'นพ.ธีระ' ชี้ Long COVID 'วัยรุ่น-ผู้สูงอายุ' เสี่ยงทั้งคู่

'หมอธีระ' ยกผลวิจัย 2 เรื่องทำหนาว! โอมิครอน BA.2 ไม่ใช่กระจอกอย่าลดการ์ดป้องกัน ผู้สูงอายุเสี่ยง Long COVID มากกว่าวัยรุ่น

25 พ.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 588,905 คน ตายเพิ่ม 1,406 คน รวมแล้วติดไปรวม 528,711,453 คน เสียชีวิตรวม 6,303,280 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 73.92 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 50.21 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.93 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 11.73

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 21.81% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

...Omicron B.2 อาการมากกว่า และกระทบต่อการใช้ชีวิตมากกว่า BA.1

Whitaker M และคณะจาก Imperial College London สหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

1.ไวรัสโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์จะส่งผลให้เกิดอาการป่วยที่แตกต่างกันไป
2.Omicron นั้นมีอาการรับรสและดมกลิ่นผิดปกติ น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ระบาดมาก่อนหน้า
3.แต่ Omicron นั้นทำให้คนที่ติดเชื้อป่วยโดยมีอาการคล้ายไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่มากกว่าสายพันธุ์อื่น (แต่ต้องขอเรียนเน้นย้ำตรงนี้ไว้ก่อนว่า โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัด ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ และไม่กระจอก)
4.ความเชื่องมงายว่า Omicron กระจอก หรืออ่อนกว่าสายพันธุ์อื่นๆ นั้นไม่จริง หากพิจารณาอาการป่วยที่เกิดขึ้น งานวิจัยจากสหราชอาณาจักรนี้ชี้ให้เห็นว่า Omicron ทำให้เกิดอาการป่วยในกลุ่ม 26 อาการที่ทำการศึกษา มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา
5. นอกจากนี้ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้นจะทำให้ติดเชื้อแล้วป่วยมีอาการมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่าด้วย

คณะผู้วิจัยได้เน้นย้ำว่า ยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการป้องกันลง และมีจำนวนการตรวจคัดกรองโรคที่จำกัด จำเป็นต้องกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง คอยสังเกตอาการที่ผิดปกติ และต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อแพร่เชื้อกันในสังคม

...Long COVID พบในผู้ใหญ่ที่เคยติดเชื้อ ได้มากถึง 20-25% Bull-Otterson L และคณะจาก US CDC เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดใน MMWR เมื่อวานนี้ 24 พฤษภาคม 2565 ติดตามดูผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคม 2563-พฤศจิกายน 2564 อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 350,000 คน ดูอัตราการเกิดอาการผิดปกติจำนวน 26 อาการ เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อจำนวนกว่า 1,600,000 คน

สาระสำคัญที่พบคือ
1. คนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่เคยติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 มาก่อน จะมีโอกาสเกิดภาวะ Long COVID ได้สูงถึง 1 ใน 5 (20%) ทั้งนี้หากเป็นผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โอกาสเป็น Long COVID จะสูงขึ้นอีก โดยเกิดได้ถึง 1 ใน 4 (25%)
2. โดยเฉลี่ยแล้ว คนที่เคยติดโควิด-19 มาก่อน จะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือลิ่มเลือดอุดตันในปอด เพิ่มขึ้นราว 2 เท่า

คณะผู้วิจัยชี้ให้เห็นความสำคัญของการตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการติดเชื้อโควิด-19 และเน้นย้ำให้มีการออกนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการตรวจประเมินภาวะ Long COVID อย่างเป็นประจำในระบบบริการสุขภาพด้วย

...ความรู้ที่นำมาเล่าให้ฟังทั้งสองเรื่องในวันนี้ ต้องการสะท้อนให้เราทุกคนเห็นความสำคัญของการเอาตัวรอด ด้วยตัวของเราเอง ในยามที่สังคมไทยยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ติดอันดับโลก ทั้งจำนวนติดเชื้อ และจำนวนเสียชีวิต

เศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนไปได้ มีการเปิดเสรีท่องเที่ยว ทำมาหากิน และศึกษาเล่าเรียน แต่ก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และจะปะทุรุนแรงขึ้นมาได้ หากป้องกันตัวไม่ดีพอ อย่าหลงตามคำลวง หรือกิเลส ที่จะให้ถอดหน้ากากทิ้ง ใช้ชีวิตแบบในอดีตในเร็ววัน ทั้งๆ ที่การระบาดทั่วโลกยังไม่สงบ อย่าลืมความจริงที่ว่า คนเดินทางไปมากันระหว่างพื้นที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แม้พื้นที่หนึ่งจะมีเคสน้อย ดูจะคุมได้ แต่สถานการณ์จะพลิกผันได้อย่างรวดเร็ว หากมีคนในพื้นที่ไร้เกราะป้องกันตัว เพราะสุดท้ายเวลาติดเชื้อ ป่วย ตาย หรือประสบปัญหาสุขภาพกายและใจระยะยาวอย่าง Long COVID ขึ้นมาแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือตัวท่าน ครอบครัวของท่าน และคนรักคนใกล้ชิดของท่านเอง

ส่วนกลุ่มที่ออกนโยบายหรือมาตรการรณรงค์ให้ลดการ์ดลง ย่อมไม่ได้มารับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นระดับบุคคลหรือครอบครัว ...ใช้ชีวิต ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน อย่างปลอดภัย ด้วยการมีสติ ใช้ปัญญา และหมั่นป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ...แล้วจะสามารถลดความเสี่ยง ประคับประคองกันไปได้อย่างปลอดภัยครับ ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก

อ้างอิง
1.Whitaker M et al. Variant-specific symptoms of COVID-19 among 1,542,510 people in England. medRxiv. 23 May 2022.
2.Bull-Otterson L et al. Post–COVID Conditions Among Adult COVID-19 Survivors Aged 18–64 and ≥65 Years — United States, March 2020–November 2021. MMWR. 24 May 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอยง’ ย้ำโควิดยังสายพันธุ์โอมิครอน JN.1 ไม่รุนแรง หายไข้-ไอมาก 1 วัน ใส่แมสทำงานได้

โควิด 19 ได้เปลี่ยนแปลงลดความรุนแรงลง จนปัจจุบันความรุนแรงเท่ากับโรคไข้หวัดใหญ่ RSVและเป็นการระบาดตามฤดูกาล

'เดวิด แคเมอรอน' เข้าพบ 'เศรษฐา' 20 มี.ค. กระชับความร่วมมือทุกมิติ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ ลอร์ดแคเมอรอนแห่งชิปปิงนอร์ตัน

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า