'หมอยง' แจงเมื่อ 'โควิด' เข้าสู่โรคประจำถิ่น

10 มิ.ย. 2565 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 เมื่อโรคเข้าสู่ประจำถิ่น หรือตามฤดูกาล

จำนวนผู้ป่วยขณะนี้ตามตัวเลขที่เราทราบ จะเป็นผู้ที่ได้รับการตรวจ RT PCR ที่จำนวนการตรวจน้อยลงอย่างมาก ขณะเดียวกันตัวเลขผู้ป่วยที่ไม่ได้ลงทะเบียน จะมีอีกจำนวนมาก น่าจะเป็น 10 เท่า และส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ รวมทั้งมีการติดเชื้อแบบไม่มีอาการอีกจำนวนหนึ่ง

ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน มีภูมิต้านทานจากวัคซีน และจำนวนหนึ่งมีการติดเชื้อ การติดเชื้อจะสร้างภูมิต้านทานได้ดี และผู้ที่ได้รับวัคซีน ร่วมกับการติดเชื้อ จะมีภูมิต้านทานแบบลูกผสม สามารถลดความรุนแรงได้เป็นอย่างดี

ในเด็กอายุ 5 ขวบ ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เราตรวจเลือด (ในกรุงเทพฯ) พบว่ามีการติดเชื้อไปแล้วร่วม 20% ในจำนวนนี้มีการติดเชื้อแบบมีอาการประมาณครึ่งเดียว

แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน และการติดเชื้อ ที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้เป็นอย่างมาก อัตราการป่วยตายในปัจจุบัน เราไม่มีตัวเลขที่แท้จริง แต่จากการประเมินน่าจะอยู่ที่ 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือหนึ่งในพัน และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม

ชีวิตต้องอยู่กับโควิดตลอดไป การกักตัวในผู้ป่วย ก็จะใช้เวลาสั้นลง เป็น 7 วัน และดูแลป้องกันไม่ให้ติดคนอื่นด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออีกอย่างน้อย 3 วัน อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพราะว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว มีภูมิต้านทานบางส่วน และเมื่อติดเชื้อการกำจัดเชื้อให้หายไป เร็วกว่าคนที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

เด็กนักเรียน ในสิงคโปร์ ปีที่ผ่านมา 2564 เปิดเรียนตามปกติ ใครป่วย ให้หยุดเรียน 7 วันและถ้าไม่มีอาการแล้วให้กลับมาเรียนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK ด้วย เพราะเขาให้ความสำคัญกับการเรียนมาก เมื่อเทียบกับความรุนแรงของโรคในเด็กแล้ว น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก เด็กสร้างภูมิต้านทานได้ดี และมีความรุนแรงน้อย ยกเว้นเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งขณะนี้ก็ไม่มีวัคซีน และก็ยังไม่ได้ไปโรงเรียน

ถ้าเปรียบเทียบกับไข้หวัดใหญ่ เราก็ใช้วิธีการให้หยุดเรียน จนกว่าไม่มีไข้ และอาการที่ชัดเจนอย่างน้อย 2 วัน ก็สามารถไปโรงเรียนได้ ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ว่าต้องหยุดถึง 10 วัน

แนวโน้มในอนาคต เราจะต้องให้ความสำคัญของการศึกษา การหยุดเรียนของนักเรียน หรือการปิดโรงเรียน ควรจะต้องสั้นลง ถ้าเด็กส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน หรือเคยติดเชื้อ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจอื่นๆ เด็กเล็กที่ไปโรงเรียน ติดเชื้อ RSV เราก็ไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องหยุด 10 วัน เช่นเดียวกันไข้หวัดใหญ่ก็เหมือนกัน

การติดเชื้อในเด็กนักเรียน ที่ได้รับวัคซีนมาครบแล้ว ควรจะหยุดเรียนอยู่บ้านเรียนออนไลน์ 7 วัน ก็น่าจะเพียงพอ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอาการน้อย หรืออาการหายแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

โควิดยังพุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 728 ราย ผู้สูงอายุดับ 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่