จะดีจะชั่ว...อยู่ที่ตัวคนเลือก

คนเรานั้น แม้จะเลือกเกิดไม่ได้ว่าเราจะเกิดที่ไหน เกิดเป็นลูกใคร จะได้เป็นลูกเศรษฐีหรือลูกคนจน แต่เมื่อเราเติบโตรู้ความ ได้รับการอบรมบ่มนิสัย ได้รับการศึกษา ได้พบเจอข้อความในสื่อต่างๆ มีประสบการณ์กับชีวิตและการทำงาน เราก็จะมีความรู้ มีทักษะ มีการพัฒนาบุคลิก ตลอดจนพัฒนารสนิยมในการเลือกว่าเราจะชอบอะไร ไม่ชอบอะไร บางคนก็มีปัญญาดีพอที่จะมีวิจารณญาณในการเลือก บางคนก็ไม่ได้รับการอบรมที่ดีพอ เวลาเรียนก็ไม่ตั้งใจ ได้ข้อมูลอะไรมา ก็นำมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะไม่เป็น เป็นคนที่ตรรกะไม่ดีพอ ทำให้มีรสนิยมในการเลือกที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่มีใครจะไปว่าอะไรได้ เพราะทุกคนต่างก็มีสิทธิเสรีภาพของตนเองที่จะชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จะเลือกอะไร หรือไม่เลือกอะไร สำหรับคนที่มีวิจารณญาณดี รู้จักใช้ข้อมูลที่เป็นความจริงมาเป็นพื้นฐานของการตัดสินใจเลือก ด้วยการคิด วิเคราะห์ แยกแยะเป็น สิ่งที่เขาเลือกก็จะเป็นสิ่งที่ดีงาม ส่งผลดีแก่ตัวเขาเอง และส่งผลดีต่อสังคมที่เขาอยู่

ในทางการเมืองของประเทศไทยเรานั้น สถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ในตอนนี้เป็นผลมาจากการ “เลือก” โดยแท้จริง เป็นการเลือกหลายชั้นที่ส่งผลร้ายต่อประเทศ ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพอับจน เป็นสภาพที่ผู้คนจำนวนมากจำใจต้องยอมรับ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะไม่มีปัญญาที่จะไปแก้ไขสถานการณ์ได้ และหากใครสักคนจะบ่นว่าไม่ชอบสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้เลย ก็จะได้ยินคำพูดที่ว่า “จะทำอะไรได้ล่ะ ก็เลือกเขามาแล้วนี่” คำพูดนี้น่าจะหมายถึงการเลือก สส. ที่ทำให้ประเทศไทยเรามี สส. อย่างที่เป็นอยู่ จริงๆ แล้ว การ “เลือก สส.” นั้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการเลือกเท่านั้น มันยังมีการ “เลือก” อีกหลายขั้นตอนที่ส่งผลร้ายให้กับประเทศไทย ถึงแม้ว่าการ “เลือก สส.” ของประชาชนอาจจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพนี้ มาดูกันว่ามีการ “เลือก” อะไรบ้างที่ส่งผลเสียให้ประเทศไทย

เรื่องแรกเลยก็คือ “การเลือกคนมาลงสมัคร” ก่อนที่ประชาชนจะได้ลงคะแนนเสียงเลือก สส. ทางพรรคก็จะเลือกคนมาลงสมัครรับเลือกตั้ง กระบวนการในการเลือกของแต่ละพรรคอาจจะแตกต่างกันไป บางพรรคก็อาจจะเป็นอำนาจของคนคนเดียวหรือไม่กี่คนที่จะตัดสินใจว่าจะให้ใครได้ลงเลือกตั้ง บางพรรคก็อาจจะมีการลงคะแนนเสียงอย่างเป็นประชาธิปไตยภายในพรรค ไม่ว่าจะมาด้วยวิธีการใดเราก็จะพบว่าบางพรรคมีคนติดคุกติดตะรางมาลงเลือกตั้ง มีคนที่เลี่ยงภาษี มีคนที่ติดคดี บางคนอยู่ในช่วงการประกันตัว บางพรรคเมื่อรวมจำนวนคดีของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคทั้งหมด ปรากฏว่ามีคนที่ทำผิดกฎหมายเป็นร้อย บางคนมีคดีมากกว่า 10 คดี นอกจากจะมีการนำเสนอคนที่ทำผิดกฎหมายแล้ว ยังมีบางพรรคเสนอคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีผลงานที่ดีเป็นเชิงประจักษ์อะไรเลย แต่อาจจะเป็นคนที่รู้วิธีการหาแสง ทำให้เป็นคนดังที่อยู่ในกระแสข่าวทั้ง offline และ online และข่าวต่างๆ ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดี แต่พรรคก็ประเมินจากการเป็นคนมีแสงของพวกเขา จึง “เลือก” ที่จะนำเสนอให้ประชาชนเลือก

การเลือกที่สอง ก็คือการ “เลือก สส.” ของประชาชน มีคนจำนวนมากไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เป็นความจริงเชิงประจักษ์เป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ บางคนเลือกเพราะชอบตัวบุคคล ไม่ว่าคนคนนั้นจะดีจะชั่วอย่างไร ไม่สนใจ ในเมื่อชอบก็จะเลือก บางคนก็เลือกตามกระแส ใครที่เป็นข่าว มีเรื่องราวปรากฏในสื่อได้ทุกวัน หรือบางทีสื่อไร้จรรยาบรรณก็ช่วยอวยช่วยเชียร์ บางคนเลือกเพราะหลงใหลนโยบายประชานิยมที่พรรคนำเสนอ กลุ่มนี้น่าจะมีมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เวลาพรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายประชานิยม สัญญาว่าจะให้โน่นให้นี่ อันนั้นก็ฟรี อันนี้ก็ลด ตาลุกวาว ตัดสินใจเลือก ไม่ได้พิจารณาเลยว่านโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองเสนอนั้น มันเป็นการขายฝันหรือเป็นสิ่งที่เป็นจริงได้ หรือไม่เคยไตร่ตรองเลยว่าถ้าหากพรรคการเมืองที่หาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมได้เป็นใหญ่ และดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ประเทศชาติจะเสียหายอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือ เลือกด้วยความเห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว แต่ไม่เคยเห็นแก่ประเทศชาติ

การเลือกที่สาม คือ การเลือกบุคคลในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง ตั้งแต่ตำแหน่งรัฐมนตรี ถามจริงๆ เถอะ ใครรู้สึก Wow กับคณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1 บ้าง มีคนที่ “ใช่” กี่คน มีคนที่ “ไม่ใช่” กี่คน มีคน “สีเทา” กี่คน มีบางคนที่เราสงสัยว่า “เขาเก่งอะไรนักหนา” ถึงได้เป็นรัฐมนตรีในทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะมีพรรคการเมืองไหนเป็นแกนนำ บางคน “ผลงานไม่มี ความดีไม่ปรากฏ” แต่ทำไมได้เป็นรัฐมนตรี ประเทศไทยขาดแคลนคนเก่งคนดีกันขนาดนี้เชียวหรือ นี่ปรับเป็น ครม.เศรษฐา 1/1 ใครเห็นว่าดีขึ้น มีความหวังขึ้นบ้าง ใครร้อง Wow บ้าง หลายคนสงสัย “ใครเป็นคนเลือก” และยังตั้งคำถามต่อไปว่า “เหตุผลในการเลือกคืออะไร” คนที่ถูกออกเพราะอะไร ใครที่ได้เข้ามาใหม่เพราะอะไร และใครเป็นคนตัดสินใจเลือก พูดตรงๆ เรามองเห็นคนที่ไม่ใช่หลายคน บางคนไม่ใช่เพราะ “ไม่เก่ง” บางคนไม่ใช่เพราะ “ไม่ดี” แล้วแบบนี้บ้านเมืองเราจะเป็นอย่างไร ทำไมคนที่มีอำนาจในการเลือกจึงเลือกเช่นนี้

การเลือกที่สี่คือ “การเลือกของข้าราชการ” ในฐานะที่เป็นราชการ หลายคนรู้ว่าต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล แต่คำถามมีอยู่ว่า ถ้าหากรัฐบาลมีนโยบายที่ไม่ถูกต้อง ผิดหลักธรรมาภิบาล ข้าราชการควรจะเลือกอย่างไร หรือจะบอกว่าไม่มีทางเลือก ไม่เช่นนั้นอาจจะโดนการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐมนตรีกลั่นแกล้ง เราก็เลยได้เห็นข้าราชการบางคนเลือกที่จะเอาใจรัฐบาล บางคนทำตามสั่งโดยไม่พิจารณาอะไรทั้งสิ้นด้วยความกลัว บางคนให้ความร่วมมือเพราะต้องการ “ตำแหน่ง” หรือไม่ก็ต้องการ “เงิน” ที่นักการเมืองเลวๆ ประเคนให้ การเลือกแบบนี้ มันคือการเลือกที่ “โลภ” อยากได้เงิน อยากได้ตำแหน่ง อยากได้อำนาจ จึงยอมทำทุกอย่างตามที่นักการเมืองต้องการ บางคนไม่ได้แค่ทำตามคำสั่งเท่านั้น แต่เป็นคนชี้ช่องและอำนวยความสะดวกให้นักการเมืองสามารถฉ้อฉลได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วยการลอดช่องโหว่ของกฎหมาย

การเลือกทั้งปวงเหล่านี้แหละคือที่มาของสภาพ “อับจน” ของประเทศไทยในยามนี้ จะทำยังไงได้ล่ะ “ก็เลือกกันมาอย่างนี้” ในทุกขั้นตอนที่ว่าไงล่ะ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้องใจข้าว 10 ปีกินได้ สารตั้งต้นเอาคนหนีคุกกลับประเทศ?

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์ Facebook ว่า อาจารย์เคมีนำข้าว 10 ปีไปทำการพิสูจน์ตามหลักวิชาการ ได้ผลออกมาบอกว่าข้าว 10 ปี

รัฐมนตรี...ที่ไม่ใช่รัฐมนตรง

ในอดีตก่อนกาลนานมาแล้ว รัฐมนตรีของไทยเรา จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่ “ตรง” กับบทบาทและหน้าที่ สามารถกำกับนโยบายและบริหารงานกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี

จงรับกรรม-จงรับกรรม-จงรับกรรม!!!

อาจด้วยเหตุเพราะความเดือดพล่านของโลกทั้งโลก...ไม่ว่าในแง่อุณหภูมิอากาศ หรือในหมู่มวลมนุษย์ ที่ใกล้จะล้างผลาญกันในระดับสงครามโลก-สงครามนิวเคลียร์ ยิ่งเข้าไปทุกที

รับแผน 'ทหารพราน' กลับที่ตั้ง

ต้องร้องเพลงรอกันไปอีก 2-3 วัน กว่าจะได้รู้บทสรุปความขัดแย้งภายใน "กรมปทุมวัน" อันเป็นที่มาของคำสั่ง นายกฯ เศรษฐา ให้ บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล