
ปัญหารอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ ระหว่างพรรค ภูมิใจไทย VS ประชาธิปัตย์ จากกรณีการขวางลำชิงเหลี่ยมการเมืองกลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชงฯ ที่ตามคิวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ สภาผู้แทนราษฎร ในวาระสองและวาระสาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทันจะได้พิจารณาสักมาตรา ก็สะดุดเสียก่อน เพราะเสียงข้างมากในที่ประชุมสภาเห็นควรให้กรรมาธิการนำร่างกลับไปทบทวนใหม่ จนสุดท้ายเลยไม่ได้มีการพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุม
ดังนั้น หลังจากนี้ต้องดูกันว่า ปมปัญหารอบนี้จะบานปลายจนทำให้สถานการณ์ระหว่างสองพรรคร่วมรัฐบาล จากที่ปริร้าวในเวลานี้ จะบานปลายจนส่งผลต่อสั่นคลอนต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่
เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น เห็นชัด แกนนำและ ส.ส.ภูมิใจไทย ไม่พอใจอย่างแรง ที่ถูก ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่นำโดยสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง จับมือกับ ส.ส.ในพรรคร่วม 30 เสียง เคลื่อนการเมืองในสภา จนทำให้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ถูกถอนออกจากระเบียบวาระการประชุมสภา เมื่อ 14 กันยายนที่ผ่านมา ชนิดภูมิใจไทยตั้งหลักพลิกแก้เกมไม่ทัน
หลังฝ่าย ส.ส.ประชาธิปัตย์หักดิบกลางสภา ด้วยการยกเหตุผลในการขวางลำว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีกรรมาธิการซึ่งเป็นคนจากปีกภูมิใจไทยเป็นตัวหลักในการคุมการยกร่าง พ.ร.บ.ทั้งฉบับ ฝ่ายประชาธิปัตย์ ชี้ว่า หลายมาตราในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีปัญหา โดยเฉพาะที่เขียนเพิ่มเติมขึ้นมาหลายมาตราจากตอนที่รับหลักการในวาระแรกเขียนออกมาไม่รัดกุมเพียงพอต่อการควบคุมการใช้กัญชา จึงอาจเกรงเกิดผลกระทบต่อสังคม หากรีบตรากฎหมายโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
เรียกได้ว่า ยกเหตุผลหล่อๆ มาโชว์ต่อสังคม เตะตัดขา ดิสเครดิตภูมิใจไทยกลางที่ประชุมสภาไปแบบเต็มๆ
เลยไม่แปลกที่ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ควันออกหู เลยทิ้งบอมบ์ส่งไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 16 กันยายนที่ผ่านมา
“ดีเสียอีกที่เป็นแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลไม่สนับสนุนกันเอง ใกล้เลือกตั้ง ไอ้ที่จะต้องเกรงใจอะไรกัน ก็ไม่ต้องเกรงใจ”
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้ง รอยร้าว ของภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ครั้งนี้ มีผลต่อเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาลระดับหนึ่งแน่นอน แต่วงการเมืองยังประเมินว่า ไม่น่าจะบานปลายถึงขั้นมีพรรคหนึ่งพรรคใดถอนสมอ-ถอนตัว จากการร่วมรัฐบาล เพราะในทางการเมืองทุกพรรคการเมืองล้วนต้องการเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น
เว้นเสียแต่สถานการณ์นี้ร้าวลึก และแกนนำทั้งสองพรรคต่างไม่อยากเสียหน้า เสียฟอร์มการเมือง จนเป็นรอยร้าวเกินกว่าที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รักษาการนายกฯ และผู้จัดการรัฐบาล จะแก้ไขได้
ส่วนที่คนการเมืองเชื่อว่า แม้ต่อให้ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยออกหมัดการเมืองทิ่มใส่กันแบบไม่ยั้งตอนนี้ แต่สุดท้าย ก็ยังจะกอดคอทำงานกันต่อไปในพรรคร่วมรัฐบาล ก็เพราะมองกันว่า ยังไงเสียแกนนำภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ต่างรู้สภาพการเมืองดี ไม่มีพรรคการเมืองใดอยากออกจากการเป็นพรรครัฐบาล ยิ่งหลังจากนี้อีกประมาณ 7 เดือน สภาก็ครบวาระ ต้องมีการเลือกตั้งหลังมีนาคมปีหน้า
การเป็นพรรครัฐบาล มีรัฐมนตรีของพรรคคุมอำนาจรัฐ มีกลไกรัฐอยู่ในมือในช่วงเลือกตั้ง มันคือความได้เปรียบ ที่ถือไพ่เหนือกว่าพรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ แวดวงการเมืองต่างมองตรงกัน ดูมุมไหน มันก็ยากที่แกนนำภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์จะทิ้งหม้อข้าวตัวเองออกจากการเป็นรัฐบาล กลายเป็นพรรคการเมืองขาลอย
ดูง่ายๆ มีตัวอย่างให้เห็นกันเวลานี้ ที่ ธรรมนัส พรหมเผ่า จากที่เคยมีอำนาจมากสมัยเป็นรัฐมนตรีช่วยเกษตรและเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แต่พอไม่ได้เป็นรัฐมนตรี และออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย กลายเป็นพรรคขาลอย ทำให้เศรษฐกิจไทยสถานการณ์ยามนี้ร่อแร่เต็มที จนมีข่าวธรรมนัสถอดใจ ไม่อยากเข็นพรรคเศรษฐกิจไทย เพราะรู้ดีว่าเข็นไปลำบาก ลงเลือกตั้งไปสุดท้ายก็กลายเป็นพรรคเล็ก เลยมีข่าวกระเส็นกระสายเตรียมระเห็จขอย้ายกลับพลังประชารัฐ หากสุดท้ายพลเอกประยุทธ์ต้องหลุดจากวงโคจรการเมืองจากผลคดี 8 ปีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีธรรมนัสกับพรรคเศรษฐกิจไทยคือความจริงทางการเมืองที่เห็นกันชัดๆ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า การเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลย่อมดีกว่า โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง หลายคน จึงเชื่อว่าที่เห็นขบเหลี่ยม แลกหมัดกันไปมา ระหว่างภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ แต่สุดท้ายก็ยังน่าจะกอดคอกันไปให้นานที่สุด แกนนำทั้งสองพรรคคงไม่อยากมีใครทุบหม้อข้าวตัวเองจากการเป็นพรรครัฐบาล
ทางออกเรื่องนี้ ระยะยาววิธีที่ดีที่สุด คงไม่พ้นการใช้กลไกในสภา แก้ปัญหาด้วยการที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่มีศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อและแกนนำภูมิใจไทยเป็นประธานกรรมาธิการฯ อาจต้องยอมปรับแก้ไขเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ให้ออกมาเป็นที่ยอมรับของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะประชาธิปัตย์ที่คัดค้านร่างดังกล่าวให้มากที่สุด เพื่อให้มีโอกาสผ่านสภาวาระสองและสาม หลังสภาเปิดรอบหน้า ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน โดยการถอยบางก้าว แก้บางมาตรา ที่มีแรงต้านสูง
โดยล่าสุดผลการประชุมด่วนของกรรมาธิการเมื่อวันศุกร์ที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา กรรมาธิการมีมติให้ส่งหนังสือถึงพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่เห็นควรให้กรรมาธิการทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เพื่อต้องการทราบความเห็นของแต่ละพรรคว่า ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ในส่วนใด และต้องการให้แก้ไขทบทวนเนื้อหาออกมาอย่างไร
รอดูกันว่าเรื่องนี้จะเคลียร์กันในชั้นกรรมาธิการได้หรือไม่ได้ โดยหากทางฝ่ายภูมิใจไทยยืนกรานไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขทบทวนเนื้อหาหลักๆ ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ หากออกมาแบบนี้ มองไปข้างหน้า ดูแล้วมีความเป็นไปได้สูง ที่ถึงตอนสภาเปิดแล้วมีการนำร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เข้าสภา กลับมาพิจารณาใหม่อีกรอบ
เรื่องนี้จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาล และในสภา ที่อาจถึงขั้น วงแตก จนเสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอนหนัก
เว้นเสียแต่อาจจะไปไม่ถึงจุดนั้น ถ้าผลคำตัดสิน ของศาลรัฐธรรมนูญในคดีพลเอกประยุทธ์ 30 กันยายน ผลออกมาไม่เป็นคุณกับบิ๊กตู่ การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคร่วมรัฐบาลอาจเกิดขึ้นก่อน 1 พฤศจิกายน ก็เป็นได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘อิ๊งค์’สะกดอารมณ์ฝ่าซักฟอก2วัน รอลุ้นคะแนนโหวต-งูเห่าสมทบ!
ผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ใช้เวลา 2 วัน 24-25 มีนาคม ก่อนลงมติวันนี้ 26 มีนาคม 2568 ซึ่งลีลาของ “นายกฯ อิ๊งค์” ในการแจงข้อซักฟอกถือว่าสามารถสะกดอารมณ์ได้ดี ไม่ปล่อยหมัดเด็ดตรงๆ ใส่ฝ่ายค้าน แต่ใช้ความนิ่งตอบเจ็บๆ ในบางช่วงเช่นกัน
‘ฝ่ายค้าน’ซักฟอก‘นายกฯอิ๊งค์’ ขยายแผล ปูทาง ยื่น 'ป.ป.ช.'
เปิดฉากกันไปแล้ว ศึกซักฟอก อุ๊งอิ๊ง-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ภายใต้คอนเซปต์ ‘ดีลแลกประเทศ’ วันแรก ไฮไลต์สำคัญ ช่วงเช้าหนีไม่พ้นการเปิดหัวของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และการลุกขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
'เสี่ยหนู' ยก 'ลุงป้อม' ดาวสภา ทุกคนอยากฟังอภิปราย แม้พูดไม่เก่ง แต่พูดครบทั้งติ-ชม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันแรกว่า ทุกคนก็ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ซึ่งการอภิปรายก็เป็นการตอบข้อสงสัยไม่ใช่เป็นการอภิปรายเพื่อเค้นหาความผิด
'อนุทิน' ลุกแจง ปมที่ดินเขากระโดง-สนามกอล์ฟอัลไพน์ ยันไม่มีแลกเปลี่ยนผลประโยชน์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ชี้แจงกรณีที่ดินเขากระโดง และที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ว่า รัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่กิจการของคนใดคนหนึ่งหรือครอบครัวของใคร ดังนั้น จะมาแบ่งผลประโยชน์ไม่ได้ทั้งสิ้น
ระเบิดศึกซักฟอก ดีลแลกประเทศ ขยี้"นายกฯอิ๊งค์"ขย้ำ"ทักษิณ"
หลังการเมืองไทยว่างเว้นจากการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจมาร่วม 2 ปีเศษ เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ค.2565 ตอนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาวันนี้สิ้นสุดการรอคอยกับศึกซักฟอก-เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ซักฟอก ‘ดีลแลกประเทศ’ ฟ้องสังคม ‘ชินวัตร’ ได้อะไร
จับตาอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม ตั้งแต่เช้าจนถึงตี 5 และลงมติในวันที่ 26 หรือ 27 มีนาคมนี้ ภายใต้ธีม