หวั่นประกาศเขตอุทยานฯ ทับป่าจิตวิญญาณกว่า 2 หมื่นไร่ ชาวสะเมิงวอนเข้าใจวิถีดั้งเดิม

หวั่นประกาศเขตอุยานทับป่าจิตวิญญาณกว่า 2 หมื่นไร่ ชาวบ้านสะเมิงวอนเข้าใจวิถีชุมชนดั้งเดิม เผยร่วมกันดูแลปกป้องป่ามานานจนฟื้นตัว หัวหน้าอุทยานออบขานแจงยังไม่ได้ข้อสรุป เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็น 18 ต.ค.

7 ต.ค.2565 - ที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านแม่ลานคำ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ตัวแทนชาวบ้านกว่า 30 คน จาก 2 หมู่บ้าน ( 9 หย่อมบ้าน) ได้ร่วมกันหารือกันถึงกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน เนื่องจากชาวบ้านมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของทั้ง 9 ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ ดั้งเดิมที่อยู่กับป่ามานานโดยล่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ได้ส่งหนังสือเชิญเพื่อให้ชาวบ้านไปแสดงความคิดเห็นในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ตัวแทนชาวบ้าน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน ผู้อาวุโส แม่บ้าน และเยาวชน ได้หารือถึงผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นหากมีการกำหนดแนวเขตอุทยานฯ ซึ่งจะทับที่ดินทำกิน ป่าชุมชน และป่าพิธีกรรมซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันดูแลมายาวนานโดยไม่มีการกันพื้นที่ออก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เคยมีการเดินสำรวจร่วมกันไปแล้ว แต่ภายหลังที่มีการใช้ พรบ.อุทยานฯฉบับใหม่ กลับไม่ยอมใช้ข้อตกลงเดิมที่เคยเดินสำรวจร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านเป็นกังวลว่าแนวเขตใหม่จะทับที่ดินและป่าชุมชนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตโดยเฉพาะป่าไม้และที่ดินในบริเวณลุ่มแม่น้ำขานซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของชุมชน

ชาวบ้านยังหารือกันและแสดงความกังวลว่า การประกาศแนวเขตอุทยานฯจะส่งผลกระทบกับไร่หมุนเวียนดั้งเดิมของพวกเขา รวมทั้งส่งผลต่อวิถีชีวิตด้านอื่นๆ เช่น การเลี้ยงวัวควายที่มีอยู่กว่า 1,000 ตัว การหาของป่าซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาลของชุมชน และกลายเป็นข้อจำกัดการพัฒนาเนื่องจากการขอสาธารณูปโภคที่ผ่านมาแม้เป็นเขตป่าสงวนก็ยากเย็นและหากเปลี่ยนเป็นอุทยานฯจะมีกฏหมายที่เข้มข้นกว่า ที่สำคัญคือพื้นที่พิธีกรรมต่าง เช่น ป่าช้า โป่ง กิ่ว วัดร้าง หนองกระจก เดะหมื่อเบอ หากกลายเป็นพื้นที่อุทยานฯ และเมื่อชาวบ้านต้องเข้าไปใช้สอยก็ต้องขออนุญาต

“ทราบว่าตอนนี้เขากันออกเฉพาะที่ทำกิน ส่วนพื้นที่พิธีกรรมต่างๆ เขาเอาไปไว้ในอุทยานฯ ที่ทำกินพอเราเดินเข้าไปก็ผิดกฎหมายอยู่ดีเพราะเส้นทางถูกประกาศทับไปแล้ว” ชาวบ้านกล่าว

นายพฤ โอ่โดเชา ชาวบ้านป่าคา กล่าวว่า “เขาพยายามเดินสำรวจตามเขตที่เขาต้องการ แต่เราอยากให้สำรวจตามที่ชาวบ้านต้องการให้สำรวจ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกัน เราต้องการให้เขากันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณ 2.45 หมื่นไร่ไว้ แต่เขาเอาข้อโต้แย้งไปที่อำเภอ และบอกว่าชาวบ้านจะเอาป่าอะไรกันนักหนา และส่งเรื่องไปที่กรม เราตามไปกับพีมูฟ เพื่อให้ร่วมสำรวจเขตกันใหม่ เราอยากให้สำรวจหมด ทั้งที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ สุดท้ายเขาบอกว่าไม่สามารถระบุเขตที่เราพาไปสำรวจได้ จึงเกิดการโต้แย้งกัน”

นายพฤ กล่าวว่า ชาวบ้านช่วยกันดูแลฟื้นฟูป่า จากป่าที่เคยถูกสัมปทานไม้ จนสามารถฟื้นตัวกลายเป็นป่าสมบูรณ์ดังที่เห็นในปัจจุบันและชุมชนต่างก็มีกฎระเบียบเข้มงวด แต่บางฝ่ายไม่พอใจ อย่างไรก็ตามหากมีการประกาศเป็นป่าชุมชนและป่าจิตวิญญาณของชาวบ้าน เราจะได้ทั้งคนและป่า ชุมชนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ ถ้าส่งเสริมให้ชาวบ้านอยู่ป่าชุมชนก็จะช่วยเรื่องการดับไฟป่า เช่น เรื่องการการเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ทำให้พื้นที่ไม่ถูกไฟป่าเผาหรือไหม้น้อยเนื่องจากทางเดินของวัวควายกลายเป็นแนวกันไฟ และช่วยกินใบใม้ไม่ให้เป็นเชื้อเพลิงในฤดูแล้ง

พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำทางจิตวิญญาณปกาเกอะญอบ้านสบลาน กล่าวว่าเรายืนยันตามแนวเขตที่เคยเดินสำรวจกับอุทยานฯเมื่อตอนปี 2561 เพราะครั้งนั้นได้กันพื้นที่ไว้หมดแล้ว นอกจากนี้เรื่องเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ เราต้องการให้อยู่วิถีปกติ ไม่อยากให้อุทยานทับเพราะต้องขออนุญาตทุกครั้งก็ลำบากเนื่องจากมีเส้นทางธรรมชาติระหว่างชุมชน

ขณะที่กลุ่มแม่บ้านชาวปกาเกอะญอ กล่าวว่า ปกติพวกตนเป็นผู้หญิงคนเดียวก็เดินเข้าป่าได้ แต่ถ้าป่าจิตวิญญาณของเราถูกประกาศเป็นพื้นที่อุทยานฯ เรากลัว เดินไปอาจเจอคนแต่งชุดลายพราง เราไม่รู้ว่าจะถูกจับเมื่อไร เพราะบางครั้งเรา เราหได้นกได้หนูมาบ้าง เราก็กลัวถูกจับ การไปหาหน่อไม้ก็ไม่ได้ เลี้ยงวัวควายก็ถูกห้าม ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

“จริงๆ แล้วเขตป่าบ้านเราทอดยาวไปไกล แต่เราหวงป่าแค่เล็กน้อย พอเกิดไฟไหม้เราก็ช่วยกันดับไฟ แต่อุทยานฯหวงเยอะมาก แต่พอเกิดไฟป่าก็ไม่มาดับ เราดูแลป่ามายาวนาน แต่ของเขาไม่เห็นดูแลอะไร แม้บอกว่ากันเขตให้เราแล้ว แต่ไม่ได้ยืนยันว่าเรามีสิทธิในไร่ซากไร่หมุนเวียน ถ้าป่าฟื้นตัว พอเรากลับไปทำไร่ก็จะถูกจับ เมื่อก่อนเป็นแค่ป่าสงวนเรายังลำบาก แต่นี่จะเป็นอุทยานฯ คงเข้มกว่าอีก” ผู้หญิงชาวปกาเกอะญอ กล่าว

ด้าน น.ส.นิภาพร ไพศาล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติออบขาน ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 อุทยานฯ จะประชุมรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยอุทยานฯ จะนำแผนที่ไปให้ดูเพื่อถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไร แต่ยืนยันว่าจะยังไม่ได้ประกาศอุทยานฯ โดยขณะนี้มี 2 หมู่บ้านเท่านั้นที่ยังมีประเด็นที่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งนี้การประกาศอุทยานฯเป็นไปตามพระราชบัญญัติปี 2562 ที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป และเสนอไปกรมอุทยานฯ และคณะกรรมการอุทยานที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน

“จริงๆ หากการประกาศเขตอุทยาน มี 14 ขั้นตอน เราเคยเดินมาถึงขั้นที่ 12 แล้ว แต่เมื่อประกาศใช้ พรบ.ปี 2562ทำให้ต้องกลับมาที่ขั้นตอน 10 ใหม่” น.ส.นิภาพร กล่าว และว่าแผนที่ที่เดินสำรวจกับชาวบ้านเป็นแผนที่เดียวกัน แต่ตอนนั้นยังสำรวจไม่จบ อย่างไรก็ตามขณะนี้ชาวบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคาได้เรียกร้องขอให้กันป่าจิตวิญญาณ 2.4 หมื่นไร่ แต่เรื่องนี้ยังอยู่ในการพิจารณาและยังไม่ได้ตัดออก

หัวหน้าอุทยานฯกล่าวว่า แผนที่ที่จะนำไปสอบถามความเห็นในวันที่ 18 ตุลาคมมีอยู่แล้ว แต่แผนที่ที่ 2 หมู่บ้านยังไม่ยอมรับเพราะต้องการให้กันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณ 2.4 หมื่นไร่ออก และชาวบ้านบอกว่าอย่าทับที่ทำกินของชาวบ้าน เราก็พยายามตรวจสอบเพื่อไม่ให้ทับป่าสะดือ แม้แต่ไร่หมุนเวียนเรากันออกหมดแล้ว

“เราไม่ได้เปิดรับฟังแค่ชาวบ้านป่าคาหรือแม่ลานคำ แต่ฟังทั้งหมดที่อยู่ในรัศมี 1 กิโลเมตร เชื่อว่าแผนที่ที่เราเอาไป กับแผนที่ที่เขาต้องการจะเห็นภาพชัดเจนของการเตรียมประกาศว่าเป็นแบบไหน มันอาจตรงกันแต่อาจไม่ตรงใจ บางทีก็ต้องถอยกันคนละก้าว” หัวหน้าอุทยานฯกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ชาวบ้านกังวลว่าจะไม่สามารถเลี้ยงวัวควายในป่าได้เหมือนเดิทหากมีการประกาศเขตอุยานฯทับป่าที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงสัตว์ น.ส.นิภาพรกล่าวตาม พระราชบัญญัติอุทยานมีมาตรา 65 ที่อนุญาติให้ประชาชนดำเนินการได้อยู่แล้ว ถ้ากลัวว่าการเลี้ยงสัตว์ในอุยานฯแล้วเป็นปัญหา อยากให้ไปดูที่อุทยานฯอื่นๆซึ่งมีการเลี้ยงสัตว์เต็มไปหมด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผวาฮีตสโตรก! 'สาธารณสุขเชียงใหม่' เตือน ปชช. 25 อำเภอ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า อากาศในช่วงนี้อุณหภูมิสูงร้อนอบอ้าวจากอิทธิพลความกดอากาศต่อเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน

พายุฤดูร้อนถล่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มเพียบ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจาก สอต.พะเยา สอต.เชียงใหม่ สอต.แพร่ และ สอต.เชียงราย เกี่ยวกับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน วาตภัย เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ในพื้นที่ ดังนี้

วธ.เปิดงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ชวนสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาฉลองมรดกโลก

15 เม.ย.2567 - สงกรานต์เชียงใหม่คึกคัก กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่

'ทักษิณ' เล่นน้ำสงกรานต์หน้าห้างเมญ่า ลั่นจะให้ 'อิ๊งค์' ทำเชียงใหม่บูมอีกครั้ง

'ทักษิณ' ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์กับ ปชช. หน้าห้างเมญ่า บ่นเสียดายเศรษฐกิจแย่ลงเยอะ ต้องเร่งฟื้นฟู-อัดนโยบาย ลั่นจะให้ 'อิ๊งค์' ทำ 'เชียงใหม่' กลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้งให้ได้

'แอนโทเนีย' นางมโหธรเทวี กับชุดลายสร้อยบุษบาบรรณ ที่ทำนานกว่า 6 เดือน

สวยสมกับการเป็นนางงามจริงๆ สำหรับ “แอนโทเนีย โพซิ้ว” ที่ล่าสุดมาในชุดไทยนางสงกรานต์ ในการแสดงตำนานนางสงกรานต์ (Maha Songkran World Water Festival) ณ วัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่