พรรคก้าวไกลเขารวบรวม ๙ ข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดี ที่พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลฯ จะอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ ๗ สิงหาคม
แบ่งเนื้อหาเป็น ๓ ส่วน : เขตอำนาจและกระบวนการ | ข้อเท็จจริง | สัดส่วนโทษ
ส่วนแรก “เขตอำนาจและกระบวนการ”
๑.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
๒.การยื่นคำร้องคดีนี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่สอง "ข้อเท็จจริง"
๑.คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
๒.นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคําร้อง มิได้เป็นการกระทําของพรรคก้าวไกล
๓.การกระทำตามที่ กกต.กล่าวหา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนที่สาม "สัดส่วนโทษ"
๑.ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล
๒.แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค
๓.การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ต้องพอสมควรแก่เหตุ ๔.การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
ทั้งหมดนี้คงจะกลั่นมาจากมันสมองอันสุดแสนฉลาดเฉียวของ "ปิยบุตร แสงกนกกุล"
แม้จะเป็น ๙ ข้อที่พูดกันมานานพอควรแล้ว แต่ถือว่าใหม่ในแนวทางการต่อสู้ของพรรคก้าวไกล
เพราะยังไม่มีอะไรใหม่ไปกว่านี้
ก็น่าประหลาดใจว่า พรรคก้าวไกลเอาความมั่นใจมาจากไหน คิดว่าข้อต่อสู้ทั้ง ๙ ข้อนี้จะไม่นำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกล
ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ คือคำพูดของ "ปิยบุตร" ตั้งแต่คดียุบพรรคอนาคตใหม่
แล้วพรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบ
การอ้างว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐ กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญไว้เพียง ๓ ข้อ และไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้ออกกฎหมายอื่นเพื่อเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญได้อีก เมื่อ “ไม่มีบ่อเกิดให้อำนาจหน้าที่เกินจากนั้น จึงไม่มีตรงไหนบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรค”
เป็นการอ่านรัฐธรรมนูญแบบศรีธนญชัยเกินไป
๓ ข้อในมาตรา ๒๑๐ ประกอบด้วย
๑) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
(๒) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
(๓) หน้าที่และอํานาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ก็ (๓) ไงครับ
การยุบพรรคการเมืองไม่ได้ดูที่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว ต้องไปเปิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย
ที่จริงจะตอบ พรรคก้าวไกล แบบศรีธนญชัย ก็ได้ หากยังเชื่อว่า หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แค่ ๓ ข้อ จะเอามาตรา ๕ วรรค ๒ ของรัฐธรรมนูญมาใช้ก็ได้
"...เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข..."
ก็ย้อนกลับไปดูสิครับศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองมากี่พรรคแล้ว ก็ถือเป็นประเพณีการปกครองหรือเปล่า
แต่...ข้อเท็จจริง ทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายพรรคการเมือง ต่างระบุถึงขั้นตอนการยุบพรรคการเมืองเอาไว้อย่างละเอียด
ไม่ว่าจะเป็นการกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
กระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ล้วนอยู่ในข่ายที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคได้ทั้งสิ้น
ที่น่าขำคือ การต่อสู้ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๗ หรือคดีล้มล้างการปกครอง ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล
หากไม่ผูกพัน ศาลรัฐธรรมนูญคงไม่สั่งให้นำคำไต่สวนคดีล้มล้างการปกครองไปไว้ในสำนวนคดียุบพรรคก้าวไกลหรอกครับ
จะยุบหรือไม่ยุบเป็นอีกเรื่อง แต่คดียุบพรรคเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีล้มล้างการปกครอง
ไม่ใช่เรื่องไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน
แต่ข้อเท็จจริง หากไม่มีคดีล้มล้างการปกครอง แล้วจะไปร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลได้อย่างไร
เป็นเจตนาของผู้ร้อง เพราะเมื่อร้องคดีล้มล้างการปกครอง มิได้ร้องให้ลงโทษด้วย จึงมาร้องเป็นอีกคดีตามในภายหลัง
ส่วนข้อที่เหลือ โดยเฉพาะ ส่วนที่สามสัดส่วนโทษ คงคิดเผื่อว่าพรรคก้าวไกลถูกยุบ แล้วจะไปตั้งขึ้นมาเป็นประเด็นทำไม ในเมื่อเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคก้าวไกล
ก็ยืนหยัดไปสิครับ ไม่มีประโยชน์จะมาพูดเรื่อง สัดส่วนโทษ
แทงม้าหลายตัวทำไม
กลัวใช่ไหม
รู้ตัวใช่ไหมว่า มีโอกาสถูกยุบพรรคสูง
แล้วเลิกเสียทีครับกับการให้ข้อมูลด้อมส้มแค่ครึ่งเดียว
อีกครึ่งต้องพูดให้หมด ว่าหากถูกยุบนั้น เป็นเพราะอะไร
แค่จะแก้ ม.๑๑๒ ก็ถูกยุบพรรค แบบนี้ใช้ไม่ได้ครับ
ต้องบอกกับมวลชนให้หมดว่าแก้อย่างไร ทำไมถึงถูกมองว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
หากมีความกล้าพอก็ควรบอกถึงจุดหมายปลายทางว่า คิดอย่างไรกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และต้องการให้เป็นเช่นไร
เลิกทำตัวเป็นอีแอบเสียที
เผื่อบางทีเด็กๆ ที่ติดคุกอยู่จะได้รับความเมตตา เพราะหลงเชื่อคำยุยงเท็จจากพรรคการเมือง
แต่คงจะยากครับ เพราะขนาดสมาชิกพรรคทำผิด ก้าวไกลยังบอกว่าไม่ใช่การกระทำของพรรค
ก็ไม่ทราบว่าเอา ม.๒๒ พ.ร.ป.พรรคการเมืองไปไว้ไหน
"...คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง มีหน้าที่ควบคุมและกํากับดูแลมิให้สมาชิกกระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคําสั่งของคณะกรรมการ..."
ชัดแบบนี้พรรคต้องรับผิดชอบหรือเปล่า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โอกาส 'ลุงป้อม' มาแล้ว
เริ่มจะเข้าที่ วานนี้ (๖ กันยายน) พรรคพลังประชารัฐประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ ๒/๒๕๖๗ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทนที่ก๊วนธรรมนัส ที่ลาออกไป
โดยสันดาน
ทำราวกับเป็นตัวละครลับ! วานนี้ (๕ กันยายน) มีความเคลื่อนไหวคึกคักที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย ตึกชิน ๓
ครม.ครอบครัวครอบครอง
สิ้นสุดการรอคอย... วานนี้ (๔ กันยายน) มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เรียบร้อยแล้ว
ร่อนตะแกรงการเมือง
รัฐบาลนี้มีความพิเศษครับ จัดตั้งรัฐบาลจะจบแล้ว แต่ไม่รู้แน่ชัดว่าใครเป็นรัฐบาล ใครเป็นฝ่ายค้าน
ก็เพราะ สว.พรรค์นี้
โผ ครม.นิ่งแล้ว นายกฯ อิ๊งค์ ว่างั้นครับ แต่ที่ไม่นิ่งคือ "ปาก" ของ สว.สายพันธุ์ใหม่ นอกจากปากไม่นิ่งแล้ว มือไม่พายเอาเท้าราน้ำต่างหาก
วิบากกรรม 'พ่อ-ลูก'
นั่นไง... ตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย หากรายชื่อที่เสนอตั้งเป็นรัฐมนตรี เต็มไปด้วยผู้มีมลทิน ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์