มีความเคลื่อนไหวฝ่ายเดียว หรือการบุกรุกที่อยู่นอกเหนือแนวควบคุมจริง (LAC)

สถานการณ์ในการเผชิญหน้ากับจีนของอินเดีย ทำให้มีจุดยืนที่ขยับเข้าใกล้สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก

ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น การกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน หรือความเสี่ยงของการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ เห็นได้ชัดว่าทำให้ยุโรปและอินเดียใกล้ชิดกันมากขึ้น

ย้อนกลับมาประเด็นวิกฤตเมียนมา ทั้งจีนและอินเดียก็มีความกังวลกับประเด็นนี้

แต่เมื่อสองยักษ์ใหญ่มีเรื่องบาดหมางประเด็นอื่นๆ ระหว่างกันอยู่ จึงไม่สามารถจะยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้ามามีอิทธิพลเหนือเมียนมาได้ทั้งหมด

แต่ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการสร้างสมบารมี ต่อทั้งรัฐบาลทหารและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประชิดติดชายแดนของตนนั้น

ความพยายามของไทยที่จะเชื่อมต่อกับจีนและอินเดียกรณีพม่าจึงเป็นความท้าทายอันหนักหน่วงยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น