เปิดโรดแมปเลือกตั้ง 2566 ‘กฎเหล็ก’ กกต.คุมหาเสียง

การยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ถือได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้อยู่จนครบวาระ ปลายปากกากลับมาสู่มือประชาชนอีกครั้ง โดยไม่กี่วันที่ผ่านมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดโรดแมปการเลือกตั้งไว้เป็นที่เรียบร้อยดังนี้

วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งวันที่ 3-7 เม.ย.2566 วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองแจ้งบัญชีรายชื่อบุคคลที่แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 4-7 เม.ย.2566 วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ ถอนชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 3 พ.ค.2566 และวันแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 7-13 และ 15-21 พ.ค.2566 วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตและนอกเขตเลือกตั้ง วันที่ 7 พ.ค.2566 โดยคนไทยจะได้กาบัตรเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566

หลังจากนั้น กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน อย่างไม่เป็นทางการ ในช่วงต้นเดือน ก.ค.2566 จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสภาผู้แทนราษฎร ตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรกลางเดือน ก.ค.2566 การเลือกนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีปลายเดือน ก.ค.2566 และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณตนต้นเดือน ส.ค.2566

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงต้องรักษาการต่อไปประมาณ 4 เดือนครึ่งหลังจากยุบสภาหรือครบวาระ ไปจนถึงต้นเดือน ส.ค.2566

สำหรับการปฏิบัติตัวของคณะรัฐมนตรีรักษาการ แม้จะยุบสภาไปแล้ว แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องรักษาการต่อจนกว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน หมายความว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีก็ยังประชุมได้ และตามระเบียบนายกรัฐมนตรีสามารถปรับคณะรัฐมนตรีได้ถ้าจำเป็น

แต่การทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีรักษาการจะอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ไม่อนุมัติงานโครงการที่สร้างความผูกพันถึงคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปี

ไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงาน หรือให้ใครพ้นจากตำแหน่ง ยกเว้น กกต.เห็นชอบ รวมถึงไม่อนุมัติการใช้งบกลาง ไม่ใช้ทรัพยากร หรือบุคลากรของรัฐดำเนินการที่ส่งผลกับการเลือกตั้ง และจะต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ทั้งนี้ แม้จะเป็น ครม.รักษาการ ก็จะไปหาเสียงได้ เฉพาะหลังเวลางานหรือวันหยุดเท่านั้น เว้นแต่ลาออกจากตำแหน่ง

ในส่วนของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยิ่งการเลือกตั้ง 2566 ครั้งนี้คาบเกี่ยวประเพณีทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดของชาวมุสลิม และเทศกาลประเพณีวันสงกรานต์ ฉะนั้น เพื่อป้องกันการถูกร้องเรียนว่ากระทำผิดกฎหมาย ผู้สมัคร ส.ส.จึงจำเป็นต้องหาเสียงให้อยู่ในกรอบกติกาและระเบียบของกฎหมายที่กำหนดไว้

โดยแนวทางปฏิบัติที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถกระทำได้ แต่ต้องพึงระมัดระวังคือ การไปร่วมงานประเพณี เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ สามารถไปและมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สิน ยกเว้นเจ้าภาพเตรียมไว้ แต่จะไม่สามารถประกาศชื่อ หมายเลขของผู้สมัครและหรือพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้ หากมีความจำเป็นต้องจัดพิธีงานต่างๆ ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็ต้องจัดได้เท่าที่จำเป็น เช่น งานศพ งานบวช งานแต่งงาน หลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปหาเสียงเลือกตั้งในโรงเรียน สถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่เสียก่อน และสิ่งที่สำคัญที่ห้ามลืมเด็ดขาดคือ ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนจากเหตุอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และโรคระบาดได้

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73 ยังได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ด้วยวิธีการ 1.จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด 2.ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด 3.โฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ 4.เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด และ 5.หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

อย่างไรก็ตาม ทาง กกต.ได้วางกฎเหล็กคุมเข้มการหาเสียงเพื่อตีกรอบไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ซึ่งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 กำหนดไว้ ดังนี้ 1.สามารถแจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงในเขตชุมชน สถานที่ต่างๆ หรืองานพิธีการต่างๆ โดยสามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ประวัติส่วนตัว ชื่อและสัญลักษณ์ รวมถึงนโยบายของพรรค 2.ใช้พาหนะต่างๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้

3.ใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อช่วยในการหาเสียงเลือกตั้ง 4.ปิดประกาศโฆษณาหรือติดแผ่นป้ายโฆษณาที่ยานพาหนะในการหาเสียงเลือกตั้ง 5.หาเสียงเลือกตั้งผ่านจดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ ถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 6.หาเสียงเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อโซเชียล อาทิ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ และ 7.สามารถมีผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้

นอกจากนี้ยังระบุว่า ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งห้ามนักแสดง นักร้อง นักดนตรี สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง ห้ามแจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่อง“โมเดล”ดับไฟเมียนมา “ทักษิณ”พลิกธุรกิจสีเทาเข้าระบบ

ระดับแกนนำ“พรรคเพื่อไทย”ออกอาการอ้ำอึ้ง ไม่รู้ไม่เห็นกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ไปคุยกับชนกลุ่มน้อยเมียนมา ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เป็นต้นมา แต่สื่อตะวันตกต่างนำเสนอข่าวอย่างครึกโครม

กินข้าวค้างสต๊อกกลบจำนำข้าว แผนปูทาง"ยิ่งลักษณ์"กลับไทย?

หลัง ทักษิณ ชินวัตร-หัวหน้ารัฐบาลเพื่อไทยตัวจริง ได้ออกมาระบุเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระหว่างการกลับไปเล่นน้ำสงกรานต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดของตระกูล “ชินวัตร” ว่า สงกรานต์ปีหน้า ยิ่งลักษณ์คงได้มีโอกาสกลับมาทำบุญและเล่นสงกรานต์ที่เชียงใหม่ และไม่แน่ อาจกลับภายในปีนี้

เคาต์ดาวน์สว.5ปีอำลาเก้าอี้ จับตาเลือกตะลุมบอนรอบใหม่

เคาต์ดาวน์สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดปัจจุบัน ที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 11 พ.ค.นี้ บางคนบอกลากันทีชุดลากตั้ง ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ให้กำเนิด และมาพร้อมกับอำนาจพิเศษที่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

“อุ๊งอิ๊ง”เล่นใหญ่เกินเบอร์ ไล่ทุบ"แบงก์ชาติ"กระแสตีกลับ สงครามเย็น พท.-ธปท.จบยาก

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ แกนนำรัฐบาลเพื่อไทย ออกมาดาหน้าปกป้อง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร-หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นการใหญ่ หลังโดนวิจารณ์-ถล่มเละ กรณี อุ๊งอิ๊ง เล่นใหญ่เกินเบอร์ ใช้เวทีอีเวนต์การเมืองของพรรคเมื่อ 3 พ.ค. อ่านโพยตามสคริปต์ที่คนเขียนมาให้ ด้วยการ อัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า

ส่อเลื่อนประชามติ รอแก้กฎหมาย ร่างรธน.ฉบับใหม่ ต้องไม่จุดไฟความขัดแย้ง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา รับทราบ รายงานผลการดำเนินงานของ”คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ