เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

การสู้รบในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นพรรคพวกของอิหร่านครั้งล่าสุดถึงวันนี้นานกว่า 6 เดือนแล้ว

ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตไปแล้วกว่า 33,000 คน

วันที่ 13 เมษายน คือวันที่อิหร่านเปิดศึกถล่มดินแดนของอิสราเอลเป็นครั้งแรก

หลังจากที่เมื่อวันที่ 1 เมษายน อิสราเอลทิ้งระเบิดใส่สถานกงสุลอิหร่านที่กรุงดามัสกัส, ประเทศซีเรีย, สังหารเจ้าหน้าที่ไป 13 คน

ในจำนวนนี้คือนายพลคนสำคัญของอิหร่านอย่างน้อย 2 คน

ทำให้อิสราเอลตอบโต้ในวันที่ 19 เมษายน ต่อเป้าหมายในอิหร่าน

แม้ว่าการตอบโต้จากฝั่งอิสราเอลไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ แต่ก็ถือได้ว่าทั้ง 2 ประเทศได้ “เปิดหน้าชก” กันแล้ว โดยไม่ต้องอาศัย “ตัวแทน” มาทำหน้าที่ช่วยฟาดฟันอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด

อาจเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ หากจะบอกว่าครั้งหนึ่งในอดีต อิหร่านและอิสราเอลเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันด้วยซ้ำ

อิหร่านยอมรับการสถาปนาประเทศอิสราเอลในปี 1948

ความสัมพันธ์ช่วงที่ยังหวานชื่นกันนั้นตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความตึงเครียดทุกวันนี้

อิหร่านเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่

เป็นอันดับ 2 รองจากตุรกีที่ยอมรับอิสราเอลหลังจากการก่อตั้งในปี 1948 ท่ามกลางการต่อต้านอย่างรุนแรงจากประเทศอาหรับอื่นๆ ที่ทำสงครามโดยตรงกับอิสราเอล

ตอนนั้นอิหร่านไม่ได้ร่วมสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก

และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล หลังจากที่สงครามได้รับชัยชนะ

ขณะนั้นอิหร่านเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ความสัมพันธ์ฉันมิตรเกิดขึ้นภายใต้พระเจ้าชาห์ โมฮัมเหม็ด เรซา ปาห์ลาวี และนายกรัฐมนตรีคนแรกของอิสราเอล เดวิด เบน-กูเรียน

ผู้นำอิสราเอลที่เพิ่งเกิดพยายามสร้างพันธมิตรกับตุรกีและอิหร่านเพื่อต่อต้านความเป็นปรปักษ์จากรัฐอาหรับที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับปาเลสไตน์ที่ต่อต้านการ “รุกราน” ของยิวต่อดินแดนของพวกเขา

ตอนนั้นอิหร่านขายน้ำมันให้อิสราเอล ซึ่งเผชิญมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจโดยรัฐอาหรับ

อิสราเอลตอบสนองท่าทีอันเป็นมิตรของอิหร่านด้วยการให้หน่วยข่าวกรอง “มอสสาด” ฝึกอบรมตำรวจลับ “ซาวัค” ผู้น่าเกรงขามของพระเจ้าชาห์

ต้องสังเกตด้วยว่าขณะนั้นทั้งกษัตริย์ชาห์และอิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน

อิสราเอลก่อตั้งสถานทูตในกรุงเตหะราน และแลกเปลี่ยนเอกอัครราชทูตในช่วงทศวรรษ 1970

จากนั้นความสัมพันธ์ทางการค้าก็เจริญรุ่งเรือง เคียงข้างกับความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงระหว่างทั้ง 2

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ หลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านปี 1979

นั่นคือเหตุการณ์ที่พระเจ้าชาห์ถูกโค่นล้ม และฝ่ายปฏิวัติสถาปนารัฐทางศาสนา

อยาตุลลอฮ์ รูฮอลลอฮ์ โคมัยนี นำเสนอมุมมองใหม่ที่สนับสนุนศาสนาอิสลาม และมองว่าอิสราเอลเป็นผู้ครอบครองดินแดนปาเลสไตน์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

โคไมนีเรียกอิสราเอลว่า "ซาตานตัวน้อย" และตราหน้าสหรัฐเป็น "ซาตานผู้ยิ่งใหญ่"

อิสราเอลประกาศไม่ยอมรับรองสาธารณรัฐอิสลามใหม่

เป็นผลให้อิหร่านตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดกับอิสราเอล

จากนั้นก็ประกาศปิดกั้นการเดินทางและเส้นทางการบินไปยังประเทศยิว

ซ้ำเติมด้วยการเปลี่ยนสถานทูตอิสราเอลเป็นสถานทูตปาเลสไตน์

อิหร่านยังพยายามที่จะขยายอิทธิพลของตนในตะวันออกกลาง โดยขัดแย้งกับซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ

นั่นคือจุดเริ่มต้นของสงครามตัวแทน

แม้ว่าการเชื่อมโยงทางการค้าอย่างไม่เป็นทางการระหว่างอิหร่านและอิสราเอลยังมีอยู่ในช่วงที่ความสัมพันธ์เริ่มตึงเครียด แต่อาการความเสื่อมถอยของทั้ง 2 ก็ชัดขึ้นทุกที

ท้ายที่สุด “สงครามเงา” ก็อุบัติขึ้นระหว่างทั้ง 2

อิหร่านได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธตัวแทนและกลุ่มต่างๆ ในประเทศใกล้เคียงเช่น ซีเรีย อิรัก เลบานอน และเยเมน

โดยมีการส่งเงินสนับสนุนและการฝึกอาวุธให้อย่างต่อเนื่อง

ญิฮาดอิสลามกลายเป็นหนึ่งในองค์กรปาเลสไตน์กลุ่มแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน และจับอาวุธลุกขึ้นต่อต้านอิสราเอลอย่างเปิดเผย

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้ง 2 ประเภทก็จ้องจะประหัตประหารกันในทุกรูปแบบทั่วตะวันออกกลางผ่านสิ่งที่เรียกว่า “สงครามตัวแทนลับ”

มีการกล่าวหาว่าอิสราเอลลอบสังหารนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวอิหร่าน และพยายามบ่อนทำลายที่ตั้งของสถานีปรมาณูในสาธารณรัฐอิสลาม

มีการกล่าวหาเช่นกันว่า อิสราเอลทิ้งระเบิดสนามบินในซีเรีย เพื่อขัดขวางการขนส่งอาวุธของอิหร่าน

ในทางกลับกัน อิหร่านถูกสงสัยว่าก่อเหตุวางระเบิดและโจมตีด้วยปืนโดยมุ่งเป้าไปที่ชาวยิวตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ในปี 2010 เชื่อกันว่าสหรัฐและอิสราเอลได้พัฒนาไวรัสคอมพิวเตอร์ที่เป็นอันตรายที่เรียกว่า Stuxnet ซึ่งมีการกล่าวหาว่าได้สร้างความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน

อีกกรณีหนึ่งคือการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งแรกที่เปิดเผยต่อสาธารณะต่อเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่โยงกับอิหร่าน

โดยอ้างว่าที่มีผลทำลายเครื่องหมุนเหวี่ยงจำนวนมากในโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียม Natanz ของอิหร่าน

นับแต่ปี 1979 ผู้นำอิหร่านทุกคนเรียกร้องให้จัดการกับอิสราเอล และแสดงท่าทีต่อต้านการยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอลเพื่อเป็นการตอบโต้ อิสราเอลยังได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อยับยั้งการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นจากอิหร่านอีกด้วย

ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู เรียกโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็น “ความผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์”

จากนี้ไปความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศนี้จะเป็นดัชนีชี้อนาคตของโลกเคียงคู่กับสงครามยูเครน

ซึ่งมีผลแบ่งโลกเป็น 2 ขั้วมหาอำนาจ...จีนกับรัสเซียยืนอยู่คนละข้างกับโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ ทั้งในสงครามตะวันออกกลางและยุโรป

ซึ่งอาจจะบานปลายมาหลอกหลอนในเอเชีย...ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งว่าด้วยไต้หวัน, เกาหลีเหนือหรือทะเลจีนใต้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น