พปชร.-ป้อม-สกลธี ปาดเหงื่อ กทม.โคม่า เสี่ยงสูญพันธุ์!

สนามเลือกตั้งพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ที่จะมีขึ้น ซึ่งมี ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นมา 3 คน เป็น 33 คน จากเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562 มี 30 คน ถูกจับตามองมากว่าจะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด-เข้มข้น ในการช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.เขต รวมถึงคะแนนในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ เพราะแค่เดิมคู่แข่งขันที่มีอยู่ตอนปี 2562 แต่ละพรรค ก็มีฐานเสียง-เรตติ้ง-คะแนนนิยม-คะแนนจัดตั้ง กันแบบไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าจะเป็น พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ

แต่การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะมีพรรคการเมืองที่มาร่วมแชร์เก้าอี้-แบ่งคะแนนอีกหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็น ภูมิใจไทย ที่เลือกตั้งรอบนี้คาดหวังกับการต้องปักธงมี ส.ส.กทม.หลังเลือกตั้งให้ได้ หลังทุ่มสรรพกำลังไปเยอะ ผนวกกับ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มั่นใจว่า การได้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ มาเป็นหัวหน้าทีม กทม.ให้ภูมิใจไทย และได้อดีต ส.ส.เขต กทม.จากทั้งพลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ก้าวไกล เข้ามาที่พรรค ก็น่าจะทำให้ภูมิใจไทยพอมีลุ้นปักธง กทม.ได้

 นอกจากนี้ก็ยังมี รวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นตัวหลักในการเรียกคะแนนสร้างกระแสใน กทม. รวมถึงได้อดีต ส.ส.บางส่วน และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พลังประชารัฐ ที่แม้จะสอบตกตอนเลือกตั้งรอบที่แล้ว แต่ก็ได้คะแนนมาอันดับ 2 แพ้ไม่ห่าง เช่น อ้น ทิพานัน ศิริชนะ, เนวิน ช่อชัยพันธุ์ จากพลังประชารัฐ มาอยู่ที่รวมไทยสร้างชาติ ที่ก็น่าจะทำให้รวมไทยสร้างชาติขึ้นมาเป็นพรรคที่มีโอกาสลุ้นปักธงใน กทม.ได้อีกพรรคหนึ่ง

อีกทั้งยังมีพรรคอื่นๆ เช่น ไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์-สร้างอนาคตไทย ของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่หาก 2 พรรคนี้รวมพรรคกันได้ ก็อาจทำให้มีลุ้นขึ้นมาเบียดแย่งคะแนนใน กทม.ได้เช่นกัน รวมถึงอาจจะยังมีพรรคเล็กๆ พรรคอื่นมาคอยตัดคะแนนในบัตรปาร์ตี้ลิสต์อีก เช่น ชาติพัฒนากล้า ของกรณ์ จาติกวณิช-ไทยภักดี ของหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นต้น

ทั้งหมดทำให้สนามเลือกตั้ง กทม.สุดเข้มข้นเร้าใจ

แต่ก็พบว่า เลือกตั้งรอบนี้หลายคนเชื่อและเห็นตรงกันว่า พรรคที่น่าจะเหนื่อยหนักในการลงทำศึก กทม.ก็คือ พลังประชารัฐ เพราะจากที่เคยเป็นแชมป์ ส.ส.เขต กทม. 12 เก้าอี้ ตอนเลือกตั้งปี 2562 แต่เลือกตั้งรอบนี้ ไม่แน่เผลอๆ พลังประชารัฐอาจเข้าขั้นโคม่า เสี่ยงสูงที่จะถึงขั้น สูญพันธุ์ ซ้ำรอยประชาธิปัตย์ตอนเลือกตั้งปี 2562 ก็ได้

จากเหตุที่เลือกตั้งรอบนี้ พลังประชารัฐที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล กระแสใน กทม.ตกลงอย่างมาก ยิ่งการไม่มีพลเอกประยุทธ์มาเป็นตัวชูโรงในการหาเสียงให้กับพรรคในสนาม กทม.ก็ยิ่งทำให้พรรคไม่มีจุดขาย เพราะครั้นจะขาย บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร ใน กทม.เข็นยังไงก็คงเข็นได้ยาก

 ขณะเดียวกัน บรรดา ส.ส.กทม.พลังประชารัฐเดิมก็แยกย้ายออกจากพรรคกันไปเกือบหมดแล้ว เหลือแค่ ศิริพงษ์ รัศมี ส.ส.กทม.เขตหนองจอก คนเดียว นอกนั้นย้ายออกเกือบหมด

 ส่วนคนที่ตอนนี้ยังไม่ย้ายออก แต่ก็ไม่ได้ไปปรากฏตัวหรือมีชื่อตอนพลังประชารัฐแถลงข่าวเปิดชื่อ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ที่พรรคจะส่งลงเลือกตั้ง ที่ก็คือจะย้ายออกจากพลังประชารัฐในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นคือ ประสิทธิ์ มะหะมัด, ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ที่มีข่าวว่า 2 คนนี้จะย้ายไปรวมไทยสร้างชาติ ส่วน ชาญวิทย์ วิภูศิริ ข่าวว่าอาจวางมือการเมือง หรือไม่ก็ย้ายไปประชาธิปัตย์ หรือไม่แน่ไปรวมไทยสร้างชาติ  

ทำให้สถานการณ์โดยรวม ในพื้นที่ กทม.ถือว่าพลังประชารัฐทรงไม่ค่อยดีในการลงทำศึก โดยเรื่องว่าจะ รักษาแชมป์ กทม. ให้ได้เป็นสมัยที่ 2 เรื่องนี้จบไปแล้ว ลำพังแค่จะะได้สัก 1 เก้าอี้ หากกระแสพรรคในช่วงใกล้เลือกตั้งไม่กระเตื้อง พรรคไม่มีหมัดเด็ดอะไรมาหาเสียง ก็หนักเอาการในการสู้กับพรรคอื่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อการศึกยังไม่เริ่ม และยังมีเวลาและโอกาสให้สู้อยู่ พลังประชารัฐก็ยังไม่ยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ออกรบ เลยทำให้เห็นการขยับของพลเอกประวิตร และพรรคพลังประชารัฐ ในการลงทำศึกเลือกตั้ง กทม.

โดยเมื่อวันอังคารที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรและแกนนำพรรค เช่น นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ร่วมกันเปิดตัว สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ที่จะรับผิดชอบเป็นหัวหน้าทีมดูแลการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. พร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ล็อตแรก จำนวน 28 คน

อาทิ ธิชดล สกุลำ ผู้สมัคร ส.ส.เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ และดุสิต-ภูมิพิชัย ธารดํารงค์ เขตปทุมวัน สาทร บางรัก-น.ส.ชญาภา ปรีดาพากย์ เขตบางคอแหลม ยานนาวา-ร.อ.รชฎ พิสิษฐบรรณกร เขตดินแดง พญาไท-พณิชย์ วิทยาภัทร์ เขตราชเทวี-สฤษดิ์ ไพรทอง เขตดุสิต-ภักดีหาญส์ หิมะทองคํา เขตลาดพร้าว  

ปราโมทย์ เพ็ชรฤทธิ์ เขตจตุจักร-ศิววงศ์ วงศ์พิชญา เขตดอนเมือง-น.ส.นํ้าฝน ไพรทอง เขตสายไหม-ภญ.นพวรรณ หัวใจมั่น เขตบางเขน-นฤมล รัตนาภิบาล เขตบางกะปิ-รังสรรค์ กียปัจจ์ เขตหลักสี่ ดอนเมือง-กานต์ กิตติอําพน เขตวังทองหลาง ห้วยขวาง-น.ส.ณิรินทร์ เงินยวง เขตบึงกุ่ม คันนายาว-สุวัฒน์ ม่วงศิริ เขตจอมทอง ธนบุรี เฉพาะแขวงดาวคะนอง-นิธิ บุญยรัตกลิน เขตทวีวัฒนา หนองแขม เฉพาะแขวงหนองค้างพลู ที่เป็นบุตรชาย บิ๊กบัง-พลเอกสนธิ อดีตหัวหน้า คมช.-พ.ต.ท.วันชัย ฟักเอี้ยง เขตตลิ่งชัน บางกอกน้อย เฉพาะแขวงบางขุนศรี-น.ส.บุณณดา สุปิยพันธุ์ เขตบางกอกน้อย-ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อํานรรฆสรเดช เขตบางซื่อ เป็นต้น

โดยในจำนวนนี้ก็มีบางคนเคยเป็นอดีต ส.ส.กทม.มาก่อน ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย เช่น สุวัฒน์ ม่วงศิริ ที่เดิมทีก่อนหน้านี้ไปเปิดตัวเข้าพรรคสร้างอนาคตไทย-ร.อ.รชฎ พิสิษฐบรรณกร อดีต ส.ส.กทม.กลุ่มสมศักดิ์ เทพสุทิน และบางคนรอบที่แล้วเคยลงสมัคร ส.ส.เขต กทม.เพื่อไทย แต่สอบตก แต่มารอบนี้เปลี่ยนพรรคมาอยู่กับพลังประชารัฐแทน เช่น พ.ต.ท.วันชัย ฟักเอี้ยง-ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อํานรรฆสรเดช เป็นต้น

เบื้องต้นข่าวว่า พลังประชารัฐวางให้ พล.อ.ประวิตรและแกนนำพรรคที่รับผิดชอบพื้นที่ กทม.มีการเปิดเวทีปราศรัยในพื้นที่เลือกตั้ง เขต ป้อมปราบศัตรูพ่าย

 เรียกได้ว่าเป็นการเอาเคล็ด เอาฤกษ์เอาชัยทางการเมือง ที่ใช้จุดคิกออฟ กทม.คือ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ที่คล้องไปกับชื่อเล่นของพลเอกประวิตร คือ ป้อม 

งานนี้ทีมงานพลังประชารัฐไม่ธรรมดาจริงๆ สร้างสีสันได้ตลอด หลังก่อนหน้านี้ประกาศจะใช้แคมเปญหาเสียง ป้อม 700 หรือนโยบายบัตรสวัสดิการประชารัฐ หรือบัตรคนจน เดือนละ 700 บาท ที่พลังประชารัฐเปิดไปเมื่อเร็วๆ นี้ มาเป็นหนึ่งในสโลแกนที่พรรคจะสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจได้ง่ายๆ

การลงทำศึกเลือกตั้งในสนาม กทม.ของบิ๊กป้อม-พลังประชารัฐ สุดท้ายแล้วจะพลิกเกม จนทำให้พรรคมี ส.ส.เขต กทม. หลังถูกวิจารณ์ว่าเสี่ยงสูญพันธุ์ได้หรือไม่ งานนี้ ทั้งพลเอกประวิตร-สกลธี และผู้สมัคร ส.ส.เขต กทม.ของพลังประชารัฐต้องสู้ยิบตา. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท