ธนูซ่อน"ฆ่าอสูร"ในรธน.

วันนี้...รู้กัน!

เรื่อง"นายกฯเศรษฐา ทวีสิน-นายพิชิต ชื่นบาน"

"ศาลรัฐธรรมนูญ"จะรับคำร้อง"๔๐ สว."ไว้วินิจฉัยหรือไม่?

แต่เหตุการณ์"พลิกผัน"ไปเร็ว จนตามกันไม่ทัน

๒๓ พค.ศาลฯจะประชุมพิจารณา

แต่ ๒๑ พค."นายพิชิต ชื่นบาน"ชิงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีไปซะก่อน!

บ้างว่า นายพิชิต"ระเบิดพลีชีพ"หวังให้ศาล"จำหน่ายคดี"ลาออกแล้ว ก็ไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัย

ปกติ ก็เป็นเช่นนั้น"จำเลยตาย"ศาลก็จำหน่ายคดีทิ้ง!

แต่กรณีนี้ ไม่เป็นเช่นนั้น

เพราะ"ตัวหลัก"ที่ถูก ๔๐ สว.ยื่นคำร้องให้ศาลฯตีความ คือ"นายเศรษฐา"ผู้ถูกร้องที่ ๑

นายพิชิต แค่ตัวเสริมเหตุ เมื่อ"ชิงลาออก"จบส่วนของนายพิชิต ส่วนของนายเศรษฐา"ไม่จบ"

เว้นแต่นายเศรษฐา"เลียนแบบดารา"คือลาออกตามนายพิชิตไปด้วยเท่านั้น

เมื่อพี่ท่านยังดำรงตำแหน่งนายกฯเซลล์แมนชนิดไม่รู้จักเหน็ด-จักเหนื่อยอยู่แบบนี้

ก็ต้อง continus กันต่อไป!

วันนี้ น่าจะออกจากอิตาลีตะรอนต่อญี่ปุ่นแล้ว กลับ ๒๔-๒๕ พฤษภา.ขอให้ยังอยู่ในฐานะ"นายกฯรัฐบาลไทย"

ไม่ใช่"นายกฯพลัดถิ่น"!?

ก็เข้าประเด็นที่อยากรู้กัน ๒๓ พฤษภา.-วันนี้ จะรู้กันใช่มั้ย ว่าศาลฯจะรับคำร้อง ๔๐ สว.หรือไม่รับ?

ผมว่า น่าจะ"ยังไม่"หรอกครับ!

ผมจะไล่ตารางเวลาให้ดู ศาลฯประชุม ๒๓ พค.

แต่ ๒๑ พค.นายพิชิต"ชิงพลีชีพ"

พอดี ๒๒ พค.เป็นวัน"วิสาขบูชา"ราชการหยุด การลาออกของนายพิชิต จึงเป็นข่าวทางสาธารณะ

ทางเอกสารเป็น"ทางการ"น่าจะยังเดินไปไม่ถึงศาลฯ

ด้วยเหตุนี้ ผมว่า"ไม่ต้องลุ้น"หรอก

การลาออกนายพิชิต ทำให้คำร้องต้องรอเอกสารครบถ้วน อาจยังไม่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมก็เป็นได้

หรือ ถ้าบรรจุแล้ว....

ศาลฯอาจสั่งเลื่อนการพิจารณาคำร้องนี้ออกไปก่อนก็เป็นได้ เพื่อรอ"ข้อมูลครบถ้วน"เป็นทางการ

เพราะการลาออกเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งประกอบการพิจารณาวินิจฉัย

เคสนี้ เท่าที่สดับตรับฟัง อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางท่านบอกว่า เป็นเรื่องใหม่ ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน

มีความซับซ้อนทั้งทางกฎหมายหลายฉบับ ทั้งทางพฤติกรรมผู้ถูกร้อง ที่ต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณา

นับตั้งแต่ ต้องดูว่าคำร้องนี้ เข้า"ถูกช่อง-ถูกทาง"หรือไม่? เพราะพุ่งไปทางด้าน"ผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง"

ถ้าเป็นด้านจริยธรรม......

เป็นอำนาจ-หน้าที่ ปปช.จะไต่ส่วนแล้วส่งเรื่องให้"ศาลฎีกา"วินิจฉัย

ไม่ใช่สว.เป็นฝ่ายส่งเรื่องให้"ศาลรัฐธรรมนูญ"!

ชักสับสนละตอนนี้

แทนที่จะลุ้นกันว่า"ศาลรับ-ไม่รับ"คำร้อ' ถ้ารับ จะสั่งให้"หยุดปฎิบัติหน้าที่"หรือไม่?          

วันนี้กลับต้องลุ้นกันว่า คำร้องของ ๔๐ สว.นี้"ชอบตามรัฐธรรมนูญ"หรือไม่?

"เท่าที่ดู-ที่ฟัง เรื่องนี้....

"ร้อยละ ๘๐-๙๐ จะ"ฟังไม่ได้ศัพท์-จับไปประเดียด"แล้วพูดกันแบบ"ตาบอดคลำช้าง"มากกว่า

คือ ไม่รู้ชัดๆว่า คำร้อง ๔๐ สว.นั้น ขอให้ศาลฯวินิจฉัยในประเด็นอะไรบ้าง ตามรัฐธรรมนูญมาตราไหนบ้าง?

เพียงรู้แบบขยุ้มรวมว่า เพราะตั้งนายพิชิต"ทนายถุงขนม"เป็นรัฐมนตรี

ทั้งคนตั้ง-คนถูกตั้ง จึงถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญ!

งั้น...เอางี้ ผมจะ"เก็บความ"ตามประเด็นคำร้อง ๔๐สว.ที่เขาขอให้ศาลฯตีความให้รู้เป็นธงไว้ จะได้ไม่หลงทิศ

ผู้ถูกร้องที่ ๑"นายเศรษฐา"ทั้งๆที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ ๒"นายพิชิต"ขาดคุณสมบัติ

หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๑๖๐(๔)และ(๕)ที่บัญญัติว่า

(๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(๕) ไม่มีประพฤติกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ผู้ร้อง(๔๐ สว.)เห็นว่า........

นายเศรษฐาได้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ความเป็นนายกฯกระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อประโยชน์แก่ นายพิชิต ด้วยการแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีหรือไม่?

ด้วยการเลี่ยงและบิดเบือนข้อเท็จจริงในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชนทำให้เข้าใจผิดว่า

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบคุณสมบัตินายพิชิตเรียบร้อยแล้ว ว่าไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ซึ่งหมายความรวมถึงไม่ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๑๖๐(๔)(๕)

ตามความจริงแล้ว ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา ฉบับ ลงวันที่ ๑ กย.๖๖ ยังไม่ได้วินิจฉัยคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิต ตามมาตรา ๑๖๐(๔)(๕)

ประกอบกับนายเศรษฐา ได้เข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมี นายพิชิต ชื่นบาน เป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว ไม่น้อยกว่า ๓ ครั้ง

ก่อนการเสนอทูลเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี

จึงเชื่อได้ว่า นายเศรษฐาอาจมีเจตนาไม่สุจริตและบิดเบือนข้อเท็จจริง ในการให้ข้อมูลแก่สังคมและประชาชน

ประกอบกับการที่นายเศรษฐาได้เข้าพบนายทักษิณดังกล่าว โดยมีข้อสังเกต

การพบครั้งที่ ๓ วันที่ ๑๒ เมษา.๖๗ก่อนวันที่ ๒๗ เมษา.๖๗ จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้ นายเศรษฐา ต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทักษิณและนายพิชิตหรือไม่?

เพราะหลังจากนั้น นายเศรษฐา จึงเสนอทูลเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๗

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกาที่ ๔๕๙๙/๒๕๕๑

และต่อมา สภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อนายพิชิตออกจากทะเบียนทนายความ

แสดงว่านายพิชิตเป็นบุคคลที่มีการกระทำการอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตและฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง

จึงเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี

การกระทำของนายเศรษฐาที่เสนอทูลเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิต จึงเป็นการกระทำด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่

มีพฤติกรรมที่รู้เห็นและยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

เป็นการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เป็นการคบค้าสมาคม กับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

ทำให้นายเศรษฐาขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐(๔)โดยเหตุขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

และการกระทำของนายเศรษฐา มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ๑๖๐

ด้วยเหตุฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรี ดังนี้

ข้อ ๗ ต้องถือว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าผลประโยชน์ส่วนตน

ข้อ ๘ ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเอง หรือผู้อื่น

และมีพฤติการณ์ที่รู้หรือเห็น หรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ข้อ ๑๑ ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ข้อ ๑๗ ไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง

ข้อ ๑๙ ไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย  ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย

อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

ผู้ร้อง(๔๐ สว.)จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรค ๓ ประกอบมาตรา ๘๒

ว่าด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรค ๑(๔) (๕) หรือไม่?

และขอศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๒ วรรค ๒"

เห็นโจทย์ที่สว.ตั้งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ก็จะเข้าใจชัดทันที ว่า

ตัวหลักอยู่ที่เศรษฐา นายพิชิตแค่ตัวรอง

เมื่อนายพิชิตลาออก คำร้องส่วนนายพิชิตตกไป แต่ของนายเศรษฐา...ไม่ตก!

และที่ยกมาให้ดูทั้งหมดนี้ เป็นการกระทำนายเศรษฐาที่ ๔๐ สว.ขอให้ศาลฯวินิจฉัยตามมาตรานั้นๆ

ที่พูดกันว่า ความผิดทางมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงนั้น     รัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๔,๒๓๕ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ปปช.เสนอเรื่องต่อ"ศาลฎีกา"วินิจฉัย

ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสว.จะร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้เป็นอีกประเด็นที่อาจทำให้ศาลฯไม่รับคำร้อง

แต่เมื่อ ๔๐ สว.ขอให้ศาลฯวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๗๐ วรรค ๓ ประกอบมาตรา ๘๒

ต้องบอกว่า"แหลมคม"สมฐานะสว.ยิ่งนัก!

เพราะมาตรา ๑๗๐ วรรค ๓ บอกให้นำความในมาตรา ๘๒ มาใช้บังคับแก่การสิ้่นสุดความเป็นรัฐมนตรี ตาม(๒)(๔)หรือ(๕)หรือวรรคสองโดยอนุโลมฯ

มาตรา ๘๒ คือใบอนุญาตให้ สว.ไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็น

-สั่งให้ผู้ถูกร้อง หยุดปฎิบัติหน้าที่ได้

-วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงได้

ดอกนี้ เสียบหัวใจเศรษฐาทะลุหลังไปถึงอก"ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์"หลังเลย!

ที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็น"รัฐธรรมนูญปราบโกง"ก็ตรงนี้แหละ

ตรงมาตรา ๑๗๐ วรรค ๓ ประกอบ มาตรา ๘๒ คือ"ธนูพิฆาตอสูร"ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญซ่อนไว้ให้

๔๐ สว.ค้นพบ นำออกพาดสายน้าวศร ยิงเปรี้ยงออกไป ฤทธานุภาพครอบคลุมไปทั้งแผงวงจรมาตรา ๑๖๐(๔)(๕)และมาตรฐานทางจริยธรรมที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรี

ยิ่งประเด็น ที่เศรษฐา เคยส่งเรื่องให้กฤษฎีกาวินิจฉัยคุณสมบัตินายพิชิต ตามมาตรา ๑๖๐ มาก่อนแล้ว

มาตรา ๑๖๐ มีตั้ง ๘ อนุมาตรา....

แทนที่จะให้กฤษฏีกาวินิจฉัยให้ครบ กลับเจาะจงส่งให้เขาตีความเฉพาะ ๒ ข้อ

จนกฤษฎีกาต้องหมายเหตุเป็นการป้องกันตัวไว้ตอนท้ายหนังสือ ด้วยข้อความว่า

"การให้ความเห็นในกรณีนี้ เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ)ว่า

ประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา ๑๖๐(๖)ประกอบกับมาตรา ๙๘(๗)และมาตรา ๑๖๐(๗) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เท่านั้น"

นั่นว่าด้วยเรื่องเคยพ้นโทษคุกมาแล้ว ๑๐ ปี ซึ่งนายพิชิตติดคุกเลย ๑๐ ปีมาแล้วเท่านั้น

ฉะนั้น........

สรุป ในขั้นผมเอง ตามคำร้อง ๔๐ สว.ตรงที่ว่า

"...ทำให้นายเศรษฐาขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๐(๔)โดยเหตุ ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

และการกระทำของนายเศรษฐา มีลักษณะต้องห้ามความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ๑๖๐

ด้วยเหตุ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ที่ใช้บังคับกับคณะรัฐมนตรี"นั้น  มีน้ำหนัก

ก็ขอจงเป็นตามนั้น.....

ในอนาคตกาลที่กำลังตามมา เทอญ.!

-เปลว สีเงิน

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๗

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แผนเหนือเมฆ 'ทักษิณ'

เห็นตื่นวันที่ ๑๘ มิถุนา.กัน ก็อยากจะบอกว่า ยังบ่มีหยังดอก ทั้งคดียุบพรรค คดีจริยธรรมนายกฯ คดี มาตรา ๑๑๒ ทักษิณ

'๓ หนุ่ม ๓ มุม' จนมุม

ออกแนว "หนังยาว" ครับ! ทั้งเรื่้อง "ยุบพรรค" ก้าวไกล "ตัดสิทธิการเมืองนายพิธา"

'ยุบ-ไม่ยุบ' ก้าวไกล?

หลายคนเข้าใจว่า..... วันนี้ "๑๒ มิถุนา.๖๗" ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดี "ยุบพรรคก้าวไกล"