น่าห่วง! ไวรัสโอมิครอนที่กลายพันธุ์เริ่มคล้าย 'เดลตา' มากขึ้นเรื่อยๆ

นพ.ธีระเผยข้อมูลจาก WHO โอมิครอนครองตลาดถึง 99.2% สายพันธุ์ย่อย BA.5 ระบาดมากสุด ส่วนผลวิจัยอสสเตรเลีย พวกกลายพันธุ์มีแนวโน้มคล้ายเดลตามากขึ้นเรื่อยๆ

17 พ.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 287,916 คน ตายเพิ่ม 647 คน รวมแล้วติดไป 641,288,543 คน เสียชีวิตรวม 6,618,821 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และอินโดนีเซีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 93.98 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 86.24

...อัพเดตจาก WHO
องค์การอนามัยโลกออกรายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 16 พฤศจิกายน 2565 ปัจจุบันไวรัสสายพันธุ์ Omicron ครองการระบาดทั่วโลก 99.2%

ทั้งนี้หากวิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยหลัก จะพบว่า BA.5 มีสัดส่วน 73.2%, BA.2 เหลือ 6.3%, BA.4 ลดลงเหลือ 3.5% และสายพันธุ์ย่อยอื่นที่ยังไม่ได้ระบุ 14.4%

สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่เป็นที่จับตามองเพราะเกิดจากการกลายพันธุ์ต่อยอดจากกลุ่ม BA.5 และ BA.2 นั้น พบว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ BQ.1.x เพิ่มเป็น 16.2%

BA.5 ที่กลายพันธุ์เพิ่มหลายตำแหน่ง (R346X, K444X, V445X, N450D and/or N460X) เพิ่มเป็น 23.3% โดยกว่า 80% ของกลุ่มนี้ เป็น BA.5 ที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R346X BA.2.75 เพิ่มเป็น 5.4% และ XBB เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 2%

...สายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์มีแนวโน้มใช้กลไกคล้ายเดลตามากขึ้น...
งานวิจัยของ Aggrawal A และคณะจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ในวารสารการแพทย์สากล eBioMedicine เดือนตุลาคม 2565 ชี้ให้เห็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงของไวรัส Omicron สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่กลายพันธุ์ต่อยอดจาก BA.5 ซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันว่า มีแนวโน้มย้อนกลับไปใช้กลไกการจับเซลล์ผ่านตัวรับ TMPRSS2 คล้ายกับสายพันธุ์เดลตามากขึ้น

ทั้งนี้เราทราบกันดีว่า กลไกนี้จะทำให้จับกับเซลล์ทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากขึ้น จึงอาจทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเกิดปัญหาการป่วยรุนแรงได้มากกว่า Omicron สายพันธุ์ก่อนๆ เช่น BA.1, BA.2, BA.4 และแม้แต่ BA.5 เอง ซึ่งเคยได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าใช้กลไกอื่นในการติดเชื้อเข้าสู่เซลล์คือ endocytosis

...สำหรับไทยเรา ตอนนี้การติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากชัดเจน จำเป็นต้องตระหนักถึงสถานการณ์ อัพเดตความรู้ที่ถูกต้องและทันต่อเวลา ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง แออัด ระบายอากาศไม่ดี หมั่นสังเกตอาการตนเองและคนรอบข้างที่พบปะ หากไม่สบาย ไอ เจ็บคอ ไข้ ปวดหัวปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก เสียงเปลี่ยน/เสียงแหบ ให้คิดถึงโควิด-19 ไว้ด้วยเสมอ และควรทำการตรวจรักษา ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องระหว่างตะลอนทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ติดเชื้อไม่จบแค่ชิลๆ แต่ป่วยได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID

อ้างอิง
Aggrawal A et al. SARS-CoV-2 Omicron BA.5: Evolving tropism and evasion of potent humoral responses and resistance to clinical immunotherapeutics relative to viral variants of concern. eBioMedicine. October 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)