'นพ.ธีระ' แนะจับตา 'Omicron BA.2.75' ชี้ตัวจิ๊ดอันตราย

'หมอธีระ' อัพเดตผลงานต่างประเทศเรื่องโควิด ทั้งเรื่องวัคซีน- Omicron BA.2.75- ลองโควิด เตือนสายพันธุ์ใหม่ต้องระวังหากมาแทนที่ BA.5 อาจนำป่วยและเสียชีวิตมากขึ้นได้

07 ก.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 7 กันยายน 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 414,776 คน ตายเพิ่ม 1,109 คน รวมแล้วติดไป 611,080,160 คน เสียชีวิตรวม 6,506,300 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย ไต้หวัน และฝรั่งเศส

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 18 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.69 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.17

...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

...อัพเดตสถานะของวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก
องค์การอนามัยโลกออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ล่าสุดเมื่อวานนี้ 6 กันยายน 2565
ปัจจุบันมีวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนของการวิจัยทางคลินิก (ศึกษาในคน) 171 ชนิด และวิจัยในห้องปฏิบัติการ 198 ชนิด มีวัคซีนที่ผ่านการรับรองมาใช้ในสาธารณะ และมีการติดตามผลการใช้ (phase 4) อยู่ 11 ชนิด ทั้งนี้มีอีก 45 ชนิดที่กำลังอยู่ในขั้นตอนวิจัยระยะที่ 3 ซึ่งจะพิสูจน์ประสิทธิผลของวัคซีน

จากภาพรวมจะเห็นได้ว่า วัคซีนส่วนใหญ่ที่วิจัยนั้นเป็นประเภท Protein subunit และ RNA vaccines นอกจากนี้แนวทางการให้วัคซีนที่วิจัยนั้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (intramuscular) รองลงมาที่ให้ความสนใจกันมากขึ้นคือ การให้วัคซีนทางจมูก (intranasal)

...อัพเดตเกี่ยวกับ Omicron BA.2.75
งานวิจัยล่าสุดจาก Gruell H และคณะ จากมหาวิทยาลัยโคโลญ ประเทศเยอรมนี ลงในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ The Lancet Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 6 กันยายน 2565

สาระสำคัญคือ วิจัยได้ผลสอดคล้องกับงานวิจัยที่เคยพบก่อนหน้านี้ว่า BA.2.75 นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างจาก BA.4/BA.5

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Wang Q และทีมงานจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า BA.2.75 นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.2 ซึ่งระบาดมาก่อนหน้า BA.4/BA.5 และสามารถจับกับตัวรับ ACE2 ของเซลล์ได้แน่นกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ของ Omicron ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะ ACE2 พบมากในปอด/ทางเดินหายใจส่วนล่าง

BA.2.75 จึงยังเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากระบาดมาแทนที่ BA.5 ก็อาจนำไปสู่การป่วยและเสียชีวิตมากขึ้นได้

...Long COVID ในยุค Omicron
Qasmieh S และคณะจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการสำรวจในประชากรผู้ใหญ่จำนวน 3,042 คนในช่วงมิถุนายนถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อประเมินสถานะของการติดเชื้อ และปัญหา Long COVID

สาระสำคัญคือ พบว่ามีราว 17.3% ที่ติดเชื้อในช่วงสองสัปดาห์ก่อนทำการสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยรุ่นและวัยทำงาน รวมถึงคนที่มีรายได้น้อย มีการศึกษาน้อย และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ผลการสำรวจนี้พบว่า มีราว 21.5% ที่ประสบปัญหา Long COVID

...การระบาดของไทยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับทั่วโลก โดยสะท้อนให้เห็นได้จากจำนวนการเสียชีวิตแต่ละวัน
การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็น ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อลงได้มาก

อ้างอิง
1. Gruell H et al. Neutralisation sensitivity of the SARS-CoV-2 omicron BA.2.75 sublineage. The Lancet Infectious Diseases. 6 September 2022.
2. Wang Q et al. Antigenic characterization of the SARS-CoV-2 Omicron subvariant BA.2.75. Cell Host & Microbe. 5 September 2022.
3. Qasmieh S et al. The prevalence of SARS-CoV-2 infection and long COVID in US adults during the BA.5 surge, June-July 2022. 6 September 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

'เทพมนตรี' เผยเหตุผู้บริหารจุฬาฯ ไม่กล้าถอดวิทยานิพนธ์-ป.เอก ของณัฐพล ใจจริง

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก กล่าวถึงกรณีสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" ของนายณัฐพล ใจจริง จุฬาฯ ว่า