1 ส.ค.2565 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า รายงานสถานการณ์วันที่ 1 ส.ค. 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยอาการปอดอักเสบ 879 ราย ที่รักษาในโรงพยาบาล และผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 457 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจาก 2 วันที่แล้ว ส่วนผู้เสียชีวิต 19 ราย ก็ลดลงต่อเนื่อง จากที่เคยพบวันละ 30 ราย ติดต่อกัน สอดคล้องกับภาพรวมโควิด-19 ทั่วโลก ที่สัปดาห์นี้เริ่มคงที่ แต่ด้วยระบบการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ บางประเทศไม่ได้ตรวจผู้ติดเชื้อทุกคนแล้ว ดังนั้น การติดตามข้อมูลตัวเลขรายใหม่ต้องแปลผลด้วยความระวัง แต่ตัวเลขที่ติดตามสถานการณ์ได้ดี คือ ผู้เสียชีวิต ซึ่งแนวโน้มของไทยค่อนข้างคงที่และแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ยังค่อนข้างมาก สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานจากระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 201,554 ราย อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิต 19 รายใหม่ ยังเป็นกลุ่ม 608 ทั้งหมด โดยเป็นผู้ที่ไม่รับวัคซีนโควิด-19 แม้แต่เข็มแรกมีถึง 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 47 ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 32 และรับเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) แต่นานมากกว่า 3 เดือนอีก 4 ราย คิดเป็นร้อยละ 21
“ด้วยเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 และ BA.5 เป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในรอบนี้ ส่วนใหญ่ดื้อต่อวัคซีน ฉะนั้น การฉีดเข็มกระตุ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ซึ่งต่อไปนี้การฉีดเข็ม 3, 4 หรือ 5 เราจะเรียกว่า เข็มกระตุ้น หากฉีดเข็มสุดท้ายนานเกิน 3 หรือ 4 เดือน ก็สามารถติดต่อขอรับเข็มกระตุ้นได้” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวถึงฉากทัศน์การระบาดโควิด-19 ว่า ตามที่คาดการณ์ผู้ป่วยใหม่รายวัน ขณะนี้ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์เส้นสีเขียว แปลว่า ระบบสาธารณสุขรองรับได้ค่อนข้างดี หลายหน่วยงานให้ข้อมูลตรงกันว่า เตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้ เนื่องจากจำนวนไม่ได้ตามจำนวนติดเชื้อใหม่ เพราะการฉีดวัคซีนค่อนข้างมากแล้ว จึงคาดว่าสถานการณ์จะคงที่และค่อยๆ ลดลง ฉะนั้น สถานการณ์ตอนนี้เป็นตามคาดการณ์ไว้ คือ ผู้ติดเชื้อใหม่จะเพิ่มขึ้นและเริ่มคงตัว สำหรับผู้ที่อาการหนักและเสียชีวิตก็จะมีแนวโน้มคงตัวและลดลงใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
“ในช่วงวันหยุดยาวมีพี่น้องที่เดินทางไปต่างจังหวัดเยอะ จึงต้องติดตามสถานการณ์ในต่างจังหวัดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ฉะนั้น ขอให้ประชาชนดำเนินตามมาตรการ 2U คือ Universal Prevention and Vaccination คือป้องกันตัวเองสูงสุดและการฉีดวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวทางการใช้ภูมิคุ้มกันโควิด-19 สำเร็จรูป (LAAB) บางคนอยากเรียกว่า ยามากกว่าวัคซีน ข้อดีคือ ฉีดเข้าร่างกายเพื่อสร้างภูมิฯ ต่อเชื้อโรคโดยตรง อยู่ได้นานถึง 6 เดือน ฉะนั้น ประโยชน์ของ LAAB เหมาะกับผู้ที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ดี โดย 1 กล่อง จะมียา 2 ขวด ฉีดพร้อมกันทีเดียวบริเวณสะโพก ข้อบ่งใช้เพื่อป้องกันติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี และเปิดกว้างไว้สำหรับแพทย์ใช้ดุลยพินิจในการให้ยากับผู้ป่วยบางกรณี เบื้องต้น ใช้ในผู้อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป น้ำหนักมากกว่า 40 กิโลกรัมขึ้นไป โดยเป้าหมายใน 1.กลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือด 2.ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ได้รับยากดภูมิฯ อย่างไรก็ตาม การให้ยาดังกล่าวให้ขึ้นตามพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งยาจะถึงพื้นที่อย่างช้าในสัปดาห์นี้ 7,000 โดส โดยกำหนดทางผู้ผลิตจะส่งมอบยา 2.5 แสนโดส ภายใน 2 เดือน ส่วนกลางก็จะกระจายตามระยะ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สามารถติดต่อกับแพทย์ที่ดูแลการป่วยเพื่อรับยาได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' ไขข้อโต้แย้ง 'วัคซีนไข้หวัดใหญ่' กับ Hippocratic Oath
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ข้อโต้แย้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับ Hippocratic Oath
'หมอยง' แจงการระบาด 'โควิด' ช่วงเทศกาลสงกรานต์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 การระบาดในช่วงสงกรานต์
ชวน 'ตากแดด' เดินหมื่นก้าว สุขภาพดีสู้ได้สารพัดโรค
'หมอธีระวัฒน์' ชวนตากแดด เปรียบเหมือนยาอายุวัฒนะ เดินวันละหมื่นก้าว เข้าใกล้มังสวิรัติ เสริมสร้างสุขภาพดี ป้องกันสารพัดโรค
‘สมศักดิ์-สปสช.’ อัดงบ 30 บาทรักษาทุกที่ เพิ่มบริการรถรับส่งผู้ป่วยทุพพลภาพ
“จิรพงษ์” แจ้งข่าวดี “สมศักดิ์-สปสช.”เพิ่มสิทธิประโยชน์ 30 บาทรักษาทุกที่ จัดรถรับส่งผู้ป่วยทุพพลภาพถึงที่ กำหนดอัตราราย