ข้อพึงสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 (ตอนที่ 1)

 

ในตอนก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้ชวนให้ผู้อ่านตั้งข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 คือ         

ผู้ริเริ่มให้มีการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เพื่อใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 คือ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ข้อพึงสังเกตคือ การที่ผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ริเริ่มให้มีการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นนั้น ถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ ?

ถ้าถือว่าเป็นการแทรกแซงและเป็นสิ่งที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือพระมหากษัตริย์ไม่สมควรทำ  ทำไมนักวิชาการในปัจจุบันที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่แทรกแซงทางการเมือง ถึงไม่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของนายปรีดี พนมยงค์ ?

ถ้าไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงและเป็นสิ่งที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือพระมหากษัตริย์พึงกระทำได้  ก็แปลว่า การกระทำดังกล่าวของนายปรีดี พนมยงค์ได้สร้างบรรทัดฐาน-แบบแผนการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2488  และถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย  ซึ่งหมายความว่า พระมหากษัตริย์หลัง พ.ศ. 2488 จนถึงปัจจุบันทรงมีพระราชอำนาจที่จะริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

หากประเด็นนี้ ยังไม่สามารถตอบชัดเจนว่า การกระทำดังกล่าวของนายปรีดี พนมยงค์ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนองค์พระมหากษัตริย์ถูกหรือผิด  สมควรหรือไม่ที่จะนำประเด็นการกระทำของนายปรีดี พนมยงค์มาตั้งเป็นโจทย์ในการหารือถกเถียงว่าเป็นการกระทำที่ทำได้ สมควรทำหรือไม่ เพื่อวางบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต  หรือแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต     

-------

มาคราวนี้ ผู้เขียนอยากจะชวนให้ผู้อ่านตั้งข้อสังเกตต่อว่า หลังจากการริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนายปรีดี พนมยงค์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีได้นำแถลงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 โดยเขาได้แถลงว่า 

“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2475 นี้ พระมหากษัตริย์พระราชทานประชาชนชาวไทยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 นับจากวันที่ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้เป็นเวลาถึง 13 ปีเศษแล้ว เหตุการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมากและการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยนี้ก็ได้นำความเจริญมาสู่ประเทศนับเป็นอเนกประการ อย่างไรก็ตาม บัดนี้ รัฐบาลมีความรู้สึกว่า ประชาชนชาวไทยได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์      ในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยหลังๆนี้ ประชาชนได้มีความกระตือรือร้นขึ้นเป็นลำดับ ฉะนั้น รัฐบาลจึงเห็นสมควรที่จะได้มีการสังคายนารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับพุทธศักราช 2475 อีกสักครั้ง หนึ่ง อาทิ จะถึงเวลาสมควรพิจารณายกเลิกบทเฉพาะกาลเมื่อใด ควรมีสองสภาหรือสภาเดียว มาตราใดควรยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้โดยสมบูรณ์เยี่ยงอารยะประเทศ” [1]

นอกจากคำแถลงของนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีแล้ว  ในหนังสือเรื่อง ความเป็นมาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย เล่ม 1 โดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “วิเทศกรณีย์” ได้กล่าวว่า “ต่อมาได้มีผู้นำพลเรือนที่สำคัญชี้แจงเพิ่มเติมว่า จากประเด็นต่างๆเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องราวที่สร้างความขมขื่นหม่นหม่องอย่างยิ่งให้แก่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะนอกจากจะสร้างความขมขื่นให้กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แล้ว ยังมีบุคคลอื่นๆที่เห็นว่า คณะราษฎรผูกขาดอำนาจการเมืองการปกครองโดยไม่ยอมให้อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงแก่ประชาชน ความขมขื่นเหล่านี้ได้นำไปสู่ความเสียพระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 อันเป็นเหตุให้ทรงสละราชสมบัติในที่สุด นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การกบฏอีกหลายครั้ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องดำเนินการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2475” [2]

คำชี้แจงถึงเหตุผลที่สมควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรของทั้งสองแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด   สำหรับ นายควง เห็นว่า หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2475 มาเป็นเวลา 13 ปีเศษ สิ่งที่ได้เกิดขึ้นคือ

1. การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยนี้ก็ได้นำความเจริญมาสู่ประเทศนับเป็นอเนกประการ 

2. ประชาชนชาวไทยได้ซาบซึ้งถึงคุณประโยชน์      ในการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้    แทนราษฎรในสมัยหลังๆนี้ ประชาชนได้มีความกระตือรือร้นขึ้น

3. สมควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปได้โดยสมบูรณ์เยี่ยงอารยะประเทศ  ซึ่งหมายความได้สองอย่าง อย่างแรกคือ ที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์   อย่างที่สอง ที่ผ่านมาไม่เป็นประชาธิปไตยนัก สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 

แต่ในคำชี้แจงของ “ผู้นำพลเรือนที่สำคัญ”  เห็นว่า ที่ผ่านมา 13 ปีเศษ 

1. เป็นเรื่องราวที่สร้างความขมขื่นหม่นหม่องอย่างยิ่งให้แก่ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น

1.1 สร้างความขมขื่นให้กับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 แล้ว

1.2 นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ทรงเล็งเห็นว่า รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2475 นำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมืองโดยคณะราษฎรแล้ว ยังมีบุคคลอื่นๆเห็นเช่นนั้นด้วย รัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2475 ไม่ยอมให้อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงแก่ประชาชน ความขมขื่นเหล่านี้ได้นำไปสู่ความเสียพระทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 อันเป็นเหตุให้ทรงสละราชสมบัติในที่สุด

1.3 จากเงื่อนไขการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การกบฏอีกหลายครั้ง   การกบฏที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เข้าใจว่าน่าจะมีสาเหตุต้องการแก้ไขหรือยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ให้คณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมือง

2.  13 ปีเศษที่ผ่านมา การเมืองการปกครองไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

3. สมควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การเมืองการปกครองไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย

หากความเห็นของ “ผู้นำพลเรือนที่สำคัญ” เป็นจริงที่ว่า 13 ปีเศษภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 เอื้อให้คณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมือง  ข้อควรสังเกตคือ ผู้ริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ให้คณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมืองคือ นายปรีดี พนมยงค์ (ขณะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) และผู้ที่รับเรื่องมาดำเนินการต่อคือ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี 

บุคคลทั้งสองนี้เป็นสมาชิกคณะราษฎร มิใช่หรือ ?  ถ้าเขาทั้งสองต้องการที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้คณะราษฎรผูกขาดอำนาจการเมือง อาจตีความได้สามอย่าง คือ

1. ทั้งสองมีเจตนาดี และไม่ต้องการมีส่วนในการผูกขาดอำนาจทางการเมืองต่อไป แม้ว่าทั้งสองจะเป็นส่วนหนึ่งของคณะราษฎร และแม้ว่าทั้งสองได้ประโยชน์จากการผูกขาดอำนาจทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475  แต่ก็ยอมที่จะสละการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของตนและคณะราษฎร และแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดให้กลุ่มหรือคณะบุคคลอื่นๆได้มีโอกาสเข้าสู่อำนาจทางการเมือง           

2. การกล่าวว่า “คณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมือง”  คำว่า คณะราษฎรมิได้หมายรวมถึงนายปรีดี พนมยงค์และนายควง อภัยวงศ์  แต่หมายถึงบุคคลกลุ่มอื่นในคณะราษฎร

2.1 แต่ถ้าภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ทำให้บุคคลกลุ่มอื่นในคณะราษฎรผูกขาดอำนาจทางการเมืองได้ตลอดระยะเวลา 13 ปีเศษ  ทำไมนายควง อภัยวงศ์ถึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ?

2.2 โดยหลักการของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ย่อมจะต้องไม่มีอำนาจทางการเมือง  ดังนั้น การที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือการผลักให้นายปรีดี พนมยงค์ออกไปจากพื้นที่ของการเมือง

2.3 และด้วยเหตุนี้ 2) และ 2.2)  ใช่หรือไม่ที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ต้องใช้สถานะของการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เข้าแทรกแซงทางการเมืองโดยการริเริ่มให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475  ถ้าใช่ นายควง อภัยวงศ์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 จะได้อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ตนสามารถขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ?

(โปรดติดตามตอนต่อไป)


[1] แผนกเก็บเอกสารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, “รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งพิเศษ/2488,” 2 กรกฎาคม 2488. เรื่องการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพุทธศักราช 2475 อ้างใน ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530,  หน้า 54-55.

[2] ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530,  หน้า 55.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 10)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

“อนุทิน” เซ็นประกาศคืนชายหาดเลพัง ปิดตำนานกว่า20ปี หลังกรมที่ดินต่อสู้ยืดเยื้อกับผู้บุกรุก พร้อมคืนพื้นที่สาธารณะให้ชาวภูเก็ต

เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่บริเวณชายหาดเลพัง ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เปิดกิจกรรม “มหาดไทย มอบความสุข คืนชายหาดเลพัง ให้ชาวภูเก็ต”

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 22: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'โฆษกรัฐบาล' รับถูกทาบทามไปทำงานอื่น ย้ำนายกฯยังไม่ส่งสัญญาณเปลี่ยนตัว

นายชัย​ วัชรงค์​ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเปลี่ยนตัวโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ ว่า​ ตนไม่ขอออกความเห็น เนื่องจากยังไม่ได้มีการสื่อสารอะไรมาถึงตน

'รมต.พิชิต' มั่นใจไม่ใช่คนผิด รับชีวิตมีอุบัติเหตุกันได้ พร้อมขอโอกาสพิสูจน์ตัวเอง

นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวว่า วันนี้ตนปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นวันแรก ซึ่งจากการประชุมครม.วันนี้ ได้มีมติมอบหมายงานสำคัญให้กับตนคือ เป็นผู้ตรวจร่างมติคณะรัฐมนตรี

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 9)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490