จากกรณีที่มีการออกมาแชร์ภาพกองขยะบริเวณรอบสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่อยู่ในความดูแลของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น จากการตรวจสอบของ บขส.และการรถไฟฯ พบว่า ปัญหาขยะสะสมเป็นจำนวนมากนั้น เบื้องต้นคาดว่ารถขนส่งสาธารณะได้เข้าไปจอดในบริเวณดังกล่าว เนื่องจาก เป็นช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง อาจจะมีผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะใช้เป็นพื้นที่สำหรับทิ้งขยะ ประกอบกับในช่วงนั้นมีผู้เข้าชมคณะหมอลำที่จัดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงทำให้เกิดการทิ้งขยะ และเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น
โดยเรื่องนี้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และได้สั่งการให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาขยะสะสมในพื้นที่บริเวณรอบสถานีขนส่งหมอชิต 2 มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงสถานที่ให้มีความสะอาดเรียบร้อย มีทัศนียภาพที่สวยงาม และพร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน
โดยได้กำชับให้ บขส.และการรถไฟฯ เข้มงวดในการเข้าพื้นที่ด้านหลังสถานีขนส่งหมอชิต 2 เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยการออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการรถร่วมบริการ บขส. ห้ามใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่จอดรถ ซึ่งหากฝ่าฝืน มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาบทลงโทษปรับ และสั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการฯ รวมถึงยกเลิกสัมปทานการเดินรถด้วย
ขณะที่ วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การรถไฟฯ เร่งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการจัดระเบียบ แก้ไขปัญหาขยะบริเวณรอบสถานีขนส่งหมอชิต 2 ตามนโยบายของ รมว. โดยเบื้องต้น การรถไฟฯ จัดการทำความสะอาดและเก็บขยะบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนนั้น การรถไฟฯ ดำเนินการตีเส้นขาวแดง พร้อมติดตั้งป้ายห้ามจอดรถ ป้ายห้ามทิ้งขยะตลอดเส้นทาง ตลอดจนประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด ให้มาช่วยจัดระเบียบ เพิ่มความเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด หากพบรถยนต์ลักลอบจอดในพื้นที่ห้ามจอด ให้ดำเนินการล็อกล้อทันที และมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนผู้ลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่ จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน2,000 บาท ทั้งนี้ หลังจากจัดระเบียบจราจรเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการปรับปรุงผิวจราจรให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
การรถไฟฯ ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพี่น้องประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้ส่งมอบถนนกำแพงเพชรช่วง 1-4 ให้กับกรุงเทพมหานครดูแลไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 สำหรับถนนกำแพงเพชร 5 จากสถานีสามเสนถึงด้านหลังอาคารกรมทางหลวง เตรียมส่งมอบพื้นที่เพื่อใช้สำหรับก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนถนนกำแพงเพชร 6 ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงรอบสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต 2) อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งมอบให้กับกรุงเทพมหานครเช่นกัน
ขณะที่ถนนกำแพงเพชร 7 ช่วงมักกะสันถึงสถานีหัวหมาก การรถไฟฯ ได้ยื่นเอกสารส่งมอบให้กรุงเทพมหานครไปแล้ว และอยู่ระหว่างประชุมหารือในคณะกรรมการรับมอบถนนกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย สำนักการโยธา สำนักการจราจร สำนักการระบายน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อตรวจรับมอบถนนจากการรถไฟฯ ให้กรุงเทพมหานครดูแลต่อไป.
กัลยา ยืนยง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเงินหวังคะแนน
เก็บตกการประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ตอนแรกก็รอลุ้นโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่ช่วงเช้า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า จะให้ที่ประชุมอนุมัติในวันนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นรอเก้อ เพราะ ครม.ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหาบางประการ
เทรนด์Pet Parentบูมไม่หยุด
คงต้องยอมรับว่า Pet Parent ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น
ปี 67 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหืดจับ!!
ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research
ชีววิทยาดันอุตสาหกรรม
ต้องยอมรับว่าภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันจะต้องเดินหน้าไปพร้อมกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพระสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเข้ามาสนับสนุนความต้องการของกลุ่มลูกค้าแล้ว
อสังหาฯปี68ฟื้นตัวแบบช้าๆ
หลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 หลายๆ ฝ่ายต่างก็คาดหวังว่าเศรษฐกิจจะขยับเติบโตขึ้น แต่ในทางตรงข้าม แม้ว่าจะมีการเติบโต แต่ก็เติบโตแบบเชื่องช้า แถมปัญหาที่สะสมก็เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น
ผ่าแผนรับมือรถติดสร้างสายสีส้ม
จากการที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม